นาฟทิโดรฟูริล (Naftidrofuryl)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานาฟทิโดรฟูริล(Naftidofuryl หรือ Naftidrofuryl oxalate) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ นาโฟรนิล(Nafronyl หรือ Nafronyl oxalate) เป็นยาที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ดีขึ้น จึงทำให้ตัวยานาฟทิโดรฟูริลได้รับการขนานนามว่า เป็นยาที่ช่วยกระตุ้นกระบวนการสันดาปของร่างกาย(Metabolic activator) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานาฟทิโดรฟูริลเป็นยาแบบรับประทาน ยาชนิดนี้สามารถถูฏดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร โดยทั่วไป ยานาฟทิโดรฟูริลในกระแสเลือดจะถูกส่งไปทำลายที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

ด้วยกลไกการทำงานของยานาฟทิโดรฟูริลที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปตามอวัยวะต่างๆที่มีปัญหาขาดการหล่อเลี้ยงจากเลือด ยานาฟทิโดรฟูริลจะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายได้รับออกซิเจนที่ถูกลำเลียงโดยเลือดอย่างเต็มที่ และเป็นเหตุผลให้ทางคลินิก นำยาชนิดนี้มาบำบัดอาการโรคได้หลายประการ อาทิ

  • รักษาอาการปวดน่องด้วยสาเหตุเป็นตะคริว หรือการเกิดตะคริวที่บริเวณขาในช่วงนอนหลับตอนกลางคืน
  • บำบัดอาการปวดขา ขณะอยู่ในท่าพัก(Rest pain) ซึ่งอาจมีสาเหตุจากหลอดเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงบริเวณขาเกิดการตีบหรืออุดตัน
  • บำบัดอาการนิ้วมือ-นิ้วเท้าซีดหรือเป็นสีคล้ำ เมื่อมีสภาพอากาศเย็น
  • รักษาอาการชา อาการเป็นเหน็บชา หรือรู้สึกแสบร้อนในบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ที่เรียกว่า โรค Raynaud’s syndrome
  • บำบัดอาการปวดจากบาดแผลที่ขาหรือที่เท้า
  • ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • รักษาอาการเนื้อเน่าตายของร่างกาย(Gangrene)
  • บำบัดอาการโรคหลอดเลือดสมอง

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยานาฟทิโดรฟูริล กับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานาฟทิโดรฟูริล
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีนิ่วในไต หรือมีปัญหาปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคตับ
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยเด็ก ด้วยกลไกและอวัยวะต่างๆที่ใช้ในการทำลายและขับยานี้ทิ้ง อย่าง ตับ ไต ยังเจริญไม่เต็มที่

การใช้ยานาฟทิโดรฟูริลให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ อาจต้องใช้ยานี้ติดต่อกัน 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ การหยุดใช้ยานี้กะทันหัน อาจทำให้อาการโรคกลับมาเป็นรุนแรงเหมือนเดิม

*กรณีมีข้อผิดพลาดทำให้ผู้ป่วยได้รับยานาฟทิโดรฟูริลเกินขนาด จะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ และอาจมีอาการชักตามมา กรณีนี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

ยานาฟทิโดรฟูริล เป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น และเราสามารถพบเห็นการใช้การจัดจำหน่ายยานี้ได้ตามสถานพยาบาล และร้านขายยาขนาดใหญ่ ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ที่ตรวจรักษาหรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป

นาฟทิโดรฟูริลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

นาฟทิโดรฟูริล

ยานาฟทิโดรฟูริลเป็นยาที่เพิ่มการไหลเวียนเลือดให้ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกาย ทางคลินิกได้นำยานี้มารักษาอาการ:

  • โรคหลอดเลือดสมอง(Cerebrovascular disorder)
  • โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย/ส่วนแขน-ขา ตีบ(Peripheral vascular disease) หรืออาการปวดขาเป็นระยะเหตุขาดเลือด(Intermittent claudication)

นาฟทิโดรฟูริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานาฟทิโดรฟูริลมีกลไกออกฤทธิ์ต่อผนังหลอดเลือดที่บริเวณตัวรับ(Receptor) ชนิด 5-HT2 หรือ 5-Hydroxytryptamine 2 receptors (Selective antagonist of 5 HT2 receptors)ส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด จึง ช่วยกระตุ้นให้มีการไหลเวียนโลหิตไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลทำให้เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างพอเพียง ด้วยกลไกเหล่านี้จึงทำให้ลดอาการปวดหรืออาการชาตามปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า บรรเทาอาการเป็นตะคริว นอกจากนี้ยานาฟทิโดรฟูริลยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดในบริเวณสมองทำให้อาการสมองขาดเลือดทุเลาลง

นาฟทิโดรฟูริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานาฟทิโดรฟูริลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยาNaftidofuryl oxalate ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล

นาฟทิโดรฟูริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยานาฟทิโดรฟูริล มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. บำบัดอาการหลอดเลือดส่วนปลาย/แขน-ขาตีบ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 100–200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหาร

ข. บรรเทาอาการหลอดเลือดในสมองตีบหรืออุดตันจากโรคหลอดเลือดสมอง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหาร

อนึ่ง:

  • การรับประทานยาชนิดนี้/ยานี้ต้องดื่มน้ำตามเป็นปริมาณที่มากเพียงพอ การดื่มน้ำน้อยเกินไปพร้อมกับยานี้ จะทำให้มีภาวะคออักเสบตามมา
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานาฟทิโดรฟูริล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานาฟทิโดรฟูริลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยานาฟทิโดรฟูริล สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

นาฟทิโดรฟูริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานาฟทิโดรฟูริลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง คออักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีอาการผื่นคัน
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ตับวาย
  • ผลต่อไต:เช่น เกิดนิ่วในไต

มีข้อควรระวังการใช้นาฟทิโดรฟูริลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานาฟทิโดรฟูริล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยานาฟทิโดรฟูริลโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายโดยเฉพาะการตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ดูความผิดปกติของเลือดตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • การใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • หากพบอาการปัสสาวะมีสีคล้ำเข้ม รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่หิวอาหาร/เบื่ออาหาร ปวดท้อง สีอุจจาระซีดจาง ตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าตับของผู้ป่วยเกิดปัญหา/ตับอักเสบ ให้รีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยานาฟทิโดรฟูริลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นาฟทิโดรฟูริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ข้อมูลปฏิกิริยาระหว่างยาของยานาฟทิโดรฟูริลกับยาอื่นๆ ยังไม่ค่อยมีปรากฏบันทึกทางคลินิก อย่างไรก็ตามเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน การจะใช้ยาใดๆร่วมกับยานาฟทิโดรฟูริล ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ควรเก็บรักษานาฟทิโดรฟูริลอย่างไร?

ควรเก็บยานาฟทิโดรฟูริล ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

นาฟทิโดรฟูริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานาฟทิโดรฟูริล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Praxilene (พราซิลีน)Faes Farma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Naftidrofuryl [2017,Dec30]
  2. http://www.mhra.gov.uk/home/groups/spcpil/documents/spcpil/con1421998039422.pdf [2017,Dec30]
  3. http://www.mhra.gov.uk/home/groups/spcpil/documents/spcpil/con1481694053015.pdf [2017,Dec30]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/naftidrofuryl/?type=brief&mtype=generic [2017,Dec30]