นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ (Neurokinin 1 antagonist)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 พฤศจิกายน 2558
- Tweet
- บทนำ
- นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
บทนำ
ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ (Neurokinin 1 antagonist) เป็นกลุ่มของยาใหม่ที่มีคุณสม บัติในการรักษาอาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล และบรรเทาอาการคลื่นไส้-อาเจียน ปัจจุบันมีการใช้ยาบางตัวในกลุ่มนี้เช่น ยา Aprepitant โดยนำมาป้องอาการคลื่นไส้-อาเจียนกับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้ารับยาเคมีบำบัด จุดเริ่มของการพัฒนายาในกลุ่มนี้เริ่มจากนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสารประกอบประเภทโปรตีนในสมองหรือที่เรียกกันว่า Substance P (ย่อว่า SP, สารในสมองที่ทำหน้าที่คล้ายสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอาการเจ็บปวด อาการคลื่นไส้อาเจียน และอารมณ์)ที่อยู่ในกระบวนการถ่ายทอดกระแสประสาทจากสมอง Substance P มีความเกี่ยวพันต่อการควบคุมอารมณ์ ความวิตกกังวล ความเครียด จังหวะการหายใจ อาการคลื่นไส้-อาเจียน รวมถึงความเป็นพิษที่เกิดต่อระบบประสาทของมนุษย์
ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์จะเข้าแทรกแซงและยับยั้งการรวมตัวของ Substance P ไม่ให้เข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ในสมอง จึงเป็นเหตุให้เกิดการปิดกั้นกระแสประสาทที่เป็นคำสั่งที่ไปกระตุ้นอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงส่งผลต่ออารมณ์และต่อความรู้สึกติดตามมา
ในปัจจุบันยังมีการนำยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มาป้องกันอาการคลื่นไส้-อาเจียนหลังจากการผ่าตัดทำให้ยากลุ่มนี้เริ่มแพร่หลายและมีใช้มากขึ้นในเวลาต่อมา
อาจจำแนกตัวอย่างยาในกลุ่มนิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ได้ดังนี้
- Aprepitant: มีใช้ในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้า Emend ใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับยาเคมีบำบัด รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัดโดยการวางยาสลบ ระยะเวลาการใช้ยาอยู่ในช่วง 3 - 4 วัน มีรูปแบบเป็นยารับประทานโดยรับประทานยาเพียงวันละครั้ง ตัวยาสามารถอยู่ในร่างกายได้มากกว่า 9 - 13 ชั่วโมงก่อนที่จะกำจัดออกไปกับอุจจาระเสียเป็นส่วนมาก
- Fosaprepitant: เป็นสารเคมีที่ยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ต้องถูกร่างกายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีไปเป็นตัวยา Aprepitant จึงจะสามารถออกฤทธิ์ได้ ในแถบยุโรปรู้จักกันภายใต้ชื่อการค้าว่า Ivemend แถบอเมริกาจะใช้ชื่อการค้าว่า Emend for injection ใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้-อาเจียนเช่นเดียวกับ Aprepitant รูปแบบยาแผนปัจจุบันจะเป็นยาฉีด
- Casopitant: วางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้า Rezonic และ Zunrisa ถูกพัฒนาโดยบริษัท Glaxo SmithKline ด้วยเหตุผลบางประการยานี้ถูกเพิกถอนการใช้ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552)
- Vestipitant: เป็นยาที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท GlaxoSmithKline ประโยชน์ทางคลินิกนอกจากจะใช้รักษาอาการคลื่นไส้-อาเจียนแล้ว ยังใช้บำบัดอาการหูอื้อ อาการวิตกกังวลและอาการนอนไม่หลับ
- Maropitant: จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Cerenia ถูกพัฒนาโดยบริษัท Zoetis นำไปรักษาอาการคลื่นไส้-อาเจียนในสัตว์เช่น สุนัข
- Lanepitant: เป็นยาที่ยังอยู่ในช่วงทดลองพัฒนาและยังมิได้มีการวางจำหน่ายแต่อย่างใด
อนึ่งถึงแม้ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์จะถูกจัดเป็นกลุ่มยาใหม่ แต่ก็ถือเป็นทางเลือกสำหรับวงการแพทย์ในการใช้ป้องกันการคลื่นไส้-อาเจียนในระยะสั้น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล รวมถึงประโยชน์อื่นที่รอการค้นพบและยืนยันประสิทธิภาพของการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง
นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- ป้องกันอาการคลื่นไส้-อาเจียนในผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาเคมีบำบัด และผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
- บำบัดอาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล
- รักษาอาการหูอื้อ
- อาการนอนไม่หลับ
นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งสารประกอบกลุ่มโปรตีนในสมองที่มีชื่อว่า Substance P ส่งผลให้กระแสประสาทจากสมองไม่สามารถถูกส่งผ่านไปตามอวัยวะต่างๆได้ เกิดการปรับสมดุลเคมีในสมองจนส่งผลต่ออารมณ์ โดยทำให้คลายความวิตกกังวล ความซึมเศร้า ความเครียด ไปจนกระทั่งลดอาการคลื่นไส้-อาเจียน จึงเป็นที่มาของฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาชนิดรับประทานและชนิดยาฉีด
นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
การใช้ยาแต่ละรายการของยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์จะขึ้นกับอาการของผู้ป่วยโดยต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนเกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา/ใช้ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น2 เท่า
อนึ่งกรณีลืมใช้ยานี้ก่อนทำหัตถการทางการแพทย์เช่น การให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้ปรับระยะเวลาการให้ยากับผู้ป่วยจะเป็นการเหมาะสมที่สุด
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยา/ใช้ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ให้ตรงเวลา
นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ มีกรดในกระเพาะอาหารมาก รู้สึกสับสน ปัสสาวะน้อย วิงเวียน ปากแห้ง เป็นลม แสบร้อนกลางอก สะอึก ชีพจรเต้นเร็ว ท้องอืด คลื่นไส้ ปวดท้อง น้ำหนักลด ปวดศีรษะ ช่องปากอักเสบหรือมีอาการบวม ผิวหนังมีรอยย่น ท้องผูก อ่อนเพลีย
มีข้อควรระวังการใช้นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ร่วมกับยาต่อไปนี้เช่น Pimozide, Terfenadine, Astemizole และ Cisapride
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กและผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีโดยไม่ใช่คำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
- ห้ามใช้ยานี้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนชนิดเรื้อรัง
- การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- การใช้ยานี้ควรใช้เพียงระยะสั้นๆภายในสถานพยาบาลเท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยา ทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยา Fosaprepitant ร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ระดับยา Hydrocodone ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยา Hydrocodone เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะกดการหายใจ (หายใจช้า ตื้น เบา จนอาจถึงหยุดหายใจได้) เป็นลม ไปจนถึงขั้นโคม่า หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ Aprepitant ร่วมกับยา Fentanyl อาจทำให้ระดับยา Fentanyl ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยา Fentanyl ติดตามมาเช่น รู้สึกสับสน เป็นลม วิงเวียน ง่วงนอน หัวใจเต้นช้า เพื่อป้องกันอาการดังกล่าวแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
ควรเก็บยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ในอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Emend (อีเมนด์) | MSD |
Emend 115 MG VIAL (อีเมนด์ 115 มิลลิกรัม ไวอัล) | Merck |
Rezonic (เรโซนิก) | GlaxoSmithKline |
Zunrisa (ซันริซา) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/NK1_receptor_antagonist [2015,Nov7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Aprepitant#Mechanism_of_action [2015,Nov7]
- http://www.webmd.com/drugs/2/drug-149985/fosaprepitant-intravenous/details#images/00006388432 [2015,Nov7]
- https://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/e/emend_iv/emend_iv_pi.pdf [2015,Nov7]
- http://www.pubfacts.com/detail/24293756/Efficacy-of-vestipitant-a-neurokinin-1-receptor-antagonist-in-primary-insomnia [2015,Nov7]
- http://www.journalsleep.org/ViewAbstract.aspx?pid=29217 [2015,Nov7]
- file:///C:/Users/apai/Downloads/Article.pdf [2015,Nov7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vestipitant [2015,Nov7]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/a-cof-dh-with-fosaprepitant-1201-8107-2862-0.html [2015,Nov7]
- http://www.medicineandtechnology.com/2009/04/what-do-you-think-about-rezoniczunrisa.html [2015,Nov7]