บาโคลเฟน (Baclofen)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบาโคลเฟน (Baclofen) เป็นสารอนุพันธ์ของ Gamma-aminobutyric acid (GABA, สารสื่อประสาทในสมองชนิดหนึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตื่นตัวของระบบประสาท) มีการสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) และนำไปเป็นยารักษาโรคลมชัก แต่ผลการรักษาไม่ค่อยเป็นที่พอ ใจ ต่อมาพบว่ายานี้ส่งผลดีต่อผู้ป่วยที่มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ปัจจุบันยังนำยานี้ไปวิจัยและใช้กับ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ในบางกรณีเราอาจจะพบเห็นการใช้บาโคลเฟนรักษาอาการสะอึกได้อีกด้วย บาโคล เฟนจะบรรเทาอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อที่มีสาเหตุจากการบาดเจ็บของไขสันหลัง แต่ไม่แนะนำการ ใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคพาร์กินสัน

ตัวยาบาโคลเฟนถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อผ่านเข้ากระแสเลือดจะจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 30% แต่สามารถซึมผ่านหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงบริเวณสมอง (Blood brain barrier) ได้อีกด้วย ทั้งนี้ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1.5 - 4 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะเป็นส่วนมาก

อนึ่ง การเลือกใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยซื้อหายามารับประทานเอง

บาโคลเฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

บาโคลเฟน

ยาบาโคลเฟนมีสรรพคุณใช้รักษาและบรรเทาอาการเกร็งกล้ามเนื้ออันมีสาเหตุจากพยาธิสภาพของไขสันหลังและสมองเช่น ในโรคดิสโทเนีย (Dystonia) และในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

บาโคลเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาบาโคลเฟนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการตอบสนองในการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทของสมองและ/หรือของไขสันหลังที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ จึงส่งผลให้อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อทุเลาลง

บาโคลเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบาโคลเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด

บาโคลเฟนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาบาโคลเฟนขึ้นกับอายุและอาการของแต่ละโรค ดังนั้นจึงแตกต่างกันในแต่ละโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้สั่งขนาดยา โดยในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาเฉพาะสำหรับบรรเทาอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรื้อรังและอยู่ในระยะรุนแรง ซึ่งขนาดยาที่ใช้คือ

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 5 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นเพิ่มการรับประทานเป็น 10 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง การรับประทานให้ปรับขนาดยาดังกล่าวข้างต้นจนกระทั่งขนาดยาที่รับประทานเป็น 20 มิลลิกรัม โดยการปรับขนาดยาให้กระทำทุกๆ 3 วัน ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ: ควรรับประทานในขนาดยาที่ต่ำๆก่อนโดยปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: รับประทาน 0.75 - 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรืออาจเริ่มที่ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง และปรับขนาดยาเพิ่มทุกๆ 3 วัน ซึ่งขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาของเด็กในเกณฑ์อายุต่างๆเป็นดังนี้
  • เด็กอายุ 6 - 10 ปี: รับประทาน 30 - 60 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 2 - 6 ปี: รับประทาน 20 - 30 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 12 เดือน - 2 ปี: รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือน: การใช้ยานี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เพราะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงขนาดของยา

*****หมายเหตุ: ควรรับประทานยาบาโคลเฟนพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาบาโคลเฟน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาบาโคลเฟนอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาบาโคลเฟนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

บาโคลเฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบาโคลเฟนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีฤทธิ์สงบประสาท/ยาคลายเครียด และทำให้ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน ประสาทหลอน ผื่นคันตามผิวหนัง รู้สึกไม่สบายในช่องทางเดินอาหาร และมีปัสสาวะบ่อย

มีข้อควรระวังการใช้บาโคลเฟนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้บาโคลเฟนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาบาโคลเฟน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารขั้นอาการรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ที่มีอาการทางจิตประ สาทระยะรุนแรง ผู้ที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยที่มีภาวการณ์หายใจผิดปกติ (เช่น โรคถุงลมโป่งพอง) ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร (ถึงแม้ยาจะออกมากับน้ำนมได้น้อยก็ตาม การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ในคำแนะนำของแพทย์) ผู้สูงอายุ และเด็ก
  • หลีกเลี่ยงการหยุดใช้ยานี้โดยทันทีเพราะอาจเกิดอาการของการถอนยาได้ การหยุดยานี้จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบาโคลเฟนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บาโคลเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบาโคลเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาบาโคลเฟนร่วมกับยาลดความดันโลหิตอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นบุคคลไป
  • การใช้ยาบาโคลเฟนร่วมกับยา Levodopa ที่ใช้รักษาผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน อาจทำให้เกิดอาการสับสนประสาทหลอน จึงไม่สมควรใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน

ควรเก็บรักษาบาโคลเฟนอย่างไร?

ควรเก็บยาบาโคลเฟนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความชื้น ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

บาโคลเฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบาโคลเฟนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Baclofen Pharmadica (บาโคลเฟน ฟาร์มาดิกา)Pharmadica
Baclosal (บาโคลซอล)M & H Manufacturing
Fenisal (ฟีนิซอล)MacroPhar
Liobac (ลีโอแบ็ค)Sriprasit Pharma
Lioresal (ลีโอรีซอล)Novartis

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Baclofen [2014,Dec6]
2 http://www.mims.com/USA/drug/info/baclofen/?type=full&mtype=generic#Dosage [2014,Dec6]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=baclofen [2014,Dec6]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Lioresal/?type=brief [2014,Dec6]