บิดแต่ไม่เบี้ยว (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 1 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
ในแต่ละปี มีรายงานผู้ติดเชื้อ Shigella จำนวน 120-165 ล้านรายทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิต 1 ล้านราย และมากกว่าร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา
อาการโดยทั่วไปที่พบได้ใน 1-3 วันหลังการติดเชื้อ ได้แก่
- ถ่ายปนเลือด
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- เป็นไข้
โรคบิดสามารถแพร่กระจายได้ง่ายโดยผ่านอุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ทำงานพยาบาล ผู้ทำอาหาร และเด็กเล็ก
การวินิจฉัยโรคทำได้ด้วยการตรวจอุจจาระและตรวจเลือดว่ามีเชื้อหรือไม่
โรคบิดมักจะหายได้เองใน 3-7 วัน อย่างไรก็ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ควรดื่มน้ำให้มากและใช้ผงละลายเกลือแร่ (Oral rehydration solutions = ORS) ด้วย
กรณีที่ปวดและเป็นไข้สามารถใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตตามอล แต่ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ท้องเสีย เช่น ยา Loperamide ยา Atropine-diphenoxylate เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง และควรพักอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 48 ชั่วโมง เพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น และหากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์
กรณีที่รุนแรงอาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อและการให้สารน้ำทางหลอดเลือดเพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำ
โรคบิดสามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ดังต่อไปนี้
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- โรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ (Postinfectious arthritis)
- การติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งมักเกิดกับคนที่มีระบบภูมิต้านทานอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเฮชไอวี ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง
- ชัก (Seizures)
- กลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีมิก (Hemolytic uremic syndrome = HUS) หรือบางทีเรียกว่า กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกยูรีเมีย ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้มีการแตกของเม็ดเลือดแดง ไตวายเฉียบพลัน (ทำให้มีของเสียคั่งในเลือด หรือ ยูรีเมีย) และเกล็ดเลือดต่ำ
- โรคฝีในตับตับ (Liver abscess) ซึ่งเกิดจากตับติดเชื้อและเกิดมีฝี/หนองขึ้นในตับ
แหล่งข้อมูล:
- Everything you should know about dysentery. https://www.medicalnewstoday.com/articles/171193.php [2018, October 31].
- Dysentery. https://www.nhs.uk/conditions/dysentery/ [2018, October 31].
- What Is Dysentery and How Is It Treated? https://www.healthline.com/health/digestive-health/dysentery [2018, October 31].