บรินโซลาไมด์ (Brinzolamide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 เมษายน 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- บรินโซลาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- บรินโซลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บรินโซลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บรินโซลาไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?
- บรินโซลาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บรินโซลาไมด์อย่างไร?
- บรินโซลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบรินโซลาไมด์อย่างไร?
- บรินโซลาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- ต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma)
- ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)
- Carbonic anhydrase inhibitor
- ต้อหิน (Glaucoma)
- ความดันตาสูง(Ocular hypertension)
- ทิโมลอล (Timolol)
บทนำ : คือยาอะไร?
ยาบรินโซลาไมด์ (Brinzolamide) คือ ยาในกลุ่มยา คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์ (Carbonic anhydrase inhibitor) วงการแพทย์นำมาใช้รักษาโรคต้อหินระยะเริ่มต้นหรือระยะยังมีความดันลูกตาไม่สูงมากนัก รูปแบบของยานี้ในยาแผนปัจจุบันเป็น ยาหยอดตา
หลังการหยอดยาบรินโซลาไมด์ ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ของการรักษาภายในประมาณ 2 ชั่วโมง ฤทธิ์ของยามีระยะเวลาประมาณ 8 - 12 ชั่วโมง ยานี้สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดโดยผ่านจากลูกตาได้ และจะเข้าไปสะสมอยู่ในเม็ดเลือดแดง และเข้าจับกับเอนไซม์ คาร์บอนิก แอนไฮเดรส (Carbonic anhydrase, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคาร์บอนไดออกไซด์และสาร Bicarbonate ของร่างกาย)
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุวัตถุประ สงค์ของยานี้เพื่อยารักษาโรคต้อหิน สามารถพบเห็นยานี้ได้ทั้งในร้านขายยาหรือสถานพยาบาลทั่วไป ก่อนการใช้ยาบรินโซลาไมด์ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจสอบตาโดยจักษุแพทย์ การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
บรินโซลาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาบรินโซลาไมด์มีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรคต้อหินชนิด Open - angle glaucoma
- ใช้เป็นยาลดภาวะความดันตาสูง
บรินโซลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาบรินโซลาไมด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์คาร์บอนิก แอนไฮเดรส ซึ่งมีอยู่ในเนื้อเยื่อของลูกตาส่วนที่เรียกว่า Cillary processes เนื้อเยื่อนี้มีหน้าที่สร้างสารเหลว/สารน้ำมาหล่อเลี้ยงลูกตา จากกลไกดังกล่าวทำให้การสร้างสารเหลวในลูกตาลดปริมาณลง ส่งผลให้ความดันของดวงตาลดตามลงมาเช่นกัน จึงก่อให้เกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ
บรินโซลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาบรินโซลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาหยอดตาชนิดน้ำแขวนตะกอน ขนาดความเข้มข้น 0.01 กรัม/มิลลิลิตร
- ยาหยอดตาชนิดน้ำแขวนตะกอนที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Brinzolamide 10 มิลลิกรัม + Timolol maleate 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
บรินโซลาไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาบรินโซลาไมด์มีขนาดการบริหารยา/ข้อบ่งใช้:
- ผู้ใหญ่ หยอดยา 1 หยดในตาข้างที่เป็นต้อหิน 2 - 3 ครั้ง/วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลการรักษาและผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาบรินโซลาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบรินโซลาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?
หากลืมหยอดยาบรินโซลาไมด์สามารถหยอดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการหยอดยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
บรินโซลาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาบรินโซลาไมด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- รู้สึกระคายเคืองหรือคันเล็กน้อยที่เปลือกตา/หนังตาหลังหยอดยา
- การมองเห็นไม่ชัดเจนอยู่ชั่วครู่
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- อาจรู้สึกขมคอ
- คลื่นไส้
- อ่อนแรง
- ปากคอแห้ง
- เจ็บหน้าอก
- คัดจมูก
- เจ็บคอ
- หลอดลมอักเสบ/ไอ
- ซึมเศร้า
- ผมร่วง
มีข้อควรระวังการใช้บรินโซลาไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาบรินโซลาไมด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรด (Hyperchloraemic acidosis, อาการ เช่น กระสับกระส่าย หายใจเร็ว สับสน วินิจฉัยภาวะนี้ได้จากการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ)
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- หากจำเป็นต้องหยอดยาชนิดอื่นร่วมด้วยควรเว้นระยะเวลาของการหยอดยาหยอดตาให้ห่างกันประมาณ 10 นาทีขึ้นไป
- การใช้ยานี้รักษาต้อหินชนิด Angle - closure glaucoma อาจไม่ทำให้อาการของโรคดีขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบรินโซลาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรินโซลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบรินโซลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาหยอดตาบรินโซลาไมด์ ร่วมกับ ยากินกลุ่มคาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์(Carbonic anhydrase inhibitor) ตัวอื่นเช่น ยา Acetazolamide อาจนำไปสู่อาการข้างเคียง/ผล ข้างเคียงหรือเกิดพิษได้มากขึ้นจากยาทั้ง 2 ตัว หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการ ใช้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาหยอดตาบรินโซลาไมด์ ร่วมกับ ยากิน Salicylates อาจก่อให้เกิดพิษจากยาบรินโซลาไมด์ หรือยา Salicylates ได้มากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาหยอดตาบรินโซลาไมด์ ร่วมกับ ยากิน Dichlorphenamide (ยารักษาต้อหิน) ซึ่งด้วยการดูดซึมยาจากลูกตาเข้าสู่กระแสเลือดอาจเกิดการเสริมฤทธิ์ของอาการข้างเคียงของยา Dichlorphenamide ขึ้นได้เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ได้ยินเสียงกังวานในหู เบื่ออาหาร คลื่นไส้-อาเจียน ท้องเสีย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันต้องปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาหยอดตาบรินโซลาไมด์ ร่วมกับ ยาแก้ปวด เช่นยา Aspirin สามารถเกิดผลข้างเคียงติดตามมา เช่น มีเสียงกังวานในหู, ปวดหัว, คลื่นไส้-อาเจียน, วิงเวียน, สับสน, มีไข้, ประสาทหลอน, อาจมีอาการชัก, หายใจเร็วขึ้น, จนถึงขั้นโคม่า, หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์ปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษาบรินโซลาไมด์อย่างไร?
ควรเก็บยาบรินโซลาไมด์:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 4 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
บรินโซลาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบรินโซลาไมด์ มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Azarga (อะซาร์กา) | Alcon |
Azopt (อะซอพท์) | Alcon |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Carbonic_anhydrase_inhibitor#Natural_sources [2021, March27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Brinzolamide [2021, March27]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/brinzolamide?mtype=generic [2021, March27]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Azopt/?type=brief [2021, March27]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/brinzolamide-ophthalmic-index.html?filter=3&generic_only=[2021, March27]
- https://www.medicinenet.com/brinzolamide-ophthalmic_suspension/article.htm [2021, March27]