บาบีสิโอสิส (Babesiosis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 สิงหาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- บาบีสิโอสิสมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคบาบีสิโอสิส?
- บาบีสิโอสิสมีอาการอย่างไร? ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคบาบีสิโอสิสได้อย่างไร?
- รักษาบาบีสิโอสิสอย่างไร?
- บาบีสิโอสิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากบาบีสิโอสิสอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันบาบีสิโอสิส อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- โรคติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคติดเชื้อปรสิต (Parasitic infection)
- กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน: เออาร์ดีเอส (ARDS: Acute respiratory distress syndrome)
- ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
บาบีสิโอสิส(Babesiosis) คือ โรคจากเม็ดเลือดแดงในคนติดเชื้อปรสิตชนิด ’บาบีเซีย(Babesia)’ โดยคนถูกเห็บที่ติดเชื้อบาบีเซียกัด ซึ่งอาการสำคัญของโรคจะคล้ายโรคไข้จับสั่น คือ ไข้สูง ปวดหัวมาก ปวดกล้ามเนื้อมาก หนาวสั่น เหงื่อออกท่วมตัว
เชื้อปรสิตที่ก่อโรคบาบีสิโอสิส/บาบีซิโอซิส เป็นสัตว์เซลล์เดียว(โปรโทซัว/Protozoa)ชนิด/สายพันธ์’บาบีเซีย(Babesia)ที่มี’เห็บสกุล Ixodes’เป็นโฮสต์ เห็บชนิดนี้อาศัยในสัตว์มีกระดูกสันหลัง(สัตว์มีกระดูกสันหลัง_สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง)ทั้งสัตว์ป่า สัตว์บ้าน และสัตว์เลี้ยง เช่น หนู กวาง วัว ควาย แพะ แกะ สุนัข แมว
เชื้อบาบีเซีย มีสัตว์มีกระดูกสันหลังเป็นรังโรค(Reservoir) จัดเป็นโรคติดต่อจากเห็บสู่คน(Tick borne infectious disease) และเนื่องจากเป็นการติดเชื้อในเม็ดเลือดแดง โรคนี้จึงมีอาการคล้ายโรคมาลาเรีย(ไข้จับสั่น) จึงมีอีกชื่อว่า “Malaria like illness”
บาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส เป็นโรคพบน้อยแต่พบทั่วโลก และพบบ่อยในสหรัฐอเมริกา ส่วนในทวีปอื่นที่รวมถึงเอเชียมีรายงานพบได้ประปราย แต่ยังไม่มีรายงานพบในประเทศไทย
บาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส พบทุกอายุ แต่พบบ่อยในวัยผู้ใหญ่ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้ใกล้เคียงกัน
บาบีสิโอสิสมีสาเหตุจากอะไร? ติดต่อสู่คนได้อย่างไร?
โรคบาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส มีสาเหตุจากเชื้อปรสิต/โปรโทซัวบาบีเชียในเห็บสกุล Ixodes ที่อาศัยกินเลือดสัตว์มีกระดูกสันหลัง เชื้อบาบีเชียจะอยู่ในน้ำลายของเห็บตัวอ่อนฯ เมื่อเห็บตัวอ่อนฯกัดคน เชื้อบาบีเชียจะเข้าสู่กระแสเลือดคนและก่อการติดเชื้อ/การเจริญแบ่งตัวที่เม็ดเลือดแดง จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติซึ่งคือ’โรคบาบีสิโอสิส/บาบีซิโอซิส’
ทั้งนี้ เห็บตัวอ่อนฯนี้ จะอาศัยอยู่กับสัตว์มีกระดูกสันหลัง แต่ส่วนใหญ่จะหลุดมาอยู่ที่ พงหญ้า ใบหญ้า ใบไม้ พุ่มไม้ กองฝาง กองหญ้า ที่อยู่ใกล้เคียงกับแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งสัตว์ป่า สัตว์บ้าน และสัตว์เลี้ยง เมื่อคนสัมผัสกับสัตว์รังโรค และ/หรือกับ ใบไม้ ใบหญ้าที่เห็บฯอยู่ ก็จะถูกเห็บตัวอ่อนฯเหล่านี้กัด ซึ่งถ้าเห็บตัวอ่อนฯมีเชื้อบาบีเชียอยู่ในตัว เชื้อฯก็จะเข้าสู่กระแสเลือดคน และเข้าสู่เม็ดเลือดแดงจนเจริญเติบโตขยายพันธ์ต่อไป
โรคบาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส มีรายงานติดต่อจากคนสู่คนได้บ้างแต่พบน้อยมาก เป็นเพียงรายงานผู้ป่วยประปรายเป็นครั้งคราวเท่านั้น โดยจากการได้รับเลือดกรณีได้รับเลือดจากผู้ติดเชื้อนี้, หรือจากแม่สู่ลูกในขณะคลอดลูกกรณีแม่ติดเชื้อบาบีเชีย
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคบาบีสิโอสิส?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคบาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส คือ
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น
- ผู้ที่ เดินทาง ท่องเที่ยว ไปทำงาน ในถิ่นที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ/ต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวาน
- ผู้ที่เกี่ยวข้อง สัมผัสสัตว์ที่เป็นรังโรคของเชื้อโปรโทซัวบาบีเซีย
บาบีสิโอสิสมีอาการอย่างไร? ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?
อาการของโรคบาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส จะเกิดหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อโปรโทซัวบาบีเซียนานประมาณ 1-6 สัปดาห์(ระยะฟักตัว)แต่อาจนานกว่านี้ได้เป็นเดือน โดยอาการจะคล้ายอาการของโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่น เช่น
- มีไข้สูง ที่ไข้ขึ้นๆลงๆ(Intermittent fever), หนาวสั่น, เหงื่อออกมาก/เหงื่อออกท่วมตัว, รวมถึงมีเหงื่อออกกลางคืน
- ปวดหัวมาก
- ปวดกล้ามเนื้อ และ ปวดข้อ ทั้งตัว
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลด
- ตาพร่า
- ตาแดง
- เจ็บคอ
- ไอแห้งๆ
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องเสีย
- ตับโต
- ม้ามโต
- ตัวเหลือง-ตาเหลือง
- ซีด จากภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกจากโปรโทซัวฯนี้ทำลาย
- ความดันโลหิตต่ำ
- ผิวหนังอาจมีผื่นแดงขึ้นทั้งตัว
- ปัสสาวะเป็นสีน้ำปลา จากมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก สารสีในเม็ดเลือดแดงที่แตกจึงปนออกมากับปัสสาวะ
- อารมณ์แปรปรวน
- ภาวะช็อกจากภาวะ Disseminated intravascular coagulation (ดีไอซี/DIC) ที่ส่งผลให้อวัยวะต่างๆขาดเลือด และเกิดการล้มเหลวในการทำงานของอวัยวะเหล่านั้น เช่น หัวใจ สมอง ไต ปอด
- โคม่า
ความรุนแรงของโรค:
ความรุนแรงของอาการโรคบาบิซิโอซิส แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
ก. กลุ่มไม่มีอาการ: มักพบในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายปกติ โดยมีรายงาน พบผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณ 1/3ของผู้ป่วยโรคนี้ทั้งหมด ซึ่งแพทย์วินิจฉัยโรคในคนกลุ่มนี้ได้โดยบังเอิญ เช่น จากตรวจเลือด ซีบีซีในการตรวจสุขภาพประจำปีแล้วพบโปรโทซัวนี้ในเม็ดเลือดแดง ซึ่งโปรโทซัวบาบีเซียสามารถอยู่ในเม็ดเลือดแดงผู้ป่วยได้นานเป็นเดือน อาจถึงเป็นปี ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอาจถ่ายทอดเชื้อให้ผู้อื่นได้จากการได้รับเลือดของผู้ป่วย หรือติดต่อสู่ทารกจากการคลอดบุตรของมารดาที่ติดเชื้อนี้
ข. กลุ่มผู้ป่วยทีมีอาการเล็กน้อยถึงรุนแรงปานกลาง: ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของโรคบาบีซิโอซิสจะอยู่ในกลุ่มนี้ โดยจะมีอาการดังจะกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” แต่ อาการ/ธรรมชาติของโรคจะไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และส่วนใหญ่รักษาได้หาย
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักมีอาการนานเป็นหลายสัปดาห์ถึงเป็นเดือน และร่างกายอาจใช้เวลาค่อยๆฟื้นตัวเป็นปกตินานเป็นหลายเดือนถึงเป็นปี ผู้ป่วยกลุ่มนี้หลังอาการดีขึ้น ยังอาจตรวจพบโปรโทซัวฯนี้ในเม็ดเลือดแดงได้นานเป็นหลายเดือน แต่มักไม่เกิน 2 ปี
ทั้งนี้โรคในกลุ่มนี้ มีรายงานอัตราตายประมาณ 0-5%
ค. กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง: เป็นผู้ป่วยกลุ่มน้อยของโรคนี้ โดยจะมีอาการดังจะกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ”แต่ความรุนแรงของอาการจะสูงมาก มักเกิดผลข้างเคียงจากโรคสูง เช่น ระบบหายใจล้มเหลว ตับวาย ไตวาย ภาวะหัวใจล้มเหลว
นอกจากนั้นยังสามารถเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนจากเชื้อโรคอื่นได้ โดยเฉพาะ “โรคไลม์”(Lyme disease) โดยมีรายงานผู้ป่วยกลุ่ม ค.นี้ ตายจากโรคนี้สูงมากกว่า 50%
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง:
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยกลุ่มมี’ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ’ เช่น
- ผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ป่วยที่ไม่มีม้ามตั้งแต่กำเนิด หรือถูกตัดม้ามด้วยสาเหตุใดๆก็ตาม
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
คนที่พักอาศัยในถิ่นของโรคบาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส หรือ ผู้เดินทางท่องเที่ยว หรือไปทำงานในถิ่นของโรคนี้ หากมีอาการดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล พร้อมแจ้ง แพทย์ พยาบาล และบุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของ ถิ่นพักอาศัย หรือการได้ท่องเที่ยวในถิ่นใดมาบ้าง ที่รวมถึงการสัมผัส/ใกล้ชิดสัตว์ประเภทสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาจเป็นแหล่งรังโรคของโรคนี้
แพทย์วินิจฉัยโรคบาบีสิโอสิสได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคบาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิสได้จาก
- การซักถามประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติถิ่นพักอาศัย การเดินทาง การทำงาน อาชีพ การใกล้ชิด/สัมผัสสัตว์มีกระดูกสันหลัง โรคประจำตัวต่างๆ
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือดหาตัวเชื้อโปรโทซัวนี้ด้วยการตรวจ ซีบีซี (CBC)
- แต่ที่ได้ผลตรวจแม่นยำกว่า คือการตรวจหาเชื้อโปรโทซัวนี้ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่า PCR(Polymerase chain reaction) ซึ่งมีให้บริการได้เฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ๆเท่านั้น เช่น โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ รวมถึงการตรวจเลือดเพื่อดูสารภูมิต้านทานโรคนี้
- นอกจากนั้น อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ โดยแพทย์จะประเมินจากอาการของผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป เช่น เอกซเรย์ปอด กรณีผู้ป่วยมีอาการไอมาก เป็นต้น
รักษาบาบีสิโอสิสอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคบาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส ได้แก่ การให้ยาฆ่าเชื้อ ร่วมกับการรักษาตามอาการ (การรักษาประคับประคองตามอาการ) และการรักษาภาวะต่างๆที่เป็นผลข้างเคียงของโรคนี้
ก. ยาฆ่าเชื้อ: ยาที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคนี้ เช่น
- Atoquinolone โดยให้ร่วมกับยา Azithromycin
- หรือ ยาQuinine โดยให้ร่วมกับยา Clindamycin และ
- ยาอื่นๆที่ยังให้ผลในการรักษาไม่ชัดเจนที่กำลังอยู่ในการศึกษา เช่นยา Tetracycline, Primaquine, Sulfadiazine, Pyrimethamine, Pentamidine
อนึ่ง การจะเลือกใช้ ยากลุ่มใด/ตัวไหน, ขนาดยา, รวมถึงระยะเวลาของการให้ยานั้นๆ, จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยแพทย์จะประเมินจากความรุนแรงของอาการเป็นหลัก
ข. การรักษาตามอาการ: ได้แก่ การให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆของผู้ป่วย เช่น ยาลดไข้, ยาแก้ปวด, การให้ออกซิเจนกรณีมีปัญหาทางการหายใจ, การให้เลือดกรณีเกิดภาวะซีด, การให้สารน้ำ/หรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำกรณีร่างกายมีภาวะขาดน้ำ หรือรับประทานอาหารได้น้อย
ค. การรักษาภาวะต่างๆที่เป็นผลข้างเคียงจากโรคนี้: เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว, ภาวะหายใจล้มเหลว, ไตวาย, ตับวาย, ทั้งนี้แนะนำอ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดของโรค/ภาวะเหล่านี้ที่รวมถึงวิธีรักษาได้จากเว็บ haamor.com
อนึ่ง: ในผู้ป่วยกลุ่มไม่มีอาการ ที่แพทย์วินิจฉัยโรคได้โดยบังเอิญ เป็นกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาใดๆ ร่างกายจะค่อยๆกำจัดเชื้อนี้ให้หมดไปจากร่างกาย แต่ถ้าภายหลังจาก 3 เดือนแล้ว แพทย์ยังตรวจพบเชื้อโปรโทซัวนี้ในเม็ดเลือดแดง แพทย์จึงจะพิจารณาให้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อดังได้กล่าวในตอนต้นหัวข้อนี้
บาบีสิโอสิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรคบาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส
- ในกลุ่มที่ไม่มีอาการ: จะมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หายเสมอ
- ในกลุ่มที่มีอาการน้อยถึงอาการรุนแรงปานกลาง: มีโอกาสรักษาหายสูง โดยมีรายงานอัตราตายประมาณ 0-5 %
- ในโรคนี้กลุ่มที่มีอาการรุนแรง: มักจำเป็นต้องได้รับการรักษาในห้องผู้ป่วยวิกฤต(ICU, Intensive care unit) ซึ่งมีรายงานอัตราตายได้ประมาณ 50% ขึ้นกับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยก่อนเริ่มติดเชื้อโปรโทซัวนี้
อนึ่ง โดยทั่วไป โรคนี้ต้องได้รับการรักษานานหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่า ผู้ป่วยโรคนี้สามารถกลับมาติดเชื้อโปรโทซัวนี้ซ้ำได้อีกหรือไม่
มีผลข้างเคียงจากบาบีสิโอสิสอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากโรคบาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส โดยเฉพาะกรณีมีอาการรุนแรง ได้แก่
- กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน
- ปอดบวมน้ำ
- ไตวาย
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ตับวาย
ดูแลตนเองอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคบาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส ส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองต่อที่บ้าน การดูแลตนเองที่สำคัญ เช่น
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ อย่างเคร่งครัด
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรง
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ เพราะจำเป็นที่แพทย์จะต้องตรวจเลือดผู้ป่วยเพื่อดูว่ายังมีเชื้อโปรโทซัวนี้หลงเหลือในเม็ดเลือดแดงหรือไม่
- ไม่ควรให้เลือด/บริจาคเลือด โดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
เมื่อเป็นโรคบาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง เช่น กลับมามีไข้ ไอมาก ไอเป็นเลือด
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น แขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะรุนแรง ไอเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด
- มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้ หัวใจเต้นผิดปกติ ท้องเสีย
- กังวลในอาการ
ป้องกันบาบีสิโอสิส อย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนหรือยาตัวใดที่ใช้ป้องกันโรคบาบีสิโอสิส /บาบีซิโอซิส แต่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ โดย
- หลีกเลี่ยงการถูกกัดจากเห็บ/ตัวอ่อนเห็บของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์บ้าน และสัตว์ป่า โดยไม่ไปในถิ่นของโรคนี้ หรือเข้าใกล้ หรือสัมผัสสัตว์นั้นๆ
- แต่ถ้ามีความจำเป็น:
- ต้องทายาฆ่าเห็บ/ยาฆ่าแมลงที่ผิวหนังและที่เสื้อผ้าที่สวมใส่
- สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนัง เช่น เสื่อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้น เสื้อผ้าสีสว่าง เช่น สีขาว
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ พุ่มไม้ ทุ่งหญ้า กองฟาง กองหญ้า หรือ การกางเต้นนอนติดกับสถานที่ดังกล่าว
- รวมถึงเมื่อกลับถึงบ้าน:
- ควรต้องสำรวจเสื้อผ้าและผิวหนังว่ามีเห็บ/แมลงเกาะจับอยู่หรือไม่ ถ้าพบเห็บ ให้ใช้คีมหนีบเห็บนั้นออก อย่าใช้มือเปล่าบี้เห็บ เพราะของเหลวในตัวเห็บฯที่อาจมีเชื้อโปรทซัวนี้อยู่จะสัมผัสผิวหนัง/มือ/นิ้ว และก่อให้เกิดการติดเชื้อโปรโทซัวนี้ได้
- ใช้ยาฆ่าเชื้อแอลกอฮอล์ 70% หรือยาเบตาดีน(Betadine)ทาผิวหนังตรงรอยเห็บฯกัด
- ซึ่งมีรายงานว่า ถ้ากำจัดเห็บฯออกจากร่างกายได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังสัมผัสเห็บฯ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้มาก นอกจากนั้น ยังช่วยลดอาการรุนแรงของโรคลงได้จากร่างกายจะได้รับเชื้อโปรโทซัวนี้น้อยลง
- หลังจากนั้น ให้อาบน้ำทำความสะอาดเนื้อตัว และซักเสื้อผ้า ตากแดดให้แห้ง
- และเฝ้าสังเกตตนเอง ถ้ามีอาการผิดปกติ ดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล โดยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ว่าตนเอง พักอาศัยอยู่ในถิ่นใด หรือเพิ่งเดินทางกลับจากสถานที่ใด
บรรณานุกรม
- Mylonakis, E. Am Fam Physician 2001; 63: 1969-1974
- Vannier, E. ET AL. Infect Dis Clin North Am 2008;22(3):469-490
- http://dcd.ddc.moph.go.th/knowledges/view/144 [2021,Aug14]
- https://www.cdc.gov/parasites/babesiosis/ [2021,Aug14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Babesiosis [2021,Aug14]
- https://emedicine.medscape.com/article/212605-overview#showall [2021,Aug14]