บรอมเพอริดอล (Bromperidol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบรอมเพอริดอล (Bromperidol) เป็นอนุพันธุ์ของสารบิวไทโรฟีโนน (Butyrophenones, สารที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของตัวยาหลักได้หลายชนิดในการรักษาโรคทางจิตเวช) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาและบำบัดอาการทางจิตเภท (Schizophrenia) ยานี้ถูกพัฒนาโดยบริษัท Janssen pharmaceutica และได้รับความนิยมเป็นเวลานานในประเทศแถบยุโรปเช่น เยอรมัน อิตาลี เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์

ยาบรอมเพอริดอลมีสูตรโครงสร้างเหมือนกับยา Haloperidol ต่างกันเพียง บรอมเพอริดอล มีธาตุโบรมีน (Bromine) เป็นองค์ประกอบในโมเลกุล ส่วน Haloperidol มีธาตุคลอรีน (Chlorine) เป็นองค์ประกอบ หากจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาทั้ง 2 ตัวนี้ ทางวงการแพทย์พบว่า บรอมเพอริ ดอลจะออกฤทธิ์ให้ผลรักษาได้ดีกว่า Haloperidol แต่สำหรับประเทศไทยกลับพบเห็นการใช้ Halope ridol มากกว่าและมีหลายชื่อการค้า อย่างไรก็ตามความเหมาะสมในการคัดเลือกยามารักษายังต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์เสมอ

บรอมเพอริดอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

บรอมเพอริดอล

ยาบรอมเพอริดอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาอาการทางโรคจิตเภท (Schizophrenia) ในผู้ใหญ่

บรอมเพอริดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาบรอมเพอริดอลจะคล้ายกับยา Haloperidol โดยมีฤทธิ์ทำให้เกิดภาวะสงบทางจิต ลดอาการภาพหลอน/ประสาทหลอน รวมไปถึงอาการหลงผิดของผู้ป่วย และนำไป สู่อาการที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติ

บรอมเพอริดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบรอมเพอริดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 1, 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

บรอมเพอริดอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาบรอมเพอริดอลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1 - 15 มิลลิกรัม/วัน แต่หากมีความจำเป็น แพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานถึง 50 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดถึงการใช้ยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาบรอมเพอริดอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้แล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบรอมเพอริดอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาบรอมเพอริดอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

บรอมเพอริดอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบรอมเพอริดอลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหารหลังรับประทาน
  • คัดจมูก
  • ผื่นแพ้แสงแดด (ขึ้นผื่นหรือผิวหนังอักเสบเมื่อโดนแสงแดดโดยตรง)
  • ผื่นคัน
  • ตัวเหลือง
  • อาจพบภาวะเลนส์ตาขุ่น
  • อาจมีอาการผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจติดตามมา

มีข้อควรระวังการใช้บรอมเพอริดอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบรอมเพอริดอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะโคม่า
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะไขกระดูกทำงานผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ที่มีประวัติเป็นดีซ่าน ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยเบา หวาน ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ให้ระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะและการทำงานกับเครื่องจักรเพราะยาทำให้เกิดอาการง่วงผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยาในผู้สูงอายุและอาจต้องปรับขนาดการใช้ยาลดลงมา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบรอมเพอริดอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรอมเพอริดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบรอมเพอริดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาบรอมเพอริดอลร่วมกับยา Carbamazepine สามารถลดความเข้มข้นของ บรอมเพอ ริดอลในกระแสเลือดให้ต่ำลงและทำให้ฤทธิ์ของการรักษาด้อยประสิทธิภาพลงไป กรณีที่ต้องใช้ร่วม กันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมในแต่ละบุคคลไป
  • การใช้ยาบรอมเพอริดอลร่วมกับยา Levodopa (ยารักษาโรคพาร์กินสัน) อาจเป็นสาเหตุให้เกิดผลข้างเคียงจากยาทั้ง 2 ตัวติดตามมาได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประ ทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาบรอมเพอริดอลอย่างไร?

ควรเก็บยาบรอมเพอริดอล:

  • เก็บยาในอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือ ในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด พ้น ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

บรอมเพอริดอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบรอมเพอริดอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Bromidol (โบรไมดอล) Janssen
Erodium (อีโรเดียม) IVAX
Tesoprel (เทโซเพรล) Celltech
Bromodol (โบรโมดอล) Janssen
Impromen (อิมโพรเมน) Janssen

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Bromperidol [2020,Sept26]
2 http://en.wikipedia.org/wiki/Butyrophenone[2020,Sept26]
3 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fbromperidol%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Sept26]
4 http://drugs-about.com/ing/bromperidol.html [2020,Sept26]
5 http://www.ndrugs.com/?s=tesoprel&sort=1 [2020,Sept26]
6 http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/9218929 [2020,Sept26]
7 http://www.drugs.com/cons/levodopa.html [2020,Sept26]