บิดแต่ไม่เบี้ยว (ตอนที่ 1)

บิดแต่ไม่เบี้ยว-1

      

      นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคบิด เป็นอาการติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินอาหารของลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือโปรโตซัวที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ร่วมกับการ มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ มีอาการเหมือนถ่ายไม่สุด ในเด็กอาจพบอาการชักร่วมด้วย โดยผู้ป่วยที่อาการชัดเจนจะถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากการแตกของฝีขนาดเล็กๆ ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย

      นายแพทย์สมศักดิ์ อธิบายว่า โดยทั่วไปโรคบิดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ โรคบิดชนิดไม่มีตัว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มซิเกลลา (Shigella) สามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี และโรคบิดชนิดมีตัว เกิดจากสัตว์เซลล์เดียว (โปรโตซัว) ที่ชื่อว่า อะมีบา (Ameba) มักพบการติดเชื้อได้ในพื้นที่ร้อนชื้น

      ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคบิดในหลายพื้นที่เนื่องจากการสุขาภิบาลด้านอาหารและน้ำดื่มที่ไม่ดีพอ ทั้งนี้โรคบิดเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ หากรักษาได้อย่างทันท่วงทีและได้รับการชดเชยภาวะขาดน้ำควบคู่กับการให้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม

      ด้านนายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคบิดสามารถติดต่อกันได้ผ่านเชื้อโรคที่อยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย โดยเมื่อเชื้อปนเปื้อนไปสู่แหล่งน้ำ ลงไปในอาหาร หรือตกค้างอยู่ที่มือของผู้ป่วย อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ ไม่เพียงเท่านั้นแมลงวันยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายได้อีกด้วย

      ขณะที่ผู้ป่วยที่มีเชื้อของโรคบิดสามารถเป็นพาหะและแพร่เชื้อได้ตลอดเวลาที่มีอาการ เพราะจะมีเชื้อออกมากับอุจจาระทุกครั้งที่ถ่าย และเชื้อจะค่อยๆ หมดไปหลังจาก 2-3 สัปดาห์

      โรคบิด (Dysentery) เป็นการอักเสบของลำไส้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นลำไส้ใหญ่ ทำให้มีอาการปวดท้องและท้องเสีย โรคบิดแพร่กระจายได้เพราะการไม่มีสุขอนามัยที่ดีอย่าง

  • กินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน
  • ดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน
  • ไม่ล้างมือให้สะอาด
  • ว่ายน้ำในน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เช่น สระว่ายน้ำ ทะเลสาบ
  • สัมผัสทางร่างกาย

      โรคบิดแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • โรคบิดชนิดไม่มีตัว หรือ โรคบิดแบซิลารีย์ (Bacillary dysentery) หรือ โรคบิดชิเกลลา (Shigellosis) – ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียชิเกลลา (Shigella) ซึ่งในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยชนิดนี้ประมาณ 500,000 รายต่อปี
  • โรคบิดชนิดมีตัว (Amoebic dysentery / Amoebiasis) – ที่มีสาเหตุมาจากเชื้ออะมีบา (Amoeba) ซึ่งเป็นโปรโตซัวเซลล์เดียว ที่ชื่อว่า Entamoeba histolytica ที่ส่วนใหญ่พบในเขตร้อน

      

แหล่งข้อมูล:

  1. แพทย์แนะวิธีดูแลตนเองป้องกันโรคบิด. http://www.thaihealth.or.th/Content/44760-แพทย์แนะวิธีดูแลตนเองป้องกันโรคบิด.html [2018, October 30].
  2. Everything you should know about dysentery. https://www.medicalnewstoday.com/articles/171193.php [2018, October 30].
  3. Dysentery. https://www.nhs.uk/conditions/dysentery/ [2018, October 30].
  4. What Is Dysentery and How Is It Treated? https://www.healthline.com/health/digestive-health/dysentery [2018, October 30].