นาลอกซีกอล (Naloxegol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานาลอกซีกอล(Naloxegol หรือ Naloxegol oxalate หรือ PEGylated naloxol)เป็นยาประเภทโอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์ (Opioid antagonist) สามารถออกฤทธิ์ที่ลำไส้เพื่อบำบัดอาการท้องผูกที่มีสาเหตุจากการใช้ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เป็นยาเสพติด เช่น ยาในกลุ่มOpioid ยานาลอกซีกอลถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทยา Astra Zeneca ของประเทศกลุ่มยุโรป และได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาชนิดนี้คือยาเม็ดชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเคมีของยานาลอกซีกอลอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6–11 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยที่เหมาะต่อการใช้ยานาลอกซีกอลคือ ผู้ที่ได้รับยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด 4 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำและเกิดอาการท้องผูกจากยาแก้ปวดนั้นต่อเนื่อง และอาการปวดดังกล่าวต้องไม่ได้มีเหตุมาจากโรคมะเร็ง ซึ่งผลข้างเคียงของการใช้ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติดมักทำให้เกิดภาวะท้องผูก ยานาลอกซีกอลจะเข้ามามีบทบาทและช่วยบำบัดอาการท้องผูกดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

อนึ่ง ข้อมูลสำคัญด้านความปลอดภัยของการใช้ยานาลอกซีกอลที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีสภาวะกระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตัน เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง กระเพาะอาหาร ผู้ป่วยเนื้องอกที่ลำไส้
  • ห้ามใช้ยานาลอกซีกอลกับผู้ที่มีอาการท้องเสีย หรือปวดท้อง
  • ห้ามใช้ยาชนิดอื่นใดร่วมกับยานาลอกซีกอลโดยมิได้ปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) อาจยกตัวอย่างยาที่ควรหลีกเลี่ยงใช้ร่วมกับยานาลอกซีกอล อาทิเช่น Imatinib, Isoniazid, Nefazodone, Clarithromycin, Telithromycin, Itraconazole, Ketoconazole, Posaconazole, Voriconazole, Nicardipine, Quinidine, Atazanavir, Boceprevir, Cobicistat, Delavirdine, Fosamprenavir, Indinavir, Nelfinavir, Ritonavir, Saquinavir, Telaprevir
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เพื่อป้องกันมิให้ยานาลอกซีกอลถูกส่งผ่านไปยังตัวทารก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต

สำหรับการใช้ยานาลอกซีกอล แพทย์มักจะสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยรับประทานเพียงวันละ1 ครั้ง และต้องรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง (ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง) กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะกลืนยาลำบาก ให้บดยาเม็ดนาลอกซีกอลให้เป็นผงแล้วผสมกับน้ำประมาณ 120 ซีซี(cc, Cubic cetrimetre) คนให้ยากระจายตัวดีในน้ำ แล้วดื่มจนหมด หากใช้ยานี้ไปแล้ว 3 วัน อาการท้องผูกไม่ดีขึ้น ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง

การใช้ยานาลอกซีกอลยังมีข้อพึงระวังบางประการที่ผู้ป่วย/ญาติต้องเฝ้าสังเกตอาการดังต่อไปนี้ เช่น

  • หากพบว่ามีอาการท้องเสีย หรือปวดท้อง อย่างรุนแรง ขณะที่ใช้ยานี้ จะต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาโรงพยาบาล โยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • กรณีที่ ไตทำงานผิดปกติ แพทย์จะปรับลดปริมาณการใช้ยานาลอกซีกอลลง
  • การใช้ยานาลอกซีกอลเพื่อลดอาการท้องผูกจากการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์/Opioid อาจทำให้มีภาวะถอนยาเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยสามารถสังเกตได้จาก อาการเหงื่อออกมาก มีอาการหนาวสั่น ปวดท้อง วิตกกังวล หาวบ่อยๆ กรณีเกิดมีอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์ประเมินผลดี-ผลเสียของการใช้ยานาลอกซีกอล และอาจต้อง วางแผนการรักษาอาการท้องผูกกันใหม่

นอกจากนี้ ยานาลอกซีกอลยังก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางอย่างที่ต้องเฝ้าระวัง (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ หัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์จากยาฯ) และจัดเป็นยาที่มีอันตรายหากใช้ผิดวิธี ซึ่งสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ในต่างประเทศ ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Movantik”

นาลอกซีกอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

นาลอกซีกอล

ยานาลอกซีกอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการท้องผูก อันมีสาเหตุจากการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์

นาลอกซีกอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานาลอกซีกอล มีกลไกการออกฤทธิ์ที่บริเวณลำไส้ โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Mu-opioid receptor ทำให้ลดอาการท้องผูกจากมีการขับถ่ายเกิดขึ้น

นาลอกซีกอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานาลอกซีกอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Naloxegol 12.5 และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด

นาลอกซีกอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยานาลอกซีกอล มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 25 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ในขณะท้องว่าง และหากมีอาการข้างเคียงจากยานี้ที่สร้างความรำคาญให้ผู้ป่วย แพทย์อาจปรับลดขนาดการใช้ยาลงมาเป็น 12.5 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกในด้านความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ก่อนใช้ยานี้ควรหยุดใช้ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกชนิดอื่นที่รับประทานอยู่ก่อน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา นาลอกซีกอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคทางเดินอาหาร/ลำไส้อุดตัน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานาลอกซีกอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยานาลอกซีกอล สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ เวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในเมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การหยุดรับประทานยานาลอกซีกอล อาจทำให้อาการท้องผูกเกิดกำเริบขึ้นได้

นาลอกซีกอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานาลอกซีกอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง มีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ ท้องอืด อาเจียน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก

มีข้อควรระวังการใช้นาลอกซีกอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานาลอกซีกอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเองและใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • กรณีที่เกิดอาการถอนยาเกิดขึ้น เช่น เหงื่อออก หนาวสั่น ปวดท้อง วิตกกังวล หาวบ่อย ให้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยานาลอกซีกอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นาลอกซีกอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานาลอกซีกอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยานาลอกซีกอลร่วมกับยา Carbamazepine, Rifampin , Mitotane, เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยานาลอกซีกอลด้อยลง
  • ห้ามใช้ยานาลอกซีกอลร่วมกับยา Clarithromycin, Diltiazem, Erythromycin, Itraconazole, Ketoconazole, Methylnaltrexone, Verapamil, เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยานาลอกซีกอลมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยานาลอกซีกอลร่วมกับยา Nefazodone ,Mifepristone, ด้วยจะทำให้ได้รับอาการข้างเคียง/เกิดภาวะถอนยาจากยาแก้ปวด Opioid ที่ใช้อยู่ตามมา

ควรเก็บรักษานาลอกซีกอลอย่างไร?

ควรเก็บยานาลอกซีกอล ในช่วงอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

นาลอกซีกอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานาลอกซีกอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Movantik (โมแวนติค)AstraZeneca Pharmaceuticals LP

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Moventig

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mtm/naloxegol.html[2017,Sept16]
  2. https://www.drugs.com/sfx/naloxegol-side-effects.html[2017,Sept16]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/naloxegol-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Sept16]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Naloxegol [2017,Sept16]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB09049 [2017,Sept16]