นาลมีฟีน (Nalmefene)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 30 พฤศจิกายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- นาลมีฟีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- นาลมีฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นาลมีฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นาลมีฟีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- นาลมีฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้นาลมีฟีนอย่างไร?
- นาลมีฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานาลมีฟีนอย่างไร?
- นาลมีฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์ (Opioid antagonist)
- โอปิออยด์ (Opioid)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- ยาแก้หวัด (Cold medication)
- ยาแก้ไอ (Tips cough)
- ยาแก้ท้องเสีย (Antidiarrhea drugs)
บทนำ
ยานาลมีฟีน (Nalmefene หรือ Nalmefene hydrochloride หรือ Nalmefene HCl หรือ Nalmetrene หรือ Nalmefene hydrochloride dihydrate) เป็นยาในกลุ่มโอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์(Opioid antagonist) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการติดสุราหรือติดสาร/ยาเสพติด สำหรับยานาลมีฟีนชนิดรับประทานจะถูกออกแบบมาใช้บำบัดอาการผู้ติดสุรา ส่วนยาฉีดถูกออกแบบมาบำบัดอาการของผู้ที่ติดยาเสพติด ในบทความนี้จะขอมุ่งประเด็นเรื่องการบำบัดอาการติดสุราเป็นสำคัญ เหตุผลประการหนึ่งที่ทางการแพทย์ให้ความสนใจต่อการใช้ยาเลิกเหล้า/สุราคือ มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากสุราในแถบยุโรปเป็นจำนวนเฉลี่ยมากถึงประมาณ 137,000 คน/ปี การพัฒนายานาลมีฟีนขึ้นมา มีวัตถุประสงค์ต้องการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากสุรา ซึ่งต้องอาศัยการรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจถึงพิษของสุราและรักสุขภาพตนเองมากขึ้นร่วมด้วย สิ่งสำคัญ ผู้บริโภคสุราจะต้องมีความตั้งใจและให้ความร่วมมือในการบำบัดรักษาจึงจะทำให้การเลิกสุราสัมฤทธิ์ผล เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินว่าบุคคลใดมีการดื่มสุราจัดหรือไม่ ถูกแบ่งออกตามเพศของผู้บริโภค “ในบุรุษที่มีการดื่มสุราและทำให้มีปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ในร่างกายมากกว่า 60 กรัม/วัน และมากกว่า 40 กรัมในสตรี” ถือได้ว่ามีการดื่มสุราจัด และจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดสุรา ธรรมชาติของยานาลมีฟีนจะมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมองของมนุษย์ ทำให้ลดอาการอยากดื่มสุรา และส่งผลให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกได้รับความทรมานทางจิตใจเมื่อไม่ได้ดื่มสุรา
ข้อจำกัด-ข้อควรทราบเกี่ยวกับการใช้ยานาลมีฟีนเพื่อบำบัดการติดสุรามีดังนี้ เช่น
- ยานาลมีฟีนไม่มีฤทธิ์เสพติด จึงไม่ทำให้ผู้บริโภค/ผู้ป่วยติดยานาลมีฟีนแทนการติดสุรา
- ห้ามใช้ยานาลมีฟีน หากเคยมีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
- ห้ามใช้ยานาลมีฟีนกรณีเป็นผู้ที่กำลังได้รับยาแก้ปวดประเภทมีฤทธิ์เสพติดอย่าง Morphine หรือ Oxycodone ด้วยจะทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ตามมา
- ห้ามใช้ยานาลมีฟีนกับผู้ที่มี ตับหรือไต ทำงานผิดปกติอย่างรุนแรง ด้วยอวัยวะ ดังกล่าวมีความสำคัญในกระบวนการทำลายโครงสร้างของยานาลมีฟีน และ ช่วยกำจัดยาชนิดนี้ทิ้งออกจากร่างกายทางอุจจาระและทางปัสสาวะ หากตับและไตทำงานได้ไม่เต็มที่จะเกิดการสะสมของยานาลมีฟีนในร่างกายจนอาจก่อให้เกิดผลเสีย(ผลข้างเคียงรุนแรง)ตามมา
- ห้ามใช้ยานาลมีฟีนกรณีที่ผู้บริโภคมีอาการถอนยาของสุราอย่างรุนแรง เช่น การได้ยินหรือมองเห็นสิ่งที่ไม่มีจริงในขณะนั้น หรือจะกล่าวว่ามีอาการประสาทหลอน ตลอดจนมีอาการชัก หรือร่างกายอยู่ในอาการสั่น
- ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ต้องเว้นการใช้ยานาลมีฟีนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด เพราะในกระบวนการผ่าตัดอาจต้องใช้ยาประเภทโอปิออยด์(Opioid)ที่มีฤทธิ์ระงับอาการปวด เพราะยานาลมีฟีนจะออกฤทธิ์ต่อต้านกับยากลุ่มโอปิออยด์ดังกล่าวจนทำให้การใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ไม่เป็นผลสำเร็จ และจะทำให้ผู้ป่วยได้รับความรู้สึกเจ็บปวดจากการผ่าตัดตามมา
- ผู้บริโภคกลุ่มสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) อาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยานาลมีฟีนมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น แพทย์เท่านั้นจึงจะสามารถพิจารณาความเหมาะสมการใช้ยา นาลมีฟีนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานาลมีฟีนกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยาชนิดนี้ต่อกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อย
- การจะรับประทานยาใดๆร่วมกับยานาลมีฟีน ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกันตามมา
โดยทั่วไป ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยานาลมีฟีนจากแพทย์กลับมาใช้บำบัดรักษา แพทย์จะต้องทำการตรวจประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนเริ่มใช้ยานี้ ประกอบกับต้องมีข้อตกลงระหว่างแพทย์และผู้ป่วยในเรื่อง วินัย ความซื่อสัตย์ ความมุ่งมั่นต่อการ ละ-ลด-เลิก การดื่มสุรา
ยานาลมีฟีน ขณะนี้ยังไม่มีการจัดจำหน่ายในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศบางประเทศจะพบเห็นการจำหน่ายยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Selincro และ Revex
นาลมีฟีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร
ยานาลมีฟีนมีสรรคุณ/ข้อบ่งชี้ เป็นยาในกลุ่ม Opioid antagonist ถูกนำมาใช้เป็นยาเลิกสุรา และบำบัดอาการของผู้ที่ติดสาร/ยาเสพติด
นาลมีฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยานาลมีฟีนเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อเรียกว่า Mu-opioid receptor และ Delta-opioid receptor โดยนาลมีฟีนจะแสดงฤทธิ์ต่อต้านสารเสพติดประเภทโอปิออยด์(Opioid) ส่งผลให้สมองลดความพึงพอใจ และความต้องการสารเสพติดต่างๆ เช่น สุรา เฮโรอีน มอร์ฟีน จึงทำให้เป็นที่มาของสรรพคุณ
นาลมีฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยานาลมีฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Nalmefene hydrochloride dihydrate ขนาด 18 มิลลิกรัม/เม็ด เหมาะสำหรับใช้เพื่อเลิกสุรา
- ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Nalmefene hydrochloride ขนาด 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร เหมาะที่จะใช้ในสถานพยาบาลเพื่อบำบัดอาการของผู้ที่ติดสาร/ยาเสพติด
นาลมีฟีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยานาลมีฟีนมีขนาดรับประทานสำหรับบำบัดอาการติดสุรา เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เมื่อมีความอยากดื่มสุราให้รับประทานยานี้ 1 เม็ด ควรรับประทานยานี้ล่วงหน้า 1–2 ชั่วโมงก่อนที่จะเริ่มดื่มสุรา สามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือ หลังอาหารก็ได้ *แต่ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุรา และ*ที่สำคัญ ห้ามรับประทานยานี้เกิน 1 เม็ด/วัน
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในวัยนี้ การใช้ยานี้ในวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- สำหรับผู้ป่วย โรคไต โรคตับ ที่มีอาการไม่รุนแรงมาก ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานแต่อย่างใด
- แพทย์จะติดตามผลการรักษาของยานี้ภายในประมาณ 4 สัปดาห์นับจากวันที่เริ่มใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อบอกเล่าอาการตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานาลมีฟีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยานาลมีฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยานาลมีฟีน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยานาลมีฟีนให้ตรงตามคำแนะนำของแพทย์
นาลมีฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยานาลมีฟีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ตัวสั่น เกิดภาวะหย่อน/ลดการรับรู้ร้อนเย็น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะหลั่งเหงื่อมาก
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอาการนอนไม่หลับ รู้สึกสับสน กระสับกระส่าย ประสาทหลอน สมรรถภาพทางเพศถดถอย
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/เป็นตะคริว
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลดลง
มีข้อควรระวังการใช้นาลมีฟีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานาลมีฟีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มี โรคตับ โรคไต ในระดับที่รุนแรง
- ห้ามใช้กับผู้ที่กำลังมีอาการถอนยา
- ห้ามใช้กับผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดประเภทสาร/ยาเสพติด
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้นานเกิน 1 ปี
- ขณะที่ใช้ยานี้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร จะย้ำเตือนมิให้ผู้ป่วยกลับไปเสพสุรา หรือสาร/ยาเสพติดอีก
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยานาลมีฟีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้อง ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
นาลมีฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานาลมีฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยานาลมีฟีนร่วมกับยากลุ่ม ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด ยาแก้ท้องเสีย และยาแก้ปวดที่มีส่วนประกอบของยาเสพติด อาจทำให้ประสิทธิภาพของยากลุ่มต่างๆดังกล่าวลดน้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยานาลมีฟีนร่วมกับยา Diclofenac, Medroxyprogesterone acetate Fluconazole, Meclofenamic acid, จะทำให้ระดับยานาลมีฟีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อร่างกายผู้ป่วยจากยานาลมีฟีนตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยานาลมีฟีนร่วมกับยา Dexamethasone, Phenobarbital, Rifampicin, Omeprazole อาจทำให้ประสิทธิภาพในการบำบัดอาการเสพติดสุราของยานาลมีฟีนด้อยลงไป เพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษานาลมีฟีนอย่างไร?
ควรเก็บยานาลมีฟีน ตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ ความร้อนและความชื้น
นาลมีฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานาลมีฟีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Selincro (เซลินโคร) | H. Lundbeck A/S |
Revex (รีเวกซ์) | Baxter Healthcare Corporation |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nalmefene [2017,Nov11]
- https://www.drugs.com/cdi/nalmefene.html [2017,Nov11]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4133028/ [2017,Nov11]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/nalmefene/?type=brief&mtype=generic [2017,Nov11]
- http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-_Product_Information/human/002583/WC500140255.pdf [2017,Nov11]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2006/020459s006lbl.pdf [2017,Nov11]
- https://academic.oup.com/ijnp/article/17/4/675/645891/Nalmefene-for-the-treatment-of-alcohol-dependence [2017,Nov11]