นาลบูฟีน (Nalbuphine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานาลบูฟีน(Nalbuphine หรือ Nalbuphine hydrochloride หรือ Nalbuphine HCl)เป็นยาประเภทโอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์(Opioid antagonist) ที่แสดงฤทธิ์เป็นโอปิออยด์ อะโกนิสต์(Opioid agonist)ร่วมด้วย ทางคลินิกใช้ยานาลบูฟีนมาบำบัดรักษาอาการปวดที่มีความรุนแรงระดับปานกลางจนถึงขั้นรุนแรง โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ที่สมองและระบบประสาทจนทำให้หมดความรู้สึกรับรู้อาการเจ็บปวด แพทย์มักให้ยานี้กับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยตัวยานาลบูฟีนจะช่วยทำให้ลดปริมาณการใช้ยาสลบลง รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้ที่พบเห็นคือยาฉีด ซึ่งสามารถฉีดยานี้ เข้าใต้ผิวหนัง เข้ากล้ามเนื้อ รวมเข้าถึงหลอดเลือดดำ โดยเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์

หลังจากได้รับยานาลบูฟีน ตัวยาก็จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-3 นาที และมีระยะเวลาออกฤทธิ์นาน 3-6 ชั่วโมง ยานี้สามารถผ่านรกและน้ำนมมารดาได้ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมากเมื่อจะใช้ยานาลบูฟีนกับสตรีมีครรภ์และสตรีในภาวะให้นมบุตร

ขณะที่ตัวยานาลบูฟีนอยู่ในกระแสเลือด จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 50% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของยานาลบูฟีนอย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ข้อห้ามใช้และข้อควรระวังต่างๆของนาลบูฟีนที่ควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้นาลบูฟีนกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ยานี้สามารถกดการหายใจของร่างกาย จึงไม่เหมาะนำไปใช้กับผู้ป่วยที่เป็น โรคหืด และโรคปอด
  • ยานาลบูฟีนสามารถกระตุ้นสมองและทำให้เกิดอาการชักขึ้นได้ จึงไม่เหมาะกับ ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชักมาก่อน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ด้วยเสี่ยงที่จะเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้ได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ด้วยยานาลบูฟีนอาจทำให้เกิดความดันในกะโหลกศีรษะ/ในสมองสูงขึ้นจนอาจส่งผลให้สมองขาดออกซิเจน แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าสมควรใช้นาลบูฟีนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้หรือหรือไม่
  • ยานาลบูฟีนมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ตลอดจนการควบคุมการเคลื่อนที่ของร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรต่างๆด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ผู้ที่ได้รับยานี้เป็นเวลาต่อเนื่องนานๆ การหยุดใช้ยานี้ทันทีทันใดจะเป็นเหตุ ให้เกิดอาการถอนยาตามมา
  • ทางคลินิก สามารถใช้ยานาลบูฟีนกับเด็กตั้งแต่อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปโดยต้องคำนวณปริมาณการใช้ยาจากน้ำหนักตัวของเด็ก และต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • *การได้รับยานาลบูฟีนเกินขนาด สามารถส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากยาได้รุนแรงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา โดยการใช้ยาNaloxone ฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ/หลอดเลือดดำเพื่อแก้ไขและต้านพิษของยานาลบูฟีน ประกอบกับการให้ออกซิเจนบริสุทธิ์อย่างเพียงพอ การให้สารละลายบางประเภท ทางหลอดเลือดดำรวมถึงการใช้ยาที่กระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือดจะสามารถทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นเวลานานๆเพราะยานาลบูฟีนอาจทำให้เกิดฤทธิ์เสพติด
  • ห้ามใช้ยานาลบูฟีนกับผู้ป่วยที่ได้รับยาบางประเภทภายใน 14 วันที่ผ่านมาเพราะ ยาต่างๆดังกล่าวเหล่านั้น สามารถกระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่าง อาทิ ความดันโลหิตสูง ยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า (เช่นยา Isocarboxazid, Phenelzine ) หรือยารักษาโรคพาร์กินสัน (อย่างเช่นยา Selegiline หรือ Rasagiline)
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆอาจทำให้ฮอร์โมนเพศของผู้ป่วยลดลง และส่งผลให้มภาวะนกเขาไม่ขันในบุรุษ สำหรับสตรีอาจพบอาการประจำเดือนผิดปกติ กรณีดังกล่าวผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยานาลบูฟีนให้เหมาะสมยิ่งขึ้นกับผู้ป่วย
  • กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยานาลบูฟีนกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์เป็นเวลานานจะทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะถอนยาตามมา
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยา Benzodiazepines ด้วยจะทำให้เกิดภาวะสงบประสาท/กดสมอง กดการหายใจ เกิดอาการโคม่า และอาจเสียชีวิตในที่สุด
  • การใช้ยานี้นานเกิน 1 เดือน จะทำให้ต่อมหมวกไตของผู้ป่วยทำงานน้อยกว่าปกติ จนอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไม่มีแรง วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ กรณีนี้แพทย์จะใช้ ยา Corticosteroids มาช่วยบำบัดจนกว่าต่อมหมวกไตจะกลับมาทำงานเป็นปกติ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานาลบูฟีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ เราจึงพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐ-เอกชน และมีการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Nubian”

นาลบูฟีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

นาลบูฟีน

ยานาลบูฟีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาระงับความเจ็บ/ปวด
  • สามารถใช้ร่วมกับยาสลบก่อนผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด

นาลบูฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานาลบูฟีนเป็นยาแก้ปวดประเภททั้ง Opioid agonist และOpioid antagonist ร่วมกัน ตัวยานี้จะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง โดยเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ในสมองที่เรียกว่า โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ (Opioid receptor) ส่งผลทำให้ร่างกายหมดความสามารถรับรู้กระแสประสาทความรู้สึกเจ็บปวด ส่งผลช่วยสงบประสาทและเกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

นาลบูฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานาลบูฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่มีส่วนประกอบของ Nalbuphine HCl ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

นาลบูฟีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยานาลบูฟีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับบำบัดอาการปวดระดับปานกลางและระดับรุนแรง:

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปี: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม ทุกๆ 3 – 6 ชั่วโมง ห้ามฉีดยาให้ผู้ป่วยเกิน 20 มิลลิกรัม/ครั้ง โดยขนาดการใช้ยาสูงสุดห้ามเกิน 160 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 1 ปี ถึงอายุ18 ปี: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาด 0.1–0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้

ข. สำหรับใช้ร่วมกับยาสลบ:

  • ผู้ใหญ่: ให้ยาเข้าทางหลอดเลือดดำขนาด 0.3– 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยใช้เวลา 10–15 นาทีในการให้ยา ขนาดการใช้ยาเพื่อคงระดับการบำบัดอาการปวด อยู่ที่ 0.25 – 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยให้ยาเพียงครั้งเดียว แต่หากจำเป็นแพทย์อาจให้ยาซ้ำ
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับเด็กในกรณีใช้ร่วมกับยาสลบ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานาลบูฟีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหืด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานาลบูฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

นาลบูฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานาลบูฟีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง หัวใจเต้นเร็ว หรือไม่ก็หัวใจเต้นช้าลง
  • ผลต่อระบบประสาท เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน กระสับกระส่าย ซึม เคลิบเคลิ้ม ฝันร้าย ประสาทหลอน ตัวชา/อาการชาตามเนื้อตัว
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น กดการหายใจจนอาจเกิดภาวะหยุดหายใจ มีภาวะหอบหืด
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง
  • ผลต่อผิวหนัง เช่น ผิวหนังรู้สึกแสบคัน เกิดลมพิษ
  • ผลต่อตา เช่น มีอาการตาพร่า

มีข้อควรระวังการใช้นาลบูฟีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานาลบูฟีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • หลังจากได้รับยานาลบูฟีน ห้ามผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีฝุ่นผงในน้ำยา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้นานเกินจำเป็น ด้วยเป็นยาที่มีฤทธิ์เป็นยาเสพติด
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยานาลบูฟีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นาลบูฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานาลบูฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานาลบูฟีนร่วมกับยาPhenothiazine เพราะจะทำให้เกิดภาวะ กดประสาทส่วนกลางของผู้ป่วยตามมา
  • ห้ามใช้ยานาลบูฟีนร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้มีอาการข้างเคียงตามมา เช่น ง่วงนอนอย่างรุนแรง วิงเวียน เป็นลม สูญเสียการครองสติ เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยานาลบูฟีนร่วมกับยา Codeine , Diazepam , Phenobarbital เพราะจะ ทำให้เกิดฤทธิ์กดการหายใจ จนอาจเกิดอาการโคม่า และอาจเสียชีวิตในที่สุด

ควรเก็บรักษานาลบูฟีนอย่างไร?

ควรเก็บยานาลบูฟีนภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

นาลบูฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานาลบูฟีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Nubian (นิวเบียน)Bristol-Myers Squibb

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Manfine, Nalfy, Rubuphine

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/nalbuphine/?type=brief&mtype=generic[2017,Oct14]
  2. https://www.drugs.com/cdi/nalbuphine.html[2017,Oct14]
  3. https://www.drugs.com/pro/nalbuphine.html[2017,Oct14]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Nalbuphine#Clinical_pharmacology[2017,Oct14]
  5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/73#item-8521[2017,Oct14]
  6. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2005/018024s040lbl.pdf[2017,Oct14]
  7. https://www.drugs.com/sfx/nalbuphine-side-effects.html[2017,Oct14]