นิ้วล็อค : กายภาพบำบัด (Physical Therapy for Trigger finger)
- โดย กภ.ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล
- 27 ธันวาคม 2561
- Tweet
- ภาวะนิ้วล็อคในคืออะไร?
- อาการของของภาวะนิ้วล็อคมีอะไรบ้าง?
- การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดของภาวะนิ้วล็อคทำได้อย่างไรบ้าง?
- การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดมีอะไรบ้าง?
- การฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้านทำได้อย่างไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- เอ็นบาดเจ็บ (Tendon injury) เอ็นอักเสบ (Tendinitis) เอ็นเสื่อม (Tendinosis)
- ประคบร้อน (Warm compression) ประคบเย็น (Cold compression)
- โรคข้อ (Joint disease)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- สเตียรอยด์ ยาสเตียรอยด์ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
ภาวะนิ้วล็อคในคืออะไร?
ภาวะนิ้วล็อค(Trigger finger) คือ ภาวะที่เอ็นกล้ามเนื้อและปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการงอนิ้วมืออักเสบ อาจเป็นเพียงนิ้วใดนิ้วหนึ่ง หรือเกิดขึ้นหลายนิ้วได้พร้อมกัน โดยนิ้วที่พบได้บ่อยคือ ‘นิ้วกลาง นิ้วชี้ และนิ้วนาง’ ซึ่งชื่อเรียกในภาษาไทยของภาวะ/อาการนี้มีด้วยกันหลายชื่อ เช่น นิ้วล็อค, นิ้วติดสะดุด, หรือข้อนิ้วติดงอ เป็นต้น
ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า ‘Trigger finger’ เป็นความผิดปรกติของนิ้วมือที่พบได้บ่อย สาเหตุเกิดมาจากการที่เอ็นและปลอกหุ้มเอ็น (A1 pulley) ที่ใช้ในการงอนิ้วมือบริเวณหัวกระดูกฝ่ามือ(Metacarpal bone)ด้านที่ติดกับนิ้วมืออักเสบ และหนาตัวขึ้น จนเกิดเป็นก้อนแข็ง (Nodule) ทำให้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวไปมาไม่สะดวก
โดยทั่วไป สามารพบภาวะนี้ได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 3-4 เท่า และพบมากที่สุดในช่วงอายุ 40-60 ปี พบในมือข้างที่ถนัดเป็นส่วนมาก พบได้บ่อยในผู้ที่ใช้งานมือในลักษณะที่มีแรงกดที่ฝ่ามือ และกำ-แบ มือซ้ำ ๆ เช่น ตัดแต่งกิ่งไม้ ทำงานบ้าน สับหมู ช่างทำผม และผ้ที่เล่นกีฬาเทนนิส และสามารถพบร่วมกับภาวะอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน, โรคข้อรูมาตอยด์, การตั้งครรภ์และหลังตั้งครรภ์ นอกจจากนี้ยังพบได้ตั้งแต่แรกเกิดอีกด้วย (Congenital trigger finger)
โดยอาการสำคัญของนิ้วล็อค คือ
- ขณะงอนิ้วมือข้างที่มีอาการจะมีเสียง “กึก”
- ข้อนิ้วติดแข็งเมื่อกำมือแล้วไม่สามารถเหยียดออกได้ ต้องใช้มืออีกข้างช่วยในการเหยียดนิ้วมือที่ติดแข็งออก
อาการของของภาวะนิ้วล็อคมีอะไรบ้าง?
นอกจากอาการสำคัญที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว นิ้วล็อคยังมีอาการอื่นๆ อีก ดังนี้ เช่น
- ปวดบริเวณโคนนิ้วมือ นิ้วฝืด เหยียดและงอลำบาก
- อาการปวดในช่วงเช้าหลังตื่นนอนมักจะมากกว่าในช่วงเวลาอื่น ๆ
- คลำพบก้อนแข็งบริเวณใต้ผิวหนังของโคนนิ้วที่มีอาการปวด
- ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบวมของฝ่ามือร่วมด้วย
การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดของภาวะนิ้วล็อคทำได้อย่างไรบ้าง?
การตรวจร่างกายในทางกายภาพบำบัดจะพบความผิดปกติแตกต่างกันไปตามระยะของอาการที่ผู้ป่วยมาพบ ซึ่งอาการนิ้วล็อคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้
1. ระยะอักเสบ (Inflammatory phase): ในระยะนี้อาการที่ชัดเจนที่สุดคืออาการปวดเพียงเท่านั้น อาจตรวจพบการบวมของโคนนิ้วที่ปวดร่วมด้วย ส่วนใหญ่ความผิดปกติของการเคลื่อนไหวนิ้วจะเกิดจากความเจ็บปวดเท่านั้น
2. ระยะที่การเคลื่อนไหวข้อนิ้วฝืดเคือง ( Triggering phase): ในระยะนี้มักตรวจพบความเจ็บปวดร่วมกับการเคลื่อนไหวของนิ้วฝืดเคือง ขณะเคลื่อนไหวอาจมีเสียง “กึก” เกิดขึ้น อาจพบการล็อคแข็งของนิ้วหลังกำมือ แต่เมื่อพยายามเหยียดออกสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องใช้มืออีกข้างช่วย
3. ระยะที่มีการติดแข็งของนิ้ว (Locking phase): ในระยะหลังกำมือเกือบทุกครั้งจะเกิดอาการนิ้วล็อค ที่สำคัญคือไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง ต้องอาศัยมืออีกข้างช่วยเหยียดนิ้วที่ล็อคออก อาการเจ็บปวดยังคงมีอยู่มาก
4. ระยะที่ไม่สามารถเหยียดนิ้วมือได้ (Flexion contracture): ในระยะนี้นิ้วมือที่ล็อคแข็งไม่สามารถเหยียดออกได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ความเจ็บปวดในผู้ป่วยบางรายอาจจะยังคงพบ ในบางรายอาจจะไม่พบอาการเจ็บปวดเลย
ในเบื้องต้น การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะนิ้วล็อคนั้น เริ่มจาก
- การซักถามเกี่ยวกับอาการต่างๆของผู้ป่วย
- หลังจากนั้นนักกายภาพบำบัดอาจขอให้ผู้ป่วยลองกำมือให้ดู
- ถ้ามืการติดของนิ้วมือที่มีอาการผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดนิ้วออกได้ด้วยตนเอง ก็จะเป็นการยืนยันได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะนิ้วล็อคจริง
- แต่ถ้าผู้ป่วยสามารถเหยียดนิ้วออกโดยมีอาการติดขัดของโคนนิ้วมือเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย นักกายภาพบำบัดอาจจะทำการให้แรงกดเบาๆไปยังบริเวณโคนนิ้วที่ผู้ป่วยให้ประวัติว่ามีอาการปวดหรือติดขัด การกดนี้นักกายภาพบำบัดจะสามารถรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของก้อนแข็ง (Nodule) ภายใต้ผิวนังบริเวณโคนนิ้วที่มีอาการได้ ในผู้ป่วยบางรายการกดเบาๆลักษณะนี้ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการนิ้วล็อคอย่างชัดเจนด้วย
การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดมีอะไรบ้าง?
การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการนิ้วล็อค (กายภาพบำบัดในผู้ป่วยนิ้วล็อค/Physical therapy for trigger finger) สามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการรักษาได้ 3 ข้อ คือ
1. เพื่อลดความเจ็บปวด (Pain management): วิธีการจัดการกับความเจ็บปวดทางกายภาพบำบัดมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายไป เช่น
- การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound)
- การใช้อุณหภูมิในการรักษา(Thermal therapy) เช่น การประคบร้อน การประคบเย็น
- การใช้ลำแสงพลังงานสูงเพื่อการรักษา (LASER therapy)
- แต่สำหรับภาวะนิ้วล็อคนั้น วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัดที่เป็นที่นิยมและพบเห็นได้บ่อยที่สุด คือ การแช่พาราฟิน (Paraffin) ซึ่งเป็นการใช้อุณหภูมิความร้อนในการรักษารูปแบบหนึ่ง
- พาราฟินนี้คือสารลักษณะคล้ายขี้ผึ้ง หรือเทียนไข มีลักษณะเป็นของแข็งโดยทั่วไปมีสีขาว มีกลิ่นเฉพาะตัวอ่อนๆ แต่ในบางชนิดได้เพิ่มสารให้ความหอมลงไปด้วย ถูกบรรจุอยู่ในภาชนะลักษณะเป็นถัง มีด้วยกันหลายขนาด ภายในบรรจุพาราฟินที่หลอมละลายแล้ว มีลักษณะเป็นของเหลวใส และถูกควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 50 องศาเซลเซียส(Celsius) ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ใช้ในการรักษา
- นักกายภาพบำบัดขอให้ผู้ป่วยจุ่มมือข้างที่มีอาการลงในถังนี้ โดยฝ่ามือวางในระนาบขนาดกับพื้นจนมิดข้อมือค้างไว้ 3-5 วินาที ยกฝ่ามือขึ้น 10 วินาที หรือจนพาราฟินแห้งสนิท เกาะตัวที่ฝ่ามือและเปลี่ยนเป็นสีขาวเท่ากันทั่วทั้งฝ่ามือ
- ทำขั้นตอนดังกล่าวซ้ำ 10 รอบ
- หลังจากนั้นนักกายภาพจะห่อมือที่ชุบพาราฟินแล้วด้วยผ่าขนหนู และทิ้งไว้15-20 นาที เพื่อให้ความร้อนถ่ายเทไปยังฝ่ามือของผู้ป่วย ด้วยวิธีการนี้จะทำให้มีการไหลเวียนเลือดไปยังบริเวณฝ่ามือมากขึ้น เพิ่มการซ่อมแซมตัวเองของเนื้อเยื้อบริเวณที่มีการอักเสบเรื้อรัง ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณฝ่ามือยืดหยุ่นขึ้น นอกจากนี้สารที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดจะถูกพัดพาเข้าไปยังระบบหมุนเวียนโลหิตของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายกำจัดออกต่อไป
2. เพื่อคงองศาหรือเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว(Maintain and Improve range of motions): การเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวนั้นมีด้วยกันหลายวิธี เช่น
- การยืดกล้ามเนื้อด้วยวิธีการต่าง ๆ
- การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว (Range of motion exercise)
- และการดัดดึงข้อต่อ (Mobilization) ซึ่งถือเป็นวิธีการรักษาที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการนิ้วล็อค การรักษานี้นักกายภาพบำบัดจะใช้มือเท่านั้น ค่อยๆ ดัด ดึง ขยับ ข้อต่าง ๆ ในฝ่ามือ และนิ้วมือ อย่างนุ่มนวล อาจก่อให้เกิดอาการตึงๆเล็กน้อย ถ้ามีอาการเจ็บแปลบ หรือปวดขึ้นจากการรักษาให้รีบแจ้งนักกายภาพบำบัดทันที โดยทั่วไปการรักษานี้อาจใช้เวลา 15-20 นาที แล้วแต่อาการของผู้ป่วย
3. เพื่อให้ความรู้(Education)เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันการกลับไปเป็นซ้ำ: ดังที่กล้าวไว้ข้างต้น นิ้วล็อคในผู้ใหญ่นั้นเป็นภาวะที่เกิดจากการใช้งานมือและนิ้วมือซ้ำๆ อย่างไม่ถูกวิธี นักกายภาพจะให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป ขึ้นกับกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำเป็นประจำ เช่น
- การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน
- การยืดกล้ามเนื้อด้วยตนเองที่บ้าน
- แนะนำให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์พยุงเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของนิ้วและป้องกันอาการปวด
- และแนะนำหลีกเลี่ยงการใช้งานคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
การฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้านทำได้อย่างไรบ้าง?
นิ้วล็อคนั้นเป็นภาวะที่เกิดจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตของผู้ป่วยเอง การหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สามารถทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้มือในท่าทางซ้ำ ๆ เป็นเวลาต่อเนื่อง เช่น การใช้งานสมาร์ท โฟน
- หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมที่ใช้แรงของมือและนิ้วมือมาก ๆ เช่น ใช้ไขควง เจาะพื้น ขุดดิน ควรใส่ถุงมือเพื่อลดการเสียดสีและการกระแทกที่จะนำไปสู่การบาดเจ็บและอักเสบของเอ็นและปลอกหุ้มเอ็น
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องหิ้วของหนัก ถ้าจำเป็นต้องหิ้วควรใช้เครื่องทุ่นแรง หรือใช้ผ้าขนหนูรองฝ่ามือก่อน
- ออกกำลังกายกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือเป็นประจำ เช่น
- การบีบลูกบอลยาง
- การขยำดินน้ำมัน
- เมื่อมีอาการปวดเมื่อย หรือเริ่มเจ็บที่โคนนิ้วมือ สามารถแช่มือข้างนั้นในน้ำอุ่น เป็นเวลา 15-20 นาที วันละ 1-2 รอบ
- สำหรับผู้ที่มีอาการนิ้วล็อคแล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน
- ขณะที่แช่มืออยู่นั้น อาจจะใช้มืออีกข้างช่วยนวดเบาๆไปด้วย และ/หรือ
- อาจจะกำ-แบ มือช้า ๆ เท่าที่ไม่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดก็ได้
ทั้งนี้ หลังจากได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัด แล้วผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจ นักกายภาพบำบัดอาจจะส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อต่อไป เพื่อรับการรักษาด้วยการทานยา(เช่น ยาแก้อักเสบในกลุ่มยาเอ็นเสด), การฉีดยา(เช่น ยาในกลุ่มยาสเตียรอยด์) หรือ การผ่าตัดต่อไป
บรรณานุกรม
- Ordahan b. Karahan Y. A. Efficacy of paraffin wax bath for carpal tunnel syndrome: a randomized comparative study. Int J Biometeorol.2017.61:2175-2178.
- https://www.huachiewtcm.com/content/6250/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%84-trigger-finger [2018,Dec8]
- https://www.firstphysioclinics.com/article/5/%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%885-%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B9%8A%E0%B8%AD%E0%B8%84-trigger-finger [2018,Dec8]