น้ำดี (Bile)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 มิถุนายน 2561
- Tweet
- กายวิภาคตับและระบบทางเดินน้ำดี (Hepatobiliary system)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- ดีซ่าน (Jaundice)
- ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
- ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
- นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดี (Gallstone)
- ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
น้ำดี (Bile หรืออีกชื่อคือ Gall) คือ สารน้ำ/ของเหลวที่ช่วยการย่อยไขมันในลำไส้ น้ำดีสร้างจากตับและนำมากักเก็บไว้ในถุงน้ำดี ทั่วไป ร่างกายผู้ใหญ่สร้างน้ำดีได้วันละประมาณ 400 to 800 มิลลิลิตร ซึ่งน้ำดีจะมีความเป็นด่าง มีค่าpH อยู่ที่ประมาณ 6.80 to 7.65 และทั่วไป น้ำดีประกอบด้วย
- น้ำประมาณ 95%
- สารที่เรียกว่าไบล์ซอลท์/เกลือน้ำดี(Bile salts หรือ Conjugated bile acids , สารเกิดจากรดน้ำดีรวมตัวกับสารเคมีชนิดอื่นในน้ำดี) หรืออีกชื่อคือ กรดน้ำดี(Bile acids) ประมาณ 1%
- สารให้สีที่ได้จากเม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลายหรือที่หมดอายุแล้ว ซึ่งเรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ประมาณ 0.2%
- ไขมัน ชนิดที่ไม่ใช่คอเลสเตอรอล (Cholesterol) และชนิดคอเลสเตอรอล รวมกันประมาณ 0.5%
- เกลืออนินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น เกลือโซเดียม เกลือโพแทสเซียม ประมาณ 200 meq/L(Milliequivalent/litre)
- อื่นๆ เช่น น้ำย่อย วิตามิน ยา และสารพิษหรือสารชีวพิษต่างๆ ที่เราบริโภคเข้าไป
เมื่อเรากินอาหาร อาหารในกระเพาะอาหารจะช่วยกระตุ้นให้ถุงน้ำดีบีบตัว หลั่งน้ำดีที่เก็บไว้ให้เข้าสู่ลำไส้เล็กตอนบน เพื่อย่อยไขมันให้เป็นกรดไขมัน ซึ่งถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและ ร่างกายนำไปใช้หรือนำไปสะสม นอกจากนั้น ความเป็นด่างของน้ำดียังช่วยลดความเป็นกรดของอาหารจากกระเพาะอาหาร จึงช่วยลดการระคายเคืองของกรดต่อลำไส้เล็ก และยังช่วยฆ่าแบคทีเรียบางชนิดที่ปนเปื้อนในอาหารได้อีกด้วย
น้ำดีซึ่งผสมอยู่ในกากอาหารหลังการย่อยแล้ว(อุจจาระ) และเป็นตัวที่ทำให้อุจจาระของคนปกติมีสีออกเหลืองหรือน้ำตาล ซึ่งก็คือสีของน้ำดีนั่นเอง ดังนั้นโรคต่างๆที่ส่งผลให้เกิดการอุดตันของระบบทางเดินน้ำดีจนไม่มีน้ำดีไหลเข้าสู่ลำไส้ จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอุจจาระสีซีดขาวกว่าปกติ และเมื่อมีน้ำดีคั่งในตับจากโรคของตับเช่น โรคไวรัสตับอักเสบ สารให้สีหรือบิลิรูบินในน้ำดีจะท้นเข้าสู่กระแสโลหิต/กระแสเลือด และเข้าไปจับใน เยื่อตา เยื่อเมือกบุอวัยวะต่างๆ และในผิวหนัง ส่งผลให้เกิดภาวะตาและตัวเหลืองหรือโรค/ภาวะดีซ่าน และสารให้สีนี้จะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยไตทางปัสสาวะ จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีปัสสาวะสีเหลืองเข็มกว่าปกตินั่นเอง
อนึ่ง:
- กรดน้ำดี(Bile acids) ประกอบด้วยกรด Cholic acid และกรด Chenodeoxycholic acid โดยเมื่อกรดน้ำดีสร้างจากตับ จะเรียกว่า “กรดน้ำดีปฐมภูมิ(Primary bile acid)” แต่ถ้าสร้างจากแบคทีเรียในลำไส้จะเรียกว่า “กรดน้ำดีทุติยภูมิ(Secondary bile acid)” ซึ่งเมื่อกรดน้ำดีรวมตัวกับสารอื่นๆในน้ำดี เช่น กรดอะมิโนที่ชื่อ Taurine และ/หรือ Glycine หรือ โซเดียม หรือ โพแทสเซียม จะเรียกว่า “Conjugated bile acid” หรือ “เกลือน้ำดี(Bile salts)”
บรรณานุกรม
- http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002237.html [2018,May12]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bile_acid [2018,May12]
- http://www.sharinginhealth.ca/gastrointestinal/biology/bile.html [2018,May12]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bile [2018,May12]
Updated 2018,May12