นโยบายด้านสุขภาพ ตอน การร่วมจ่ายในบางกรณี
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 22 มกราคม 2564
- Tweet
การรักษาพยาบาลของคนไทยในปัจจุบันนั้นมีหลักประกันสุขภาพครอบคลุมในการรักษาพยาบาลที่มีความจำเป็น ซึ่งการรักษาใดๆ ที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือรายการการรักษาตามสิทธิประโยชน์นั้นสามารถรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถึงแม้ค่ารักษาจะสูงเพียงใดก็ตาม แต่ในอีกด้านหนึ่งค่ารักษา หรือค่ายาที่ไม่ได้มีราคาสูง แต่ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาเอง เช่น วิตะมินราคาถูกๆ เป็นต้น เพราะวิตะมินนั้นไม่อยู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นต้น แล้วกรณีไหนบ้างที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม
1. การรักษาด้วยวิธีการรักษาที่ยังไม่ได้กำหนดให้เป็นรายการรักษาที่หลักประกันสุขภาพครอบคลุมทั้ง 3 สิทธิ์การรักษา หรือครอบคลุมในบางสิทธิ์การรักษาเท่านั้น ทำให้บางสิทธิ์การรักษาต้องจ่ายค่ารักษาเพิ่มเติม
2. การที่ผู้ป่วยเลือกจะใช้ยา หรือวิธีการรักษาที่ไม่ได้อยู่ในรายการที่สิทธิ์การรักษาครอบคลุม ด้วยเหตุผลส่วนตัว
3. การที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือวิธีการรักษาที่สิทธิ์การรักษาครอบคลุม จึงจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยาหรือวิธีที่อยู่นอกสิทธิ์การรักษาครอบคลุม กรณีนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ผลการรักษาที่จะเลือกใช้นอกสิทธิ์นั้นๆ ถ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต ไม่ได้รับการรักษาจะเป็นอันตรายต่อชีวิต ถ้าได้แล้วมีโอกาสหายสูงมากๆ กรณีแบบนี้ก็อาจไม่จำเป็นต้องจ่ายค่ารักษาเพิ่ม แต่ถ้าการรักษานั้นก็ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าจะได้ประโยชน์แน่ๆ และไม่ได้เป็นความจำเป็นจริงๆ แล้วก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ แบบนี้ผู้ป่วยก็อาจต้องจ่ายค่ารักษาเพิ่มเติม
ผมอยากย้ำว่าถ้าการรักษานั้นจำเป็นต่อชีวิต อยู่ในภาวะเร่งด่วน แพทย์ก็จะรีบให้การรักษาเพื่อช่วยชีวิตก่อน ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายก็จะเป็นเรื่องที่คิดกันภายหลังครับ ถ้าผู้ป่วยสามารถจ่ายเพิ่มเติมได้ ผมว่าก็ควรร่วมจ่าย แต่ถ้าไม่สามารถร่วมจ่ายได้ ก็มีระบบของการสังคมสงเคราะห์ต่อไปครับ