นิเฟคาแลนต์ (Nifekalant)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 เมษายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- นิเฟคาแลนต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- นิเฟคาแลนต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นิเฟคาแลนต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นิเฟคาแลนต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- นิเฟคาแลนต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้นิเฟคาแลนต์อย่างไร?
- นิเฟคาแลนต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานิเฟคาแลนต์อย่างไร?
- นิเฟคาแลนต์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Potassium channel blocker)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อีเคจี อึซีจี (Electrocardiogram หรือ EKG หรือ ECG)
- ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drugs)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ
ยานิเฟคาแลนต์(Nifekalant หรือ Nifekalant hydrochloride หรือ Nifekalant HCL)เป็นยาในกลุ่มโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์(Potassium channel blocker) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว เริ่มใช้ยานี้ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1999(พ.ศ.2542)โดยจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่ายา “Shinbit”
ยานิเฟคาแลนต์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นประเภทยาฉีด โดยมีกลไกชะลอการนำประจุโปแตสเซียม/โพแทสเซียมเข้าสู่เนื้อเยื่อหัวใจในระดับเซลล์ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ไฟฟ้าในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลง แต่หัวใจจะมีแรงบีบตัวได้มากขึ้น
การใช้ยานิเฟคาแลนต์ จะต้องฉีดตัวยาเข้าหลอดเลือดดำ โดยใช้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณขนาดการให้ยา และระหว่างที่มีการใช้ยานี้กับคนไข้แพทย์จะทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเฝ้าระวังการทำงานของหัวใจ ซึ่งการเกิดข้อผิดพลาดของการใช้ยานิเฟคาแลนต์ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม อาจทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผู้ป่วยช้าลง จนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ยานิเฟคาแลนต์ ยังมีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังอยู่บางประการ ที่ผู้บริโภ/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ร่วมกับยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดอื่น การใช้ยาชนิดใดร่วม ในการรักษาต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายประเภทในการที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงยานิเฟคาแลนต์ด้วย
- ยากลุ่มโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ มีผลข้างเคียงบางประการที่ต้องระวัง คือภาวะ Torsades de pointes ที่เป็นกลุ่มอาการหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะจน อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตกะทันหัน ดังนั้นการใช้ยานี้ต้องกระทำในสถานพยาบาล และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ปัจจุบัน เราอาจจะไม่พบเห็นการใช้ยานิเฟคาแลนต์ในประเทศไทยก็จริง แต่ก็มียาทางเลือกของโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ตัวอื่นสำหรับใช้บำบัดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและภาวะหัวใจเต้นเร็ว เช่นยา Amiodarone และ Dronedarone เป็นต้น
นิเฟคาแลนต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยานิเฟคาแลนต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- บำบัดอาการหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว
นิเฟคาแลนต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยานิเฟคาแลนต์คือ ตัวยาจะยับยั้งและชะลอการนำประจุโปแตสเซียม/โพแทสเซียมเข้าสู่เนื้อเยื่อในระดับเซลล์ของหัวใจ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ไฟฟ้า ผลดังกล่าวทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวและเต้นช้าลง ส่งผลให้อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และ/หรือเต้นเร็วทุเลาและดีขึ้น
นิเฟคาแลนต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยานิเฟคาแลนต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น
- ยาฉีด ที่มีส่วนประกอบของ Nifekalant HCl ขนาด 50 มิลลิกรัม/ขวด
นิเฟคาแลนต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยานิเฟคาแลนต์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยใช้เวลาหยดยาประมาณ 5 นาทีเป็นอย่างต่ำ หรือให้ยาตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกด้านความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- การบำบัดด้วยยานี้ จะต้องกระทำในสถานพยาบาล แพทย์จะดูแลผู้ป่วยจนกว่าอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็ว กลับมาเป็นปกติจึงจะให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้
- หลังการใช้ยานิเฟคาแลนต์ แพทย์อาจใช้ยาชนิดรับประทานบางรายการให้ผู้ป่วยนำกลับไปรับประทานต่อที่บ้าน ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์โดยเคร่งครัด
- เมื่ออยู่บ้าน หากรู้สึกเกิดความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ เช่น รู้สึกใจสั่นเหมือน หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็ว ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา นิเฟคาแลนต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆอย่างเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานิเฟคาแลนต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
นิเฟคาแลนต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยานิเฟคาแลนต์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ได้ เช่น มีภาวะหัวใจเต้นช้า คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะ(Torsades de points) และอาจพบอาการทางผิวหนังได้บ้าง เช่น ผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้นิเฟคาแลนต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานิเฟคาแลนต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยน หรือน้ำยามีตะกอน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคปอด โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
- ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งจ่ายเพื่อนำกลับไปรับประทานที่บ้านอย่างต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
- กรณีที่พบอาการแพ้ยานี้ โดยสังเกตจากอาการมีผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม ให้รีบแจ้ง แพทย์/พยาบาล ทันที
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพักผ่อน การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานิเฟคาแลนต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
นิเฟคาแลนต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานิเฟคาแลนต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา นิเฟคาแลนต์ ร่วมกับยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ/ ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะตัวอื่นๆ อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆที่รุนแรงของยานิเฟคาแลนด์ตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษานิเฟคาแลนต์อย่างไร?
ควรเก็บยานิเฟคาแลนต์ภายใต้คำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
นิเฟคาแลนต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานิเฟคาแลนต์ มี่ยาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Shinbit (ชินบิท) | Nihon Schering K.K. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Potassium_channel_blocker[2017,March25]
- http://adisinsight.springer.com/drugs/800000308[2017,March25]
- https://www.drugs.com/international/shinbit.html[2017,March25]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3139038/[2017,March25]
- https://www.pmda.go.jp/files/000153255.pdf[2017,March25]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24389941[2017,March25]
- https://www.wikigenes.org/e/chem/e/4486.html[2017,March25]
- https://www.jstage.jst.go.jp/article/fpj/119/2/119_2_103/_pdf[2017,March25]
- http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S188042760880021X[2017,March25]