นาลอร์ฟีน (Nalorphine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานาลอร์ฟีน (Nalorphine หรือ Nalorphine hydrobrom) หรือในชื่ออื่น N-allylnormorphine เป็นสารประกอบที่มีทธิ์ลดอาการปวดของร่างกาย โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ทั้งแบบ Opioid agonist และ Opioid antagonist นักวิทยาศาสตร์รู้จักยานี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) โดยนำมาใช้เป็นยาต้านพิษ(Antidote)กับผู้ที่ได้รับยากลุ่มโอปิออยด์(Opioid)เกินขนาด(Opioid overdose) ซึ่งในเวลาต่อมาทางการแพทย์ก็ค้นพบยา Naloxone และ ยา Naltrexone ซึ่งมีฤทธิ์เป็น Opioid antagonist เช่นกัน การใช้ยา 2 ตัวหลังจะให้ผลข้างเคียงกับผู้ป่วยน้อยกว่า จึงเป็นเหตุผลให้ยานาลอร์ฟีนถูกจัดให้เป็นยาต้านพิษโอปิออยด์ในลำดับหลังๆ

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานาลอร์ฟีน เป็นแบบยาฉีดที่สามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำก็ได้

ในต่างประเทศยานี้เคยถูกจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Lethidrone และ Nalline และยังไม่มีการจำหน่ายในไทย

นาลอร์ฟีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

นาลอร์ฟีน

ยานาลอร์ฟีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ โดย

  • ใช้เป็นยาต้านพิษของผู้ที่ได้รับยากลุ่มโอปิออยด์เกินขนาด ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการ หายใจไม่ออกเป็นอาการหลัก

นาลอร์ฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มโอปิออยด์มีการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ชนิด mu opioid receptors และมีกลไกเป็นแบบ mu opioid receptor agonists การได้รับยาโอปิออยด์มากเกินไปจะส่งผลให้มีภาวะกดการหายใจเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจไม่ออก ยานาลอร์ฟีนจะมีการออกฤทธิ์ต่อต้านยากลุ่มโอปิออยด์ในลักษณะที่เรียกว่า mu opioid receptor antagonist ซึ่งทำให้เกิดฤทธิ์ตรงกันข้ามกับยากลุ่มโอปิออยด์ การได้รับยานาลอร์ฟีนทันเวลา จึงสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ตามสรรพคุณ

นาลอร์ฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานาลอร์ฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาฉีด ที่บรรจุตัวยา Nalorphine hydrobrom ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

นาลอร์ฟีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยานาลอร์ฟีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเพื่อ บำบัดอาการหายใจไม่ออกในผู้ที่ได้รับยากลุ่มโอปิออยด์เกินขนาด เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยานี้ขนาด 5 – 10 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าหลอดเลือดดำ แพทย์อาจต้องให้ยานี้ซ้ำทุก 10 – 15 นาที จนกว่าผู้ป่วยจะกลับมาหายใจได้ตามปกติ และขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม
  • เด็ก: ขนาดยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานาลอร์ฟีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะ ยานาลอร์ฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

นาลอร์ฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานาลอร์ฟีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน
  • ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น อาจมีอาการวิตกกังวลหรือซึม ประสาทหลอน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น แขนขาอ่อนแรง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจไม่ออก
  • ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาเล็กลง

มีข้อควรระวังการใช้นาลอร์ฟีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานาลอร์ฟีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานาลอร์ฟีนกับผู้ที่มี ภาวะติดยา กลุ่มโอปิออยด์ ด้วยการใช้ยาร่วมกัน จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการถอนยาโอปิออยด์แบบเฉียบพลัน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งดื่มสุรามาใหม่ๆ ด้วยจะเกิดการเสริมฤทธิ์กดการหายใจตามมา
  • การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ที่ได้รับการรักษาด้วย ยารักษาโรคหัวใจ
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยานาลอร์ฟีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นาลอร์ฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานาลอร์ฟีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยานาลอร์ฟีนร่วมกับยา Dihydrocodeine, Alfentanil, Fentanyl, Hydrocodone, เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของกลุ่มยาดังกล่าวด้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานาลอร์ฟีนร่วมกับยา Methylnaltrexone ด้วยจะเกิดภาวะ เสริมฤทธิ์ในลักษณะ Opioid antagonism activities ได้มากขึ้น
  • ห้ามใช้ยานาลอร์ฟีนร่วมกับยา Naloxone และ ยาNatrexone เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของ ยาNaloxone และยาNatrexone ลดลง

ควรเก็บรักษานาลอร์ฟีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายานาลอร์ฟีน เช่น

  • สามารถเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

นาลอร์ฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานาลอร์ฟีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Lethidrone (เลทิโดรน) Burroughs Wellcome and Company

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/singapore/drug/info/nalorphine/?type=brief&mtype=generic[2019,July20]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Nalorphine [2019,July20]
  3. https://www.pharmacytimes.com/contributor/jeffrey-fudin/2018/01/opioid-agonists-partial-agonists-antagonists-oh-my[2019,July20]
  4. http://drugcentral.org/drugcard/1877[2019,July20]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB11490[2019,July20]
  6. https://ehive.com/collections/4493/objects/152920/lethidrone-nalorphine-hydrobrom-injection-bp[2019,July20]