นโยบายด้านสุขภาพ ตอน แบ่งยารักษาโรคกันได้เปล่า
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 22 ธันวาคม 2563
- Tweet
ปัญหาหนึ่งที่พบในการรักษาผู้ป่วยมานาน คือ การพบผู้ป่วยนำยาของตนเองไปให้คนรู้จักทาน เพราะเห็นว่าเป็นโรคเดียวกัน และโรคที่ผมรักษานั้นก็เป็นโรคที่พบบ่อยๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยก็มักจะมีโรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง หรือโรคปวดศีรษะไมเกรน โรคนอนไม่หลับ เรื่องที่ดูเหมือนไม่เป็นเรื่องก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ เหมือนกับเรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังครับ
ผมได้รับปรึกษาให้ดูแลผู้ป่วยหญิงสูงอายุที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยปัญหาเลือดออกในเนื้อสมองหลายตำแหน่ง ร่วมกับมีเลือดออกในทางเดินอาหารด้วย และตามตัวก็มีจ้ำเลือดเต็มไปหมด ตรวจเลือดก็พบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติด้วย ซึ่งสาเหตุแบบนี้ น่าจะต้องเกิดจากการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ แต่ผู้ป่วยไม่เคยมีโรคเลือด โรคตับเลย อยู่ดีๆ ทำไมถึงเกิดอาการแบบนี้ได้ ยาประจำที่ผู้ป่วยทานประจำก็ไม่มียาอะไรที่จะทำให้เกิดอาการแบบนี้ได้
ผมได้พยายามทบทวนประวัติต่างๆ และพยายามสอบถามจากญาติทุกๆ คน จนกระทั่งได้ความจริงที่อธิบายสาเหตุการเกิดภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ และเลือดออกในสมอง ทางเดินอาหาร ตามลำตัวมากมาย เพราะว่าผู้ป่วยไปบ่นกับเพื่อนข้างบ้านที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ว่าตนเองนั้นมีอาการแขนขาไม่ค่อยมีแรง กลัวว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาตเหมือนเพื่อน เพื่อนก็เลยนำยาที่ตนเองทานเป็นประจำมาให้ผู้ป่วยทาน เพื่อจะได้ไม่เป็นโรคหลอดเลือดสมองเหมือนตน โดยไม่เคยรู้มาก่อนว่ายาละลายลิ่มเลือดที่ตนเองทานนั้น ไม่สามารถนำไปให้ใครทานได้เลย อันตรายอย่างยิ่ง
เมื่อผมทราบเหตุดังกล่าว ถึงกับกลุ้มใจเลยครับ แล้วก็นำเหตุการณ์นี้มาใช้ในการแนะนำผู้ป่วย ญาติของคนไข้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือด ต้องย้ำว่าไม่สามารถนำไปให้ใครทานได้เลย อันตรายอย่างยิ่ง อันตรายถึงกับชีวิต จริงๆ แล้วยาเกือบทุกชนิดไม่ควรนำไปให้คนอื่นทานได้ ถึงแม้จะเป็นโรคเดียวกัน แต่ถ้าเป็นโรคเดียวกัน ทานยาชนิดเดียวกัน ขนาดเดียวกัน แล้วเป็นการทานเพียงชั่วคราว แบบนี้ผมว่าพอได้ครับ แต่ถ้าอาการคล้ายกัน ไม่รู้เลยว่าเป็นโรคเดียวกันหรือเปล่า แบบนี้ห้ามเด็ดขาดครับ อันตรายมากๆ ผมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกนะครับ คือ อันตรายถึงชีวิตครับ อย่านำยาของเราไปให้คนอื่นทานครับ