นิโคติน (Nicotine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 มีนาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- นิโคตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- นิโคตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นิโคตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นิโคตินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- นิโคตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้นิโคตินอย่างไร?
- นิโคตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานิโคตินอย่างไร?
- นิโคตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal)
- อะโทรปีน (Atropine)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
บทนำ: คือยาอะไร?
สาร/ยานิโคติน (Nicotine) คือ ยาชนิดหนึ่งที่แพทย์ใช้ช่วยรักษาให้เลิกบุหรี่ ยานี้เป็นสารประเภท Parasympathomimetic alkaloid ที่กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ การได้รับสารนี้เป็นเวลานานต่อเนื่องและในปริมาณมากสามารถก่อให้เกิดการเสพติดและเป็นพิษต่อร่างกายได้(อ่านเพิ่มเติมใน ‘หัวข้อ นิโคตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?)
สารนิโคติน มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเส้นเลือดฝอยใหม่ (Angiogenesis) และนำไปสู่การเกิดเนื้องอกของอวัยวะในร่างกาย นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและ อัลไซเมอร์ (Alzheimer) ได้อีกด้วย การได้รับนิโคตินในปริมาณสูงจะส่งผลต่อการทำงานของ สารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) และจะมีผลให้เกิดฤทธิ์ลดอาการปวดได้เช่นกัน ประโยชน์ทางคลินิกคือ นิโคตินได้ถูกพัฒนาไปเป็นยาสำหรับเลิกบุหรี่ และระบุการใช้เพื่อบรรเทาอาการ ถอนยา/ ลงแดงในผู้บริโภคที่ติดการสูบบุหรี่
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของนิโคตินที่พบเห็นได้จะเป็นลักษณะของ ยาอม, พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง, และหมากฝรั่งที่ใช้เคี้ยวเท่านั้น ห้ามกลืนยาทั้งเม็ด
จากการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของสารนิโคตินในร่างกายพบว่า การดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร/การกิน/อม/เคี้ยวจะน้อยกว่าจากทางเดินหายใจ/การสูดดม เมื่อนิโคตินเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 5% อีกทั้งสามารถซึมผ่านสมอง รก และน้ำนมของมารดา ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมงในการกำจัดปริมาณนิโคติน 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและลมหายใจ
ยานิโคติน จัดเป็นยาอันตราย การใช้รักษาผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่จะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองรวมถึงระบุขนาดและระยะเวลาของการใช้ยานิโคตินที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ต้องการเลิกบุหรี่เป็นรายบุคนไป
นิโคตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยานิโคตินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- ใช้เป็นยาเลิกบุหรี่
นิโคตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยานิโคตินในรูปแบบยาอดบุหรี่คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อสมองให้รับรู้ถึงฤทธิ์ของการสูบบุหรี่ และใช้ยานี้ทดแทนการสูบบุหรี่ จนกระทั่งร่างกายปรับสภาพได้คุ้นเคยต่อการงดบุหรี่โดยที่ร่างกายของผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการถอนยา/การลงแดงจากการอดบุหรี่ให้น้อยที่สุด
นิโคตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยานิโคตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- หมากฝรั่งสำหรับเคี้ยว บรรจุนิโคติน 2 และ 4 มิลลิกรัม/เม็ด
- พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง มีขนาดความแรงนิโคติน 17.5, 35 และ 52.5 มิลลิกรัม/แผ่น
นิโคตินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยานิโคตินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ เช่น
- ผู้ใหญ่:
ก. ยาชนิดหมากฝรั่ง: เคี้ยวหมากฝรั่งนิโคตินขนาด 2 มิลลิกรัม 1 เม็ดเมื่ออยากบุหรี่ ห้ามใช้เกิน 30 เม็ด/วัน หรือเคี้ยวหมากฝรั่งนิโคติน 4 มิลลิกรัม 1 เม็ด/ครั้ง ห้ามใช้เกิน 15 เม็ด/วัน ควรเคี้ยวหมากฝรั่งนิโคตินอย่างน้อย 30 นาทีก่อนคายทิ้ง และสามารถเคี้ยวยานิโคตินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
ข. ยาชนิดพลาสเตอร์ปิดผิวหนัง: ใช้ 1 แผ่น/วันโดยปิดบริเวณผิวหนังที่แห้งไม่มีคราบสกปรก ไม่มีขนรุงรังเช่น สะโพก ลำตัว หรือต้นแขน ในแต่ละวันไม่ควรปิดพลาสเตอร์ซ้ำบริเวณเดิม ให้สลับพื้นที่การปิดพลาสเตอร์บนผิวหนังตามที่แพทย์ระบุ โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกขนาดความแรงของ พลาสเตอร์นิโคตินที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยเป็นกรณีไป รวมถึงกำหนดระยะเวลาการใช้ ตลอดจนการปรับลดขนาดความแรงของพลาสเตอร์นิโคตินตามลำดับ
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยานี้ยังไม่มีข้อมูลถึงผลและผลข้างเคียงจากยาที่ชัดเจนในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กที่รวมถึงในวัยรุ่นจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
******หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยานิโคติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานิโคตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
การใช้ยานิโคตินจะขึ้นกับความต้องการของผู้ที่ติดบุหรี่ หากไม่มีความรู้สึกอยากบุหรี่ก็สามารถหยุดการใช้ยาในแต่ละครั้งได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้ให้การดูแลรักษาเรื่องการอดบุหรี่ จะเป็นผู้ให้คำแนะนำกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
นิโคตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยานิโคตินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ปวดหัว
- รู้สึกหนาวคล้ายเป็นโรคหวัด
- นอนไม่หลับ
- คลื่นไส้
- วิงเวียน
- เจ็บหน้าอก
- ชีพจรเต้นผิดปกติ
- อาหารไม่ย่อย
- วิตกกังวล
- ครองสติได้ไม่ดี
- รู้สึกหิวมากผิดปกติ
- ประจำเดือนขาด/ขาดประจำเดือน (ในสตรี)
- ผื่นคัน
- มีน้ำตาออกมาก
- ช่องปากเป็นแผล
- ระคายคอ
- ไอ
- ปากคอแห้ง
- อวัยวะในระบบทางเดินหายใจอักเสบ
*****อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานิโคตินเกินขนาด จะพบเห็นอาการ เช่น คลื่นไส้, น้ำลายไหลออกมาก, ปวดท้อง, อาเจียน, ท้องเสีย , ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ความดันโลหิตต่ำ, วิงเวียน และอาจเกิดอาการชัก, รู้สึกสับสน, เป็นลม, เหงื่อออกมาก, ในขั้นรุนแรงอาจทำให้ระบบการหายใจหยุดทำงานและตายในที่สุด
ซึ่งหากพบเห็นอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน การช่วยเหลือผู้ป่วย แพทย์จะใช้วิธีล้างท้องและให้รับประทานยาถ่านกำมันต์เพื่อดูดซับพิษของนิโคติน รวมถึงต้องควบคุมสัญญาณชีพของผู้ป่วยให้เป็นปกติ และอาจใช้ยา Atropine เพื่อลดฤทธิ์ของนิโคตินร่วมด้วย
มีข้อควรระวังการใช้นิโคตินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานิโคติน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่ไม่ได้ติดบุหรี่
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์
- การใช้ยานี้ในเด็ก ต้องแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้สั่งใช้ยาเท่านั้น
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว, ผู้ป่วยด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ,และ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยานิโคตินชนิดหมากฝรั่งกับ ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อต่อของขากรรไกรผิดปกติ (Active temporomandibular joint disorder) เพราะจะเกิดปัญหาในการเคี้ยวยา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีช่องทางเดินอาหารส่วนต้นอักเสบ (หลอดอาหารอักเสบ, กระเพาะอาหารอักเสบ) ผู้มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหาร, ผู้ป่วยที่มีภาวะของหลอดเลือดบริเวณสมองผิดปกติ (เช่น อัมพาต/ โรคหลอดเลือดสมอง), ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยที่มีภาวะตับและ/หรือไต ทำงานผิดปกติ, ผู้ป่วยเบาหวาน ,ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยานิโคตินสามารถผ่านเข้าในน้ำนมมารดาได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานิโคตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
นิโคตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานิโคตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยานิโคติน ร่วมกับ ยา Ergotamine และ Dihydroergotamine อาจส่งผลให้หลอดเลือดตีบตัวทำให้การไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ยากขึ้น ส่งผลให้มีอาการผิวซีด, เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง, ปวดกล้ามเนื้อ, อ่อนเพลีย, ปวดหัว, ตาพร่า, ปวดท้อง, เจ็บหน้าอก, หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก, จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยานิโคติน ร่วมกับ ยาลดอาการอยากบุหรี่บางตัว เช่นยา Bupropion อาจเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตสูง, วิงเวียน, สับสน, เจ็บหน้าอก, หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษานิโคตินอย่างไร?
สามารถเก็บยานิโคติน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
นิโคตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานิโคติน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Nicomild-2/Nicomild-4 (นิโคมายด์-2/นิโคมายด์-4) | Millimed |
NicoDerm (นิโคเดิร์ม) | ALZA Corporation |
Nicorette (นิโคเรท) | Johnson & Johnson |
Nicotinell Mint (นิโคทิเนล มินท์) | Novartis |
Nicotinell TTS-10/TTS-20/TTS-30 (นิโคทิเนล ทีทีเอส-10/ทีทีเอส-20/ทีทีเอส-30) | Novartis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nicotine#Toxicology [2021,Feb27]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Nicotinell%20Mint/?type=brief [2021,Feb27]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/nicotine?mtype=generic [2021,Feb27]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/nicotinell%20tts-10-nicotinell%20tts-20-nicotinell%20tts-30/?type=brief [2021,Feb27]
- https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=nicotine [2021,Feb27]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/nicotine-index.html?filter=2&generic_only= [2021,Feb27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nicotine_replacement_therapy [2021,Feb27]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a601084.html [2021,Feb27]