นิคาร์ดิปีน (Nicardipine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 กุมภาพันธ์ 2559
- Tweet
- บทนำ
- นิคาร์ดิปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- นิคาร์ดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นิคาร์ดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นิคาร์ดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- นิคาร์ดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้นิคาร์ดิปีนอย่างไร?
- นิคาร์ดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานิคาร์ดิปีนอย่างไร?
- นิคาร์ดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ
ยานิคาร์ดิปีน (Nicardipine หรือ Nicardipine hydrochloride หรือ Cardene) เป็นยาในกลุ่ม Calcium channel blockers ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาอาการโรคความดันโลหิตสูงและอาการเจ็บหน้าอกด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีด ทางด้านกลไกการออกฤทธิ์จะเหมือนกับยา Nifedipine Amlodipine, Felodipine ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Calcium channel blockers เช่นกัน
หลังยาเข้าสู่ร่างกาย ปริมาณยานิคาร์ดิปีนมากกว่า 95% จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือด ตับมีหน้าที่คอยเปลี่ยนแปลงและทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง และต้องใช้เวลาประมาณ 8.6 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
การจะเลือกใช้ยานิคาร์ดิปีนเพื่อรักษาความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว โดยมีเงื่อนไขประกอบในการพิจารณาก่อนการใช้ยานี้ดังนี้เช่น
- ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้มาก่อน
- ต้องไม่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ไม่ป่วยด้วยภาวะหลอดเลือดแดงตีบ
ยานิคาร์ดิปีนยังก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่อระบบการทำงานของหัวใจ ต่อระ บบประสาท ต่อระบบทางเดินอาหาร ต่อกล้ามเนื้อ ต่อระบบการหายใจ ผิวหนัง และรวมถึงกระบวน การเผาผลาญพลังงานในร่างกายอีกด้วย
อนึ่งสำหรับอาการข้างเคียงบางอย่างจะเป็นสัญญาณให้ทราบว่าผู้ป่วยไม่เหมาะสมที่จะใช้ยานิคาร์ดิปีน และควรหยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อหลังใช้ยานี้แล้วพบอาการความดันโลหิตต่ำ เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว หรือปวดศีรษะ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานิคาร์ดิปีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุวัตถุประสงค์การใช้ยานิคาร์ดิปีนดังนี้
1. ใช้กับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่เกิดอย่างฉุกเฉิน (Hypertensive emergencies) ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ
2. ใช้เป็นยาแทน (Alternative drug) ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยา Sodium nitroprusside (ยาลดความดันโลหิตสูง) หรือ Glyceryl trinitrate (Nitroglycerin) ได้
ทั้งนี้เราสามารถพบเห็นการใช้ยานิคาร์ดิปีนได้ตามสถานพยาบาลต่างๆและสามารถซื้อหายานิคาร์ดิปีนชนิดรับประทานได้จากร้านขายยาขนาดกลางขึ้นไป
นิคาร์ดิปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยานิคาร์ดิปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris prophylaxis)
- บำบัดรักษาอาการหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)
นิคาร์ดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยานิคาร์ดิปีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยลดประจุไฟฟ้าแคลเซียมที่ถูกนำเข้าในกล้ามเนื้อเรียบซึ่งอยู่ที่ผนังเซลล์ของหลอดเลือดแดง ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวและเป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้เป็นอย่างดี เป็นผลให้ความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติ ลดอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดตามสรรพคุณ
นิคาร์ดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยานิคาร์ดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 40 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาฉีด (หยดเข้าหลอดเลือดดำ) ขนาด 2 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
- ยาฉีด (หยดเข้าหลอดเลือดดำ) ขนาด 10 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร
นิคาร์ดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดการใช้ยานิคาร์ดิปีนขึ้นกับชนิดของภาวะอาการและความรุนแรงของอาการ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดยารับประทานที่ใช้บำบัด รักษาโรคความดันโลหิตสูงและป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือดเท่านั้นเช่น
- ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยานี้ครั้งละ 20 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษารับประทานครั้งละ 20 - 40 มิลลิกรัมวันละ3 ครั้ง ทั้งนี้สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี: ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยในการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้
*อนึ่ง: ขนาดการใช้ยานี้ที่เป็นยาฉีดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาและยาฉีดมักจะถูกใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยานิคาร์ดิปีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยานิคาร์ดิปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยานิคาร์ดิปีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยานิคาร์ดิปีนตรงเวลา
นิคาร์ดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยานิคาร์ดิปีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) กับระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นผิดจังหวะ ค่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG/EKG) ผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงก่ออาการโรคหลอดเลือดสมอง
- ผลต่อระบบประสาท: มีอาการปวดศีรษะ อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น นอนไม่หลับ การได้ยินเสียงผิดปกติ มีภาวะตัวสั่น เวียนศีรษะ การเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ลำบากขึ้น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปากแห้ง ท้องผูก เจ็บคอ
- ผลต่อผิวหนัง: นิคาร์ดิปีนชนิดรับประทานอาจทำให้มีภาวะผื่นคันและเหงื่อออกมากได้
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ
- ผลต่อระบบการหายใจ: อาจมีภาวะจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หายใจลำบาก รวมถึงอาจเกิดภาวะ น้ำท่วมปอด
- ผลต่อสภาวะทางจิตใจ: อาจรู้สึกสับสน กระสับกระส่าย ฝันร้าย ซึมเศร้า และวิตกกังวล
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: ปัสสาวะบ่อย
- ผลต่อระบบเลือด: อาจทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
- ผลต่อตับ: ทำให้ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเปลี่ยนแปลงไป
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: ทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อตา: เกิดอาการตาพร่า การมองเห็นไม่ชัด และเยื่อตาอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้นิคาร์ดิปีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานิคาร์ดิปีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเอง
- ห้ามปรับขนาดรับประทานเองโดยมิได้ปรึกษาแพทย์ผู้รักษา
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงจากเดิม
- ยานี้ออกฤทธิ์เร็วพอประมาณ ความดันโลหิตควรลดลงกลับมาเป็นปกติหลังรับประทานยา 1 - 2 ชั่วโมง
- หากใช้ยานี้แล้วอาการป่วยไม่ดีขึ้นควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดโดยเร็ว
- กรณีมีอาการวิงเวียนหลังการใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆรวมถึงการทำงานกับเครื่องจักรด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- รับประทานยานี้ให้ตรงเวลาและสม่ำเสมอตามคำสั่งของแพทย์
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การพักผ่อน หรือการออกกำลังกาย
- มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานิคาร์ดิปีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
นิคาร์ดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานิคาร์ดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยานิคาร์ดิปีนร่วมกับยา Itraconazole อาจทำให้ระดับยานิคาร์ดิปีนในเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเกิดอาการข้างเคียงตามมาเช่น เกิดอาการบวมน้ำของร่างกาย มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานิคาร์ดิปีนร่วมกับยา Dolasetron (ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน) ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยานิคาร์ดิปีนร่วมกับยา Ibuprofen อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยานิคาร์ดิปีนร่วมกับน้ำผลไม้ประเภท Grapefruit juice ด้วยจะทำให้ระดับของยานิคาร์ดิปีนในเลือดเพิ่มสูงขึ้นและทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดอาการบวมตามร่างกาย เป็นต้น
ควรเก็บรักษานิคาร์ดิปีนอย่างไร?
ควรเก็บยานิคาร์ดิปีนในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
นิคาร์ดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานิคาร์ดิปีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cardepine (คาร์ดีปีน) | Great Eastern |
Nicardipine Aguettant (นิคาร์ดิปีน อะกูตอนต์) | Aguettant |
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Calcium_channel_blocker [2016,Feb6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nicardipine [2016,Feb6]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/38#item-10247 [2016,Feb6]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cardepine/?type=brief [2016,Feb6]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/nicardipine-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Feb6]