ทางรอด? ห้องฉุกเฉินไทย
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 13 เมษายน 2564
- Tweet
ห้องฉุกเฉิน คือ สถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติ ภาวะเร่งด่วน ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วนทันเวลาแล้ว จะส่งผลเสีย มีอันตรายต่อชีวิต หรือก่อให้เกิดความเจ็บปวดรุนแรง ดังนั้นห้องฉุกเฉินและทีมในห้องฉุกเฉินต้องมีความพร้อมให้การรักษาภาวะที่คุกคามต่อชีวิตอยู่ตลอดเวลา ทันที แต่สภาพห้องฉุกเฉินของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีสภาพที่พร้อมในการให้บริการเลย เพราะมีสภาพที่แออัด เต็มไปด้วยผู้ป่วยทั้งที่ฉุกเฉิน และไม่ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ก็เหนื่อย อ่อนล้า ทำงานตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง 8-16 ชั่วโมง ทำไมจึงเกิดสภาพแบบนี้ และจะแก้ไขได้อย่างไร
1. ความแออัด สาเหตุ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างนอกเวลาราชการหรือภายหลังจากแผนกผู้ป่วยนอกปิดรับผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ต้องการมารับการรักษาทุกกรณี ไม่ว่าอาการจะหนักหนาสาหัสหรือไม่ มีอาการปวดหัว ตัวร้อน ปวดท้อง ยาหมด ฉีดวัคซีน ทำแผลเล็กน้อย ตัดไหม อื่นๆ จิปาถะก็มาใช้บริการที่ห้องตรวจแผนกฉุกเฉินทั้งหมด
การแก้ไข คือ ต้องมีการกำหนดระบบการบริการอื่นๆ ให้ประชาชนทราบ เช่น การฉีดวัคซีน ล้างแผล ตัดไหม ใส่สายให้อาหาร รับยาต่างๆ นั้น ต้องแยกออกจากห้องฉุกเฉิน และกำหนดช่วงเวลาที่ให้บริการต่างๆ เหล่านี้อย่างชัดเจน ส่วนกรณีภาวะไม่ฉุกเฉินก็ต้องมีการจัดระบบ เช่น คัดกรองผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่รีบด่วนออกมา แล้วเปิดบริการเป็นช่วงเวลา เช่น 16.00-20.00 น. ซึ่งการบริการที่ไม่ใช่ภาวะเร่งด่วนทั้งหมดนี้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น โดยอาจเก็บค่าบริการเป็นกรณีไป หรือเป็นเงินกองทุนหมู่บ้าน ตำบล เป็นผู้รับผิดชอบ
ผมเสนอระบบแบบนี้ก็เพื่อทำให้ประชานมีความรับผิดชอบร่วมกัน ดูแลกันเองด้วยว่า การใช้บริการโรงพยาบาลที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร และถ้ามีการบริการที่เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยทุกคนที่ต้องการมาใช้บริการของโรงพยาบาล ก็ควรต้องรับผิดชอบต่อภาระของโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น เป็นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการควบคุม กำกับ และพัฒนาระบบบริการ
2. ด่วนทุกกรณี สาเหตุ คือ ประชาชนไม่รู้จริงๆ ว่าอาการผิดปกติอะไร แบบไหนที่เป็นภาวะไม่เร่งด่วน เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น หรือมีความเจ็บปวด เจ็บป่วยก็กังวลใจว่ามันจะมีอันตรายถ้ามาช้า หรือไม่ก็เพราะไม่สะดวกที่จะมาตรวจรักษาในเวลาราชการ และก็มีส่วนน้อยที่เห็นว่ามาใช้บริการที่ห้องฉุกเฉินแล้วสะดวกรวดเร็วกว่า เพราะคนไม่มาก
การแก้ไข คือ การให้ความรู้ที่ตรงประเด็น กระชับ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้าง จิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม และต้องให้สังคมกำกับแนวทางการใช้บริการห้องฉุกเฉินร่วมกับทีมสุขภาพ
3. เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลต้องทำงานตลอดเวลา ห้ามว่าง ต้องให้การบริการตลอดเวลา ประเด็นนี้เป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะอย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ห้องฉุกเฉินนั้นมีไว้เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะคุกคามต่อชีวิต ภาวะเร่งด่วนซึ่งต้องให้การักษาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นทั้งสถานที่และความพร้อมของทีมผู้ให้การรักษาต้องพร้อมเต็มที่ ตลอดเวลา ดังนั้นถ้ามีการให้บริการการรักษาผู้ป่วยที่ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินในห้องฉุกเฉิน ก็อาจก่อให้เกิดความไม่พร้อมของสถานที่ กรณีที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมากมารับการรักษาพร้อมๆ กัน และความพร้อมของทีมผู้ให้การรักษาก็ไม่พร้อมเช่นกัน ดังนั้นการที่เห็นว่าแพทย์ พยาบาลว่าง นั่งเฉยๆ ในห้องฉุกเฉินไม่ได้นั้น ต้องมาให้บริการรักษาผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน จึงไม่เหมาะสม เพราะห้องฉุกเฉินต้องพร้อมทั้งสถานที่และทีมผู้ให้การรักษา ถ้าทีมทำงานตลอดเวลาเพราะมีผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ มารับการรักษา เราก็ต้องทำอย่างเต็มกำลัง เต็มความสามารถ แต่ถ้าไม่มีผู้ป่วยฉุกเฉิน ทีมก็ต้องมีการเตรียมพร้อมในการให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทุกเวลาเช่นกัน อยากให้ทุกคนเข้าใจประเด็นนี้ด้วยครับ
4. ต้องมีตำรวจ เครื่องตรวจอาวุธ ระเบิดที่ห้องฉุกเฉิน เนื่องจากในช่วงหลังมานี้มีข่าวการทำร้ายร่างกายกันที่ห้องฉุกเฉิน การข่มขู่เจ้าหน้าที่เพราะไม่พอใจที่ต้องรอคิวการตรวจยาวนาน หรือไม่พอใจการให้บริการ การพูดจาของเจ้าหน้าที่ ผมมองว่าเรื่องเหล่านี้ถ้าประชาชน ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยเข้าใจถูกต้องว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย ช่วยเหลือชีวิตคน การกระทำดังกล่าวข้างต้นก็ไม่ควรเกิดขึ้น ผมอยากให้คนในสังคมไทยมีความรู้ ความเข้าใจและจิตสำนึกที่ดีต่อโรงพยาบาล ส่วนทีมผู้ให้การรักษาก็ต้องเข้าใจจิตใจ อารมณ์ ความลำบาก ความทุกข์ใจของผู้มารับการรักษาด้วย ใจเย็นๆ หันหน้ามาคุยกันด้วยสติ ด้วยความเข้าใจ เราก็ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องตรวจอาวุธ หรือตำรวจประจำห้องฉุกเฉินหรอกครับ
5. ต้องมีการให้บริการฉุกเฉินทุกโรงพยาบาลตลอดเวลา 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ ผมมองว่าปัจจุบันการเดินทางสะดวก รวดเร็วขึ้น ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 พัฒนาไปมาก สามารถนำส่งผู้ป่วยและให้การรักษาเบื้องต้นได้ ดังนั้นในโรงพยาบาลบางแห่งที่มีขนาดเล็ก มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และระยะทางไม่ได้ห่างจากโรงพยาบาลอีกแห่งที่มีความพร้อม ก็ไม่จำเป็นต้องมีการบริการฉุกเฉินนอกเวลาราชการ เพื่อให้เกิดการบริการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น และเป็นการใช้ศักยภาพของทีมร่วมกัน โดยให้ทีมของทั้ง 2 โรงพยาบาลนั้นร่วมให้บริการนอกเวลาในโรงพยาบาลหลักเพียงหนึ่งโรงพยาบาล ก็จะทำให้ยิ่งเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรได้ระดับหนึ่ง
6. ทำไมต้องรอ แล้วมาก่อนทำไมไม่ได้ตรวจก่อน ประเด็นนี้ผมต้องขอทำความเข้าใจให้ถูกต้องดังนี้ คือ การให้การรักษาที่ห้องฉุกเฉินนั้นจะให้การรักษาผู้ป่วยอาการหนัก รุนแรงมีโอกาสเสียชีวิตก่อน ไม่ได้ให้การรักษาตามลำดับคิวที่มารับการรักษา โดยโรงพยาบาลจะมีเกณฑ์ในการคัดกรองผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อแยกผู้ป่วยเป็นตามลำดับความเร่งด่วน แล้วจะรีบให้การรักษาผู้ป่วยที่มีความเร่งด่วนสุดก่อนเสมอ ผมอยากให้คนไทยทุกคนเข้าใจประเด็นนี้ด้วยครับ
7. การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ห้องฉุกเฉิน ประเด็นนี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้ป่วย ญาติเรียกร้องให้ให้ตามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาดูแลตั้งแต่ต้น ดูแลให้เร็วที่สุด ผมต้องขอบอกว่าทำไม่ได้หรอกครับ ถ้าจะเป็นไปได้ ก็ต้องเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากๆ มีแพทย์ ทีมที่มากพอ ซึ่งไม่น่าจะมีในประเทศครับ นอกจากโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามระบบการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละโรงพยาบาล ก็จะขึ้นกับศักยภาพของแต่ละที่ กรณีโรงพยาบาลไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยรายนั้นๆ ที่มีความจำเป็นต้องให้การดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลก็จะมีระบบการส่งต่อ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนอยากเห็น อยากให้ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลนั้นเป็นที่ที่ให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะเร่งด่วน มีอันตรายต่อชีวิต ผู้ป่วยเหล่านั้นต้องได้รับการรักษาที่รวดเร็วและหายจากการเจ็บป่วย เราทุกคนต้องมาร่วมมือกัน ดูแลการบริการที่ห้องฉุกเฉินให้เป็นไปด้วยความถูกต้องตามหลักการ มิใช่ตามความต้องการ ตามอำเภอใจของแจ่ละคน เชื่อผมเถอะครับ ทางรอดของห้องฉุกเฉินไทย