นโยบายด้านสุขภาพ
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 23 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
หลังจากที่เรารอเวลานี้มานานหลายปี คนไทยทุกคนสามารถกำหนดอนาคตประเทศไทยได้ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ผมว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพอสมควร เลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองทั้งพรรคเก่า พรรคใหม่ และพรรคเก่าแปลงโฉมใหม่ ผมพยายามศึกษานโยบายด้านสุขภาพของแต่ละพรรค แต่ยังไม่ถูกใจเลย ผมมีความคาดหวังว่าจะมีพรรคการเมืองที่มีนโยบายด้านสุขภาพ สาธารณสุขที่ทำให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการบริบาลด้านสุขภาพที่มีมาตรฐาน ไม่มีความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงการรักษา ผมจึงขอเสนอนโยบายด้านสุขภาพ ดังนี้
1. นโยบายร่วมจ่ายเพื่อให้งบประมาณเพียงพอต่อการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู ขอพูดย้ำอย่างชัดเจนว่าเป็นการร่วมจ่ายก่อนรับบริบาล ไม่ใช่การร่วมจ่ายเมื่อรับการบริบาล เพื่อที่จะได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบการรักษา
2. การรวม 3 กองทุน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนไทยในแต่ละกองทุนให้มีความเท่าเทียมกัน ข้อนี้ผมว่ามีคนจำนวนมากที่ต้องแย้งว่าข้าราชการเป็นผู้เสียภาษีมากกว่า ต้องได้รับการรักษาที่ดีกว่า ผมก็ขอพูดย้ำอย่างชัดเจนอีกครั้งว่า คนไทยทุกคนเสียภาษีครับ เงินภาษีที่มีมูลค่าสูงคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ต่างหากที่เป็นฐานใหญ่ของเงินภาษีที่นำมาใช้พัฒนาประเทศไทย ดังนั้นการรวม 3 กองทุน เพื่อให้คนไทยทุกคนไม่มีความเหลื่อมล้ำกัน คนไทยทุกคนต้องมีศักดิ์ศรีเหมือนกันไม่ว่าจะยาก ดี มี จน และต้องได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้มีชีวิตที่มีคุณภาพ
3. การสร้างจิตสำนึกให้คนไทยมีการดูแลสุขภาพดียิ่งขึ้น และรับผิดชอบต่อตนเอง สังคมมากขึ้น โดยกำหนดว่าโรคที่เกิดจากการทำร้ายตนเอง เช่น โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า แอลกอฮอล์ ต้องร่วมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
4. การกำหนดนโยบายด้านสุขภาพให้อยู่ในรัฐธรรมนูญ และเป็นวาระแห่งชาติ จะได้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีต่อประชาชน หรือนำมาเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง นโยบายด้านสุขภาพต้องเป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกชุด ทุกสมัยต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ห้ามนำมาใช้หาเสียง เพราะงบประมาณที่ใช้ก็เป็นเงินงบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นเงินของพรรคการเมือง
5. นำเรื่องสุขภาพมาใส่ลงในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย และพัฒนารูปแบบการเรียนที่ก่อให้เกิดประสบการณ์การนำมาใช้ในชีวิตจริง เพื่อให้คนไทยทุกคนมีความรู้ และตระหนักว่าสุขภาพเป็นเรื่องของคนทุกคน
6. ควบคุมค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนให้มีความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายสูงมากเกินอย่างในปัจจุบัน และไม่ส่งเสริมให้เกิดการหาผลกำไรที่มากเกินความเหมาะสมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน
7. การกำหนดแนวทางการรักษาที่มีความคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการใช้งบประมาณด้านสุขภาพที่สูงเกินความเหมาะสม และงบประมาณของประเทศไทย
8. การส่งเสริมการรักษา และดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อให้คนไทยเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และคุณค่าของความเป็นคน สามารถที่จะเลือกหรือกำหนดได้ว่าตนเองจะเสียชีวิตด้วยวิธีสงบอย่างไร เมื่อไหร่
9. งบประมาณด้านสุขภาพ และการศึกษาควรเป็นหมวดงบประมาณที่ให้ความสำคัญอันดับต้นๆ เพราะจะเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นคง ความก้าวหน้าของประเทศ ประเทศจะเจริญได้คนในประเทศต้องมีสุขภาพที่ดี และการศึกษาที่เยี่ยม จึงจะพัฒนาคนและพัฒนาประเทศได้
ผมมีความหวัง และความฝันที่ต้องการให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี และไม่มีความเหลื่อมล้ำ ผมไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ สิ่งที่เสนอนั้นผมเชื่อมั่นว่าทำได้จริง ถ้าเรามีพรรคการเมืองที่เข้าใจปัญหาด้านสุขภาพ และหวังดีกับคนไทยอย่างจริงใจ