นานาสาระ ตอน ทำไมคนไทยถึงมาใช้บริการที่ห้องฉุกเฉิน

นานาสาระกับหมอสมศักดิ์-8


      

      ผมเองเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในภาคอีสานมานานกว่า 28 ปี สิ่งที่เห็นอยู่ทุกวันไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือผู้คนมาใช้บริการที่โรงพยาบาลจำนวนมาก ช่วงเช้าก็จะหนาแน่นที่แผนกผู้ป่วยนอก ช่วงบ่าย ๆ ก็จะเริ่มหนาแน่นที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ยิ่งช่วงค่ำ ๆ ยิ่งหนาแน่นมากขึ้นที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ซึ่งพบว่าผู้ป่วยที่มารับบริการที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินนั้นมากกว่าครึ่งไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่เป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ใช่ฉุกเฉิน เช่น เป็นไข้หวัด ปวดหัว ปวดท้อง ทำแผล รวมทั้งมารับยาเก่า มาฉีดวัคซีน อื่น ๆ อีกมากมาย จนทำให้มีการเรียกขานห้องฉุกเฉิน (Emergency Room : ER อีอาร์) ว่าเป็น ER ที่ย่อมาจาก Everything Room คือทุกสิ่งทุกอย่างก็มาที่แผนก ER หรือแผนกฉุกเฉิน แต่ละโรงพยาบาลก็พยายามที่จะแก้ไขเรื่องนี้ให้ดีขึ้น เพื่อให้ห้องฉุกเฉินเป็นห้องฉุกเฉินจริง ๆ เพื่อการบริการที่ดียิ่งขึ้น ผมมานั่งคิดไตร่ตรองแบบประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการที่ห้องฉุกเฉิน ว่าทำไมเราถึงต้องมาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน ทำไมเราไม่มีทางเลือกอื่น ๆ หรือเปล่า เราอยากมาโรงพยาบาลจริงหรือ ผมมีความรู้สึกดังนี้

      1. ผู้ป่วยไม่มั่นใจว่าอาการผิดปกติที่ตนเองมีนั้นมันเป็นการเจ็บป่วยที่เป็นภาวะฉุกเฉินหรือไม่ ทำให้ต้องมาตรวจที่แผนกฉุกเฉินนอกเวลาราชการ

      2. แล้วทำไมไม่มาตั้งแต่ตอนกลางวัน ก็เพราะว่าตอนเริ่มมีอาการช่วงกลางวันก็พยายามดูแลตนเอง ทานยา พักผ่อนแต่อาการไม่ดีขึ้น พอตกเย็น หรือค่ำ ไม่มั่นใจว่าคืนนี้อาการจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ จึงรีบมาตอนค่ำ ๆ หรือตอนดึก

      3. ผู้ป่วยมีอาการมาตั้งแต่กลางวัน หรือค่อย ๆ เป็นมาหลายวันแล้ว แต่ว่าเพิ่งตัดสินใจว่าจะมาตรวจวันนี้ เวลานี้ เพราะอาการไม่ดีขึ้น และลูก ๆ หรือคนที่พามา ก็เพิ่งจะมีเวลาว่างตอนเย็น ๆ ค่ำ ๆ พอดี จึงเป็นเหตุให้มาที่ห้องฉุกเฉิน

      4. ผู้ป่วยทำงานเป็นผลัด ไม่มีเวลาช่วงกลางวันเลย และที่โรงงาน หรือบริษัทก็ไม่มีแผนกพยาบาลให้ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

      5. การเดินทางที่ใช้เวลานาน กว่าจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาลก็เลยเวลายื่นบัตรตรวจโรคที่แผนกผู้ป่วยนอก เนื่องจากมีเวลาจำกัดในการให้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอก ทำให้เมื่อเดินทางมาถึงก็เลยต้องมาตรวจที่แผนกฉุกเฉิน หรือในกรณีที่เดินทางมาตั้งแต่กลางคืน มาถึงโรงพยาบาลก็ตี 3 ตี 4 ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยมาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน

      6. ในมุมของผู้ป่วยประเมินอาการว่าฉุกเฉิน แต่ทางการแพทย์ประเมินว่าไม่ฉุกเฉิน ปัญหานี้เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะในมุมมองของผู้ป่วย ญาติคงไม่มีความรู้เพียงพอในการประเมินอาการเจ็บป่วยดีเท่าเจ้าหน้าที่

      ผมมีข้อเสนอแนะทีมสุขภาพ เพื่อการจัดการการใช้บริการที่ห้องฉุกเฉินอย่างเหมาะสม ดังนี้

      1. แผนกฉุกเฉินจัดระบบการคัดกรองผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการสื่อสารกับผู้ป่วยอย่างดี เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อคัดกรองแล้วว่าไม่ฉุกเฉิน หรือไม่ด่วนก็ให้การแนะนำว่าการรับบริการที่เหมาะสม ควรทำอย่างไรต่อ อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยไม่สะดวกจริง ๆ ทางโรงพยาบาลก็อาจต้องจัดระบบบริการผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน ไม่เร่งด่วนดังกล่าวอย่างเป็นระบบ

      2. ปรับระบบการบริการผู้ป่วยนอกให้เอื้ออำนวยต่อการใช้บริการของผู้ป่วยนอกมากยิ่งขึ้น เพื่อลดการใช้บริการที่ห้องฉุกเฉิน

      3. ศึกษาถึงสาเหตุของผู้ป่วยที่มารับบริการห้องฉุกเฉินอย่างไม่เหมาะสม ว่ามีเหตุจากอะไร เพื่อให้การแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป

      4. เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้บริการที่ห้องฉุกเฉินที่เหมาะสมว่าควรเป็นอย่างไร ต่อสังคมอย่างเป็นระบบ

      5. การจัดตั้งหน่วยงานให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้บริการที่ห้องฉุกเฉิน เช่น call centre คอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการมารับบริการที่ห้องฉุกเฉินว่าจำเป็นหรือไม่ เช่นให้พยาบาลหรือแพทย์ที่อยู่เวรเป็นผู้ให้คำปรึกษา ก็น่าจะลดการมาใช้บริการได้ส่วนหนึ่ง

      ผมมองว่าถ้าเราในฐานะผู้ให้บริการ บริบาลผู้ป่วยมองปัญหานี้แบบเป็นกลาง ก็น่าจะช่วยหาทางออกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหานี้ได้แน่นอน