น้ำคร่ำอุดหลอดเลือด (Amniotic fluid embolism)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 30 ตุลาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- ภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดคืออะไร?พบบ่อยไหม?
- ภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดสำคัญอย่างไร? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ใครมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือด?
- อาการของภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดเป็นอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดอย่างไร?
- รักษาภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดอย่างไร?
- มีวิธีป้องกันภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดหรือไม่?
- ถ้ารอดจากภาวะนี้มารดาจะดูแลตนเองอย่างไร? และดูแลทารกอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
- ภาวะช็อก อาการช็อก (Shock)
- รกเกาะต่ำ ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta previa)
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Intrauterine fetal demise)
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
- ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption or Abruptio placentae)
- การขูดมดลูก (Fractional dilatation and curettage)
- สมองขาดเลือด (Cerebral ischemia)
ภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดคืออะไร?พบบ่อยไหม?
น้ำคร่ำอุดหลอดเลือด(Amniotic fluid embolism)คือ โรค/ภาวะที่เกิดจากมีน้ำคร่ำ หรือชิ้นส่วนเล็กๆของทารก หรือเส้นผมทารก หลุดเข้าไปในกระแสเลือดของมารดาแล้วไปอุดตันในเส้นเลือด/หลอดเลือดต่างๆและ/หรือในปอด ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดและระบบหายใจของมารดาล้มเหลวและทำให้มารดาถึงตายได้ *ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติกรรม พบได้น้อย แต่มีอันตรายสูงมาก
กลไกการเกิดภาวะนี้จริงๆยังไม่ทราบแน่ชัด บางทฤษฎีเชื่อว่าเป็นปฏิกิริยาการแพ้ที่รุน แรง (Anaphylactic reaction/แอแนฟิแล็กซิส)ต่อชิ้นส่วนของทารกแล้วทำให้เกิดผล/ภาวะผิดปกติต่างๆตามมา ซึ่งมีรายงานเกิดภาวะนี้ได้ประมาณ 1 - 12 รายต่อการคลอด 100,000 ราย
อนึ่ง:ชื่ออื่นของภาวะนี้ เช่น น้ำคร่ำหลุดเข้ากระแสเลือด, น้ำคร่ำอุดกั้นปอด
ภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดสำคัญอย่างไร? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค/ความสำคัญของภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดเป็นภาวะที่อันตรายสูงมาก อัตราตายของมารดาสูงมากถึง 80% หากรักษาไม่ทันท่วงที ส่วนมากเสียชีวิตใน 1 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการจากภาวะนี้
นอกจากนี้ ผลจากการที่มีน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดจะทำให้มีปัญหา/ผลข้างเคียงที่ติดตามมา ในเรื่องเลือดออกมากผิดปกติจากกระบวนการแข็งตัวของเลือดเสียไป ที่เรียกว่า ดีไอซี(Disseminated intra vascular coagulation, DIC) และมดลูกหดรัดตัวไม่ดีที่ยิ่งทำให้เสียเลือดมากขึ้น และยังมีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่รุนแรงหากมารดาสามารถรอดชีวิตมาได้ เช่น อาจมีการสูญเสียของระบบประสาทจนมีความพิการทางสมองได้
*อนึ่ง: อัตราตายของทารกในครรภ์ก็สูงเช่นกัน หากแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดคลอดช่วยชีวิตทารกในครรภ์ได้ทันท่วงทีหลังจากมารดาเสียชีวิตแล้ว ทารกมักเสียชีวิตในครรภ์ด้วย
ใครมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือด?
สตรีตั้งครรภ์ทุกครรภ์มีโอกาสเกิดภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดได้ แต่ภาวะนี้พบได้น้อยมาก (ดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ บทนำฯ’) ปัจจัยเสี่ยงที่มักพบ ได้แก่
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีบุตรหลายคน
- สตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับภยันตรายบริเวณท้อง
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีรกเกาะต่ำ
- สตรีตั้งครรภ์ที่รกลอกตัวก่อนกำหนด
- สตรีตั้งครรภ์ที่เคยได้รับการขูดมดลูก
อาการของภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดเป็นอย่างไร?
ภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดเป็นเหตุการณ์ที่’คาดเดาไม่ได้และป้องกันไม่ได้’เช่นกัน ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้ อาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสตรีตั้งครรภ์จะถึง ชีวิตอย่างรวดเร็ว อาการของโรคนี้พบบ่อยในช่วงที่สตรีกำลังเจ็บครรภ์คลอด แต่สามารถเกิดได้ในช่วงเวลาอื่นเช่นกันแต่น้อยกว่า เช่น ช่วงผ่าตัดคลอด/ผ่าท้องคลอด, ช่วงระยะหลังคลอดไม่นาน, หรือระหว่างการขูดมดลูกจากการแท้งบุตร
อาการโรค/ภาวะนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
ก. ระยะแรก: สตรีตั้งครรภ์จะมีอาการอึดอัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย, ไอ, มีอาการชัก, ต่อมาจะตัวเขียว(อาการเขียวคล้ำ) อย่างรวดเร็ว เนื่องจากปอดทำงานแลกเปลี่ยนก๊าช/อากาศไม่ได้, ความดันโลหิตต่ำ, และเสียชีวิต, หากช่วงนี้แพทย์สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ทัน การดำเนินของโรค/ของภาวะนี้จะเข้าสู่
ข. ระยะที่ 2: คือ เลือดออกมากจากตัวมดลูก (เลือดออกทางช่องคลอด) เนื่องจากกระบวนการแข็งตัวของเลือดทั่วร่างกายจะเสียไป และเลือดออกจากช่องคลอดมากขึ้นเนื่องจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดี, ต่อไปก็จะมีเลือดออกตามส่วนอื่นๆของร่างกายได้ทุกส่วนจากกระบวนการเกิดภาวะดีไอซี และเสียชีวิตในที่สุดหากให้เลือดทดแทนไม่ทัน
แพทย์วินิจฉัยภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดอย่างไร?
แพทย์ผู้ดูแลสตรีตั้งครรภ์จะวินิจฉัยภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดจาก
- อาการที่กล่าวมาแล้วใน’หัวข้อ อาการฯ’: ที่พบว่าสตรีที่กำลังรอคลอดหรือเจ็บครรภ์คลอด เกิดมีอาการหายใจลำบาก/หอบเหนื่อย, ตัวเขียว, ความดันโลหิตต่ำอย่างรวดเร็ว, และไม่สามารถอธิบายด้วยสาเหตุอื่นได้, หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ, มดลูกไม่บีบรัดตัว, มีจุดจ้ำเลือดตามตัว, มีเลือดออกตามไรฟัน
- การตรวจทางห้องปฎิบัติการ: ที่อาจพอช่วยวินิจฉัยภาวะนี้ได้ เช่น การเอกซ์เรย์ภาพปอด, การทำสแกนปอด (Lung scan, การตรวจภาพปอดด้วยวิธีการทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์), ตรวจเลือดดูค่าเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ
- *การวินิจฉัยโรค/ภาวะนี้ที่แน่นอน คือ ตรวจพบเศษชิ้นส่วน ขน ผม ของทารกในหัวใจมารดาห้องล่างขวาจากการผ่าศพตรวจพิสูจน์หลังจากผู้ป่วย/มารดาเสียชีวิต
รักษาภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดอย่างไร?
การดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดต้องช่วยกันดูแลรักษาเป็นทีม มักต้องดู แลรักษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU, Intensive care unit) ซึ่งการรักษาจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ไม่มีวิธีการเฉพาะ
สิ่งสำคัญที่สุด คือ
- ต้องให้การรักษาอย่างรวดเร็ว
- ใส่ท่อช่วยหายใจให้ทันเวลาร่วมกับต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
- ต้องสามารถหาสารน้ำผลิตภัณฑ์ของเลือด/ส่วนประกอบของเลือด (เช่น เกล็ดเลือด) และเลือดมาทดแทนให้แก่ผู้ป่วยให้เพียงพอ
- รักษาภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ต่างๆที่ตามมาหากมีชีวิตรอด เช่น
- ภาวะไตวายจากการเสียเลือดมาก
- รักษาความผิดปกติทางสมองหรือสมองพิการจาก เสียเลือด, ชัก, หมดสติ, หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ, และสมองขาดออกซิเจน/สมองขาดเลือดที่รุนแรง
- และนอกจากนี้ แพทย์ต้องรีบพิจารณาผ่าตัดคลอด/ผ่าท้องคลอดเพื่อช่วยทารกในครรภ์ให้มีชีวิตรอดหากมารดาเสียชีวิตแล้ว
มีวิธีป้องกันภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดหรือไม่?
*ภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดเป็นเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้และป้องกันไม่ได้
ถ้ารอดจากภาวะนี้มารดาจะดูแลตนเองอย่างไร? และดูแลทารกอย่างไร?
เมื่อเกิดภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดแล้วถ้าสตรีผู้มาคลอด (มารดา) ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที สามารถใส่ท่อช่วยหายใจได้ทัน, มีเครื่องช่วยหายใจช่วยในภาวะวิกฤต, แพทย์สามารถหาเลือดให้ทันกับการเสียเลือด, สตรีผู้คลอดโชคดีสามารถมีชีวิตรอดได้อย่างปลอดภัย แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่รอดมักมีภาวะแทรกซ้อนตามมาหลายอย่าง หากขาดออกซิเจนไปนาน หรือเสียเลือดมากจนเกิดภาวะช็อก จะมีปัญหาเรื่อง
- สมองขาดออกซิเจน/สมองขาดเลือดส่งผลมีปัญหาเรื่องสูญเสียการรู้ สึกตัว/ไม่รู้สึกตัวหรือแขนขาอ่อนแรง
- หากไตขาดเลือดมากจะเกิดภาวะไตวายอาจจำเป็นต้องมีการล้างไต
*ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสุขภาพเป็นเวลานานและผลการฟื้นฟูอาจไม่กลับมาเป็นปกติ
สำหรับทารก:
หากสามารถช่วยได้ทันและมีชีวิตรอด สภาพร่างกายและสติปัญญาขึ้นกับว่า ทารกขาดออกซิเจนจากมารดานานแค่ไหน
- หากขาดออกซิเจนน้อยมาก การเจริญเติบโตก็เหมือนเด็กปกติทั่วไป
- แต่หากขาดออกซิเจนนาน ก็จะส่งผลถึงสมองและการพัฒนาทางร่างกาย *ภาวะเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสุขภาพเป็นเวลานานเช่นกัน และผลการฟื้นฟูอาจไม่กลับมาเป็นปกติเช่นกัน