นโยบายด้านสุขภาพ ตอนการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

นโยบายด้านสุขภาพ-12

      

นโยบายด้านสุขภาพ ตอนการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่ไม่หาย หรือรุนแรง ผู้ป่วยก็จะพบแพทย์เพื่อให้การดูแลรักษา ซึ่งแพทย์ผู้ให้การรักษานั้นก็มีแพทย์หลากหลายในสาขาต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันนั้นทางการแพทย์มีการศึกษา ฝึกอบรมความเชี่ยวชาญลงลึกไปมาก อาจทำให้ผู้ป่วย หรือประชาชนทั่วไปไม่เข้าใจ ในการพบแพทย์เพื่อให้การรักษาอาการเจ็บป่วย ผมขอเล่าให้ฟังเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครับ

1. แพทย์ทุกคนจต้องเรียนเป็นเวลา 6 ปี หลังจากจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยแบ่งการเรียนเป็น 1-2-3 คือ เรียนในชั้นปีที่ 1 วิชาทั่วไป และเมื่อขึ้นปีที่ 2,3 จะเป็นการเรียนชั้นปรีคลินิก คือการเรียนในวิชาต่างๆ ที่เป็นเนื้อหาในวิชาที่จะนำไปศึกษาต่อในโรคโรคต่างๆ ชั้นคลินิก โดยการเรียนเป็นระบบต่างๆ ของร่างกายเรา เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท เป็นต้น โดยในแต่ละระบบก็จะเริ่มเรียนตั้งแต่การทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กลไกการเกิดโรค โรคต่างๆ การรักษาด้วยยา เป็นต้น หลังจากนั้นขึ้นชั้นคลินิก คือ ปีที่ 4,5 และ 6 ก็จะเรียนในห้องเรียนกับการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยค่อยๆ เพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้นจากปีที่ 4,5 และ 6 หลังจากจบ 6 ปี ก็จะได้ปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต ต้องทำงานให้รัฐนาน 3 ปี โดยเป็นอินเทอร์นในปีที่ 1 ในโรงพยาบาลจังหวัด และปีที่ 2, 3 ในโรงพยาบาลชุมชนในอำเภอต่างๆ ทั่วประเทศไทย

2. เมื่อใช้ทุนครบก็จะมาเรียนต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เช่น อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูตินรีเวช และอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ให้การดูแลสุขภาพคนไทยเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ต่อจากนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้บางส่วนจะศึกษาลงลึกไปอีก เช่น อายุรศาสตร์ระบบประสาท อายุรศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร เราเรียการเรียนแบบนี้ว่าแพทย์ต่อยอด และถ้าจะเรียนต่ออีกก็เป็นเฉพาะโรคเลยครับ เช่น อายุรศาสตร์ระบบประสาทโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น แล้วก็ยังมีการเรียนต่อที่ลงลึกไปอีก เช่น อายุรศาสตร์ระบบประสาทโรคหลอดเลือดสมองตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมอง เป็นต้น

ดังนั้นการพบแพทย์เฉพาะทางนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ครับ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความเหมาะสมในการรักษา ดังนี้

1. เมื่อมีการเจ็บป่วยใดๆ ก็ควรพบแพทย์ที่ใกล้บ้าน หรือแพทย์ประจำที่เราคุ้นเคยรักษากันเป็นประจำ

2. ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาเราว่าอาการไม่ดีขึ้น เพื่อการพิจารณาส่งต่อไปรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

3. เมื่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์ผู้ให้การรักษาก็จะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เฉพาะโรคตามขั้นตอนการรักษาของแพทย์

ผู้ป่วย และญาติควรอธิบายอาการต่างๆ ของผู้ป่วยที่ไม่ดี ให้แพทย์ทราบมากที่สุด เพื่อให้แพทย์ได้ข้อมูลการเจ็บป่วยมากที่สุด จะได้ให้การรักษาได้เหมาะสมที่สุด ผมไม่อยากให้ผู้ป่วยทุกคนคิดว่าต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อยากให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น