นโยบายด้านสุขภาพ ตอน ตาขอพายายกลับไปตายบ้าน
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 16 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
เหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานที่หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผมไป round ward (รักษาผู้ป่วยที่นอนรักษาในโรงพยาบาล) ตามปกติ เมื่อมาถึงเตียงที่ 15 เป็นผู้ป่วยหญิงสูงอายุ เป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดเฉียบพลันมาถึงโรงพยาบาลเร็ว ให้การรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือด แล้วตอบสนองดีต่อการรักษา อาการหายดีเป็นปกติ ผมจึงได้บอกกับผู้ป่วยไปว่า
“คุณยายครับ อาการคุณยายหายเป็นปกติแล้วนะครับ คุณยายโชคดีมากครับที่มารับการรักษาอย่างรวดเร็ว แล้วก็ได้ผลดีต่อการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ผมจะให้คุณยายกลับบ้านวันนี้นะครับ แล้วจะเขียนใบส่งตัว เพื่อสรุปประวัติการรักษาไปรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน จะได้สะดวกในการรักษาระยะยาว ไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์” ผมพูดจบ คุณตาก็พูดกับผมทันที พร้อมกับที่คุณยายร้องไห้ด้วย ซึ่งผมก็นึกว่าคุณยายดีใจมากจนร้องไห้ แต่ไม่ใช่ครับ “หมอครับ ถ้าหมอจะส่งยายกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลนั้น ตาพายายกลับไปตายที่บ้านดีกว่า ตาไม่พายายไปหาหมอโรงพยาบาลนั้นหรอกครับ ตาไม่พาไปจริงๆ อย่างไรก็ไม่พาไปหรอก”
ผมรู้สึกตกใจอย่างมาก ที่ได้ยินคุณตาพูดอย่างงั้น จึงนิ่งไปชั่วขณะ ตั้งสติแล้วพิจารณาว่า ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ ผมจึงค่อยๆ พูดกับคุณตา และคุณยายใหม่ “คุณตา คุณยายครับ ที่ผมพูดว่าให้คุณยายกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านนั้น ก็เพราะว่าตอนนี้คุณยายหายดีเป็นปกติแล้วครับ เพียงแต่ว่าการรักษาโรคอัมพาตนี้ ต้องรักษาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นใหม่อีก ปกติคุณยายก็รักษาโรคความดันโลหิตสูงที่โรงพยาบาลนี้อยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ที่โรงพยาบาลต้องส่งตัวคุณยายมารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ก็เพราะคุณยายเกิดอาการอัมพาต แขน ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว ซึ่งโรงพยาบาลนั้นรักษาไม่ได้ จึงส่งมารักษาที่นี่อย่างรวดเร็ว แล้วคุณยายก็ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา จนหายดีเป็นปกติ ซึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ก็เพราะโรงพยาบาลแห่งนั้นทำการรักษาเบื้องต้นอย่างดี แล้วให้การประสานงานมาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นอย่างดี ทำให้คุณยายตอบสนองดีต่อการรักษาครับ แล้วที่ต้องส่งกลับไปรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลใกล้บ้านนั้น ก็เพราะโรงพยาบาลนั้นสามารถให้การรักษาได้เหมือนกันอย่างดี ยาที่ใช้รักษาก็มีเหมือนกันหมดทุกอย่าง แล้วผมก็จะวางแผนการรักษาอย่างละเอียด เพื่อให้ทางคุณหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้านให้การรักษาต่อเนื่องอย่างดี เหมือนกับที่รักษาในโรงพยาบาลศรีนครินทร์เลยครับ แต่ว่าสะดวกกว่า ไม่ต้องเดินทาง แล้วยังจะมีทีมหมอ พยาบาลไปเยี่ยมที่บ้านคุณยายด้วยครับ”
เมื่อผมพูดจบครั้งนี้ ดูเหมือนคุณตา คุณยายจะเข้าใจมากขึ้น นิ่งสงบ ดูสีหน้าพอใจมากขึ้น แล้วพูดว่า “ตาต้องขอบคุณคุณหมอและพยาบาลอย่างมากที่ให้การรักษาคุณยายอย่างดี จากอาการอัมพาต จนหายดี ที่ตาพูดว่าจะไม่พายายกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านตามที่หมอแนะนำนั้น ก็เพราะเข้าใจว่าโรงพยาบาลแห่งนั้นไม่สามารถรักษาได้ จึงส่งตัวยายมารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ แล้วทำไมหมอยังจะส่งตัวยายกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนั้นอีก เหมือนให้กลับไปเป็นอัมพาตอีก ถ้าเป็นแบบที่หมออธิบายให้ฟังโดยละเอียดนี้ ตาก็เข้าใจดีขึ้น สบายใจมากขึ้นว่ายายจะได้รับการรักษาที่ดีเหมือนกับที่รักษากับหมอที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์นี้ ขอบคุณมากครับ”
เรื่องนี้ก็จบลงด้วยดี เรื่องนี้สอนให้ผมรู้ว่าการสื่อสารระหว่างหมอกับผู้ป่วย และญาตินั้นสำคัญมากๆ ครับ เราต้องอธิบายทุกอย่างโดยละเอียด และมีเวลามากพอในการพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้การรักษานั้นได้ผลดี แล้วก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราอย่างดี เราเองถ้าไม่สบาย เรายังต้องการรักษากับแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ผู้ป่วยก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าเราสามารถทำให้ทุกรงพยาบาลมีมาตรฐานในการรักษาโรคที่ดีเหมือนกัน มียาเหมือนกัน มีทีมที่สามารถให้การรักษาตามแนวทางที่เหมาะสมเหมือนกัน ผมเชื่อว่าผู้ป่วยก็จะเข้าใจ ยินดีที่จะรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ด้วยความเต็มใจ
คนไข้ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าถ้ามีการส่งตัวมาแล้ว หมายความว่าผู้ป่วยต้องรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลที่ถูกส่งตัวมาตลอดไป ไม่เข้าใจว่าถ้าอาการดีขึ้นแล้ว ก็สามารถกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ตามแผนการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นเราต้องอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจด้วยครับ