หมอไม่ทำอะไรให้เลย

นโยบายด้านสุขภาพ-34

      

หมอไม่ทำอะไรให้เลย

“สวัสดีครับหมอ ช่วยพ่อผมด้วยครับ พ่อผมอาการไม่ดีขึ้นเลย ไม่รู้สึกตัว ไข้สูงตลอด ไปนอนโรงพยาบาลจังหวัดมาตั้ง 3 วัน ไม่เห็นหมอทำอะไรให้เลย มีแค่ฉีดยาให้วันละ 2 ครั้งแค่นั้น พ่อผมเลยไม่ดีขึ้นเลย ผมจึงขอย้ายโรงพยาบาลมารักษากับหมอ” ประโยคคำพูดแบบนี้ ผมได้ยินบ่อยมาก แล้วก็รู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง รู้สึกไม่ค่อยเป็นธรรมกับหมอที่โรงพยาบาลก่อนหน้านี้เลย เพราะผมกล้าบอกได้เลยว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่หมอจะไม่ได้ให้การรักษาใดๆ เลย เพียงแต่ว่าการรักษาที่ได้รับนั้น ผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น อาจเกิดจากการวินิจฉัยที่ยังไม่ถูกต้อง หรือเพราะเป็นธรรมชาติของโรคที่กำลังจะดีขึ้น ต้องรอเวลา เป็นต้น

ผมได้ทบทวนประวัติผู้ป่วยรายนี้อย่างละเอียด และการรักษาที่ได้รับมาก่อนที่จะย้ายมารักษากับผม พบว่าอาการเจ็บป่วยทั้งหมดนั้นน่าจะเกิดจากการติดเชื้อวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งแพทย์ก็ได้ทำการตรวจรักษาตามขั้นตอนอย่างละเอียด เริ่มต้นจากการสอบถามประวัติ ตรวจร่างกาย พบว่าน่าจะเกิดจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อ ได้ส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง พบเข้าได้กับการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อวัณโรค แพทย์เริ่มให้ยาต้านวัณโรคทันทีเมื่อวินิจฉัยได้ แต่โรคนี้ต้องใช้เวลาในการตอบสนองต่อการรักษา แต่เพิ่งเริ่มรักษาเพียง 2 วัน อาการผู้ป่วยจึงยังไม่ดีขึ้น

แล้วทำไมลูกชายผู้ป่วยถึงพูดว่าหมอไม่ได้ทำอะไรให้เลย ผมเองก็ไม่มั่นใจในการรับทราบข้อมูลของลูกชายผู้ป่วย เพราะหมอเองก็บอกว่าได้อธิบายให้ญาติทราบแนวทางการรักษาตลอดทุกขั้นตอน แต่ลูกชายผู้ป่วยกลับบอกว่าไม่ทราบอะไรเลย ผมก็เลยได้พูดคุยกับญาติพร้อมๆ กันทุกคน เลยได้ข้อสรุปและคำอธิบายว่าทำไม ลูกชายถึงบอกว่าหมอไม่ทำอะไรให้เลย

1. ลูกชายผู้ป่วยเพิ่งมาเยี่ยมและเฝ้าพ่อวันที่หมอเริ่มให้ยารักษา คือ ตรวจต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว

2. ช่วงแรกนั้นเป็นลูกสาวเฝ้ามาตลอด และหมอได้อธิบายทุกอย่างกับลูกสาว แต่วันที่ลูกชายมาเฝ้าพ่อต่อ สวนทางกับลูกสาวผู้ป่วย เลยไม่ได้คุยกัน ไม่ได้ข้อมูลใดๆ จึงไม่ได้รับข้อมูลใดๆ จากลูกสาวผู้ป่วย แล้วก็ไม่ได้พบหมออีก พอมาเห็นว่าพ่อยังนอนซึม มีไข้ จึงไม่สบายใจ เข้าใจว่าหมอไม่ได้ทำอะไรให้

3. หมอเองก็ได้อธิบายให้รายละเอียดกับลูกสาวผู้ป่วยมาตลอด จึงเข้าใจว่าข้อมูลทั้งหมดน่าจะมีการส่งต่อถึงลูกชายผู้ป่วยด้วย จึงไม่ได้อธิบายให้ลูกชายผู้ป่วยฟังอีก

สุดท้ายผู้ป่วยก็ค่อยๆ ดีขึ้น โดยที่ผมไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติมให้การรักษาต่อจากที่แพทย์ท่านเดิมให้การรักษา แล้วก็อธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นขั้นตอน ยาติทุกคนเข้าใจ ผู้ป่วยก็หายดี ผมจึงอยากเล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนได้รู้ว่า การพูดคุยเป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วผมอยากให้ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยไว้วางใจแพทย์ และทีมรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านด้วยครับ ทุกคนพยายามทำดีที่สุดครับ