น้ำคร่ำ (Amniotic fluid) ถุงน้ำคร่ำ (Amniotic sac)

น้ำคร่ำ จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึงของเหลวในถุงเยื่อหุ้มลูกในมดลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำหน้าที่ลดผลการกระทบกระแทก และช่วยหล่อลื่นในการคลอด เป็นต้น โดยเรียกถุงที่เป็นเนื้อเยื่อหุ้มที่บรรจุน้ำคร่ำว่า ถุงน้ำคร่ำ ซึ่งทางการแพทย์ ผนังถุงน้ำคร่ำเป็นเนื้อเยื่อบางๆ 2 ชั้น ชั้นในอยู่ติดกับน้ำคร่ำ ชั้นนอกจะเป็นส่วนหนึ่งที่ต่อเป็นส่วนของสายสะดือและของรก

ทางการแพทย์ น้ำคร่ำ มีหน้าที่

  • ช่วยให้ทารกในครรภ์มีการเคลื่อนไหว ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตของกระดูก
  • ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ปอด จึงช่วยส่งเสริมการหายใจของทารก
  • ช่วยปรับและคงอุณหภูมิให้อยู่ในสมดุลที่ทารกจะเจริญเติบโตได้ปกติ
  • และเป็นเสมือนหมอนช่วยปกป้องทารกจากแรงกระทบกระแทกต่างๆ

ปริมาณน้ำคร่ำจะค่อยๆมากขึ้น จนถึงสูงสุดประมาณ 800 มิลลิลิตร (มล.) เมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 28 สัปดาห์ ต่อจากนั้นปริมาณน้ำคร่ำจะลดลงถ้าอายุครรภ์ประมาณ 42 สัปดาห์

น้ำคร่ำจะประกอบด้วย น้ำ เกลือแร่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และเซลล์ตัวอ่อน (Stem cell) ที่คาดว่าจะมีประโยชน์ที่จะนำมาปลูกถ่าย เพื่อการรักษาโรคบางโรคได้ในอนาคต

น้ำคร่ำเกิดจากการสร้างจากรก และจากหลอดเลือดของทารก โดยจะมีการไหลเวียนของน้ำคร่ำ เข้าสู่ร่างกายทารก โดยการกิน การหายใจ และมีการขับถ่ายออกทางไต และทางอุจจาระของทารก

ปัจจุบัน การตรวจน้ำคร่ำ สามารถช่วยการวินิจฉัยบางโรค หรือบางภาวะของทารกในครรภ์ เพื่อช่วยการวินิจฉัยและการรักษาโรคของทารกตั้งแต่ก่อนคลอด เช่น การวินิจฉัย เพศ สุขภาพ และโรคทางพันธุกรรมบางโรค

บรรณานุกรม

  1. Amniotic fluid http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002220.htm [2012,April 10].
  2. Amniotic fluid http://en.wikipedia.org/wiki/Amniotic_fluid [2013,April10].