บาแคมพิซิลลิน (Bacampicillin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบาแคมพิซิลลิน(Bacampicillin หรือ Bacampicillin hydrochloride หรือ Bacampicillin HCl) เป็นโปรดรัก(Prodrug)ของยาแอมพิซิลลิน(Ampicillin) อีกทีหนึ่งและมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ขณะดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่บริเวณผนังลำไส้เล็กโดยเอนไซม์ชื่อ เอสเทอเรส (Esterases) ไปเป็นตัวยาแอมพิซิลลินซึ่งจะออกฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียได้

ทางคลินิกได้ใช้ยาบาแคมพิซิลลินในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง(โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง) อย่างเช่น ทอนซิลอักเสบ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หรือการติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อของผิวหนัง การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)รวมถึงการติดเชื้อหนองในชนิดที่ไม่รุนแรงมากนัก

เชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยาบาแคมพิซิลลิน มีทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบ เช่น Staphylococcus faecalis, Streptococcus pneumoniae, Haemophilus influenzae, Neisseria gonorrhoeae, E.coli, Proteus mirabilis, Salmonellae และ Shigellae

มีข้อควรระวังที่ผู้ป่วยพึงทราบเมื่อได้รับการสั่งจ่ายยาบาแคมพิซิลลิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ หรือแพ้ยา Ampicillin
  • ยาบาแคมพิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะ ใช้ต่อต้านแบคทีเรีย ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อที่เกิดจาก เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือโปรโทซัว
  • การรับประทานยานี้ใน 2–3 วันแรกแล้วรู้สึกอาการดีขึ้น ผู้ป่วยยังคงต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องจนครบเทอมการรักษาตามคำสั่งแพทย์ เพื่อป้องกันการดื้อยาของแบคทีเรีย
  • การใช้ยาชนิดนี้/ยานี้ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดจะทำให้ประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดด้อยลงไปและเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์/มีครรภ์ตามมา เมื่อใช้ยานี้จึงควรป้องกันโดยใช้ถุงยาอนามัยชาย หรือใส่ห่วงอนามัย เมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
  • การใช้ยาบาแคมพิซิลลินในผู้ป่วยโรคเบาหวานจะทำให้การตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดได้ผลผิดไปจากปกติ ผู้ป่วยจึงต้องแจ้งให้แพทย์ที่ตรวจรักษาเบาหวานทราบด้วยว่า ขณะนี้ตนเองได้รับประทานยาชนิดนี้อยู่
  • หากรับประทานยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นหนักกว่าเดิม ให้รีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารมากยิ่งขึ้น
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น อึดอัด/แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันตามร่างกาย ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่ค่อนข้างรุนแรงประการหนึ่งของยานี้ คือ ทำให้ท้องเสียรุนแรง เกิดตะคริวในช่องท้อง กรณีนี้ ต้องรีบนำส่งผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นทดแทน ทั้งนี้ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
  • หลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดบาดแผล เพราะอาจทำให้เลือดหยุดไหลได้ช้ากว่าปกติ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาบาแคมพิซิลลินโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)

ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้ระบุให้ยาบาแคมพิซิลลินเป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้ภายใต้คำสั่งแพทย์ ซึ่งสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถาน พยาบาลและมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป

บาแคมพิซิลลินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

บาแคมพิซิลลิน

ยาบาแคมพิซิลลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินหายใจ(โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ)
  • รักษาโรคปอดบวม ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก
  • รักษาการติดเชื้อหนองในที่อาการไม่รุนแรงมากนัก (Gonococcal infection)
  • ใช้รักษาหูชั้นกลางอักเสบ
  • รักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • รักษาการติดเชื้อบริเวณผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย

บาแคมพิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาบาแคมพิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์ คือ ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์ผนังเซลล์ในแบคทีเรียชนิดที่ตอบสนองต่อยานี้ ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต หมดความสามารถกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด

บาแคมพิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบาแคมพิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Bacampicillin 400 และ 800 มิลลิกรัม/เม็ด

บาแคมพิซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาบาแคมพิซิลลินมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 400–800 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 7–10 วัน โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
  • เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับการติดเชื้อหนองใน(Gonococcal infection):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1.6 กรัม โดยใช้ร่วมกับ ยาProbenecid ขนาด 1 กรัม ครั้งเดียว
  • เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

ค. สำหรับรักษาหูชั้นกลางอักเสบ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 400–800 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 10–14 วัน โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
  • เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

ง. สำหรับกระเพาะปัสสาวะอักเสบ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 400 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 3–7 วัน
  • เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

จ. สำหรับรักษาโรคปอดบวม:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 800 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 7–21 วัน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเชื้อและความรุนแรงของโรค
  • เด็กน้ำหนักตัวมากกว่า 25 กิโลกรัม: รับประทานยา 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่า 25 กิโลกรัม: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

ฉ. สำหรับการติดเชื้อที่ผิวหนัง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 400–800 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 7–10 วัน โดยทั่วไปอาการจะเริ่มดีขึ้น เมื่อรับประทานยา 3 วันขึ้นไป แต่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องจนครบกำหนดตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 25 กิโลกรัม: รับประทานยา 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กที่นำหนักตัวน้อยกว่า 25กิโลกรัม: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบาแคมพิซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบาแคมพิซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาบาแคมพิซิลลิน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

บาแคมพิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบาแคมพิซิลลินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ คลื่นไส้อาเจียน มีภาวะ Pseudomembranous colitis
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ เกิดอาการชัก
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล(Neutrophil)ต่ำ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีอาการผื่นคัน ลมพิษ บวมตามผิวหนัง
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ
  • ผลต่อไต: เช่น ไตอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้บาแคมพิซิลลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบาแคมพิซิลลิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน(Penicillin)
  • ห้ามใช้ยานี้รักษาโรคเอดส์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาบาแคมพิซิลลินโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องจนครบตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาบาแคมพิซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

บาแคมพิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบาแคมพิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาบาแคมพิซิลลินร่วมกับวัคซีนอหิวาตกโรคชนิดมีชีวิต ด้วยจะทำให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนนี้ล้มเหลวและไม่เป็นผลสำเร็จ ควรหยุดการใช้ยาบาแคมพิซิลลิน 14 วันเป็นอย่างต่ำจึงเข้ารับการฉีดวัคซีนนี้ได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบาแคมพิซิลลินร่วมกับ ยาMethotrexate เพราะจะทำให้ระดับยา Methotrexate ในกระแสเลือดสูงขึ้นจนส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงมากยิ่งขึ้นจากยา Methotrexate เช่น คลื่นไส้อาเจียน ช่องปากเป็นแผล เม็ดเลือดต่ำ เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยาบาแคมพิซิลลินร่วมกับยา Quinapril , Famotidine ด้วยจะทำให้การ ดูดซึมของยาบาแคมพิซิลลินในระบบทางเดินอาหารลดลง
  • ห้ามใช้ยาบาแคมพิซิลลินร่วมกับ ยาDoxycycline เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของยาบาแคมพิซิลลินด้อยลง

ควรเก็บรักษาบาแคมพิซิลลินอย่างไร?

ควรเก็บยาบาแคมพิซิลลินภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยา ในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

บาแคมพิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบาแคมพิซิลลิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Penglobe (เพนโกลบ)AstraZeneca
Spectrobid (สเป็กโทรบิด)Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Bacampicillin [2018,March31]
  2. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01602 [2018,March31]
  3. https://www.drugs.com/mtm/bacampicillin.html [2018,March31]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/bacampicillin/ [2018,March31]
  5. https://www.drugs.com/sfx/bacampicillin-side-effects.html [2018,March31]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/bacampicillin.html [2018,March31]