การนัดพบหมอของญาติ ทำอย่างไร
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 15 มกราคม 2564
- Tweet
การเข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่นอนรักษาในโรงพยาบาลของญาตินั้น ทางโรงพยาบาลจะมีการกำหนดเป็นเวลาเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบ และไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาลในการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้ทำให้ญาติผู้ป่วยกับแพทย์ผู้ให้การรักษาอาจไม่ได้พูดคุยกันเลย อาจทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารกัน เนื่องจากแพทย์มาดูแลรักษาคนไข้ตั้งแต่เช้าก่อนที่จะไปออกตรวจผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก หรือเข้าห้องผ่าตัด ส่วนการเข้าเยี่ยมก็จะให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ช่วงเที่ยง และช่วงค่ำ ซึ่งหมอเองก็จะมาดูคนไข้ช่วงบ่ายๆ ก่อนเลิกงาน ดังนั้นจะเห็นว่าเวลาของแพทย์กับญาติที่มาเยี่ยมนั้นไม่ตรงกันเลย แล้วถ้าญาติต้องการพบแพทย์ เพื่อสอบถามอาการหรือการดูแลต่อเนื่องจะทำอย่างไร ผมมีคำแนะนำดังนี้
1. ให้สอบถามข้อมูลจากผู้ป่วยว่าอาการเป็นอย่างไร การดูแลรักษาต่อเนื่องนั้นทำอย่างไร ถ้าข้อมูลทุกอย่างที่เราต้องการรู้นั้น ได้รายละเอียดทั้งหมดแล้ว ก็คงไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ครับ
2. ให้สอบถามข้อสงสัยต่างๆ จากพยาบาลที่หอผู้ป่วย ถ้าได้รายละเอียดทั้งหมดแล้ว ก็คงไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ก็ได้ครับ
3. ถ้าต้องการพบแพทย์ เพราะยังไม่ทราบรายละเอียดที่ต้องการทราบ ก็ควรเริ่มต้นจากการสอบถามทางพยาบาลว่าแพทย์จะเข้ามาเยี่ยมผู้ป่วยช่วงเวลาไหน หรือแพทย์สะดวกให้เข้าพบเพื่อสอบถามอาการ ข้อสงสัยต่างๆ เพราะบางครั้งแพทย์อาจจะให้นัดพบที่แผนกผู้ป่วยนอกก็ได้
4. ควรจดบันทึกข้อคำถามที่ต้องการสอบถามไว้ เพื่อที่เวลาพบแพทย์จะได้ไม่ตกหล่นข้อสงสัยไหนไป เพราะบางครั้งแพทย์อาจมีเวลาพบญาติไม่มากนัก
5. ถ้าเวลาที่แพทย์นัดแล้วญาติไม่สะดวกมาพบแพทย์ ก็ควรขอวิธีอื่นๆ ในการสอบถามข้อมูลจากแพทย์ เช่น การโทรศัพท์เข้ามาสอบถามก็ได้ หรือวิธีอื่นๆ แล้วแต่ความสะดวกของญาติ และแพทย์
การพูดคุยกันระหว่างแพทย์ และญาติผู้ป่วยนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะต้องมีการสื่อสารข้อมูลด้านการเจ็บป่วย วิธีการรักษา การดูแลต่อเนื่อง รวมทั้งข้อสงสัยต่างๆ ของญาติ ยิ่งผลการรักษาที่ไม่ดี อาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้นหลังการรักษา ยิ่งต้องพูดคุยระหว่างแพทย์ กับญาติมากยิ่งขึ้น