นานาสาระ ตอน การร่วมจ่ายทำให้การพบแพทย์ลดลง ?
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 11 ตุลาคม 2562
- Tweet
การรักษาพยาบาลในปัจจุบันของคนไทยด้วยสิทธิการรักษาบัตรทอง และข้าราชการกรณีที่การรักษานั้นอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และรายการของกรมบัญชีกลาง หรือของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิการรักษาดังกล่าวไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเลย ทำให้มีการพูดถึงการร่วมจ่ายของผู้ป่วย เพื่อเป็นการเพิ่มรายรับของโรงพยาบาลอีกทางหนึ่ง ซึ่งการร่วมจ่ายกรณีเจ็บป่วยนี้เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากว่าควรทำ หรือไม่ควรทำ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบพบว่า การร่วมจ่ายส่งผลให้ผู้ป่วยที่มารักษาลดลง ทั้งกลุ่มผู้ป่วยจำเป็นและไม่จำเป็นในการรักษา ผมเองมีความเห็นว่าการร่วมจ่ายมีความจำเป็นจริง ๆ ด้วยเหตุผลดังนี้
1. การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้นทุกคนก็ควรต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นร่วมกัน ตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน และรักษาพยาบาล
2. การมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพนั้น ทำให้คนไทยเกิดความรู้สึกว่าสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องดูแลให้ดี เพราะถ้าเกิดการเจ็บป่วยก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
3. งบประมาณที่ได้จากภาครัฐ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นอาจยังไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลให้การบริการในโรงพยาบาลของภาครัฐนั้นยังไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ ถ้าประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ก็ย่อมทำให้ระบบบริการนั้นดีขึ้น เพราะนอกจากจะมีงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ก็ยังเพิ่มความตะหนักในด้านสุขภาพร่วมด้วย
แล้วจากผลการศึกษาที่พบว่าการร่วมจ่ายทำให้ผู้ป่วยทั้งกลุ่มที่จำเป็นและไม่จำเป็นมาพบแพทย์ลดลง จะทำอย่างไรดี ผมเองมองอีกมุมหนึ่ง คือว่า การร่วมจ่ายก็ทำให้ประชาชนมีความตะหนักมากขึ้นว่าถ้าไม่จำเป็นอย่าไปรับบริการเลยดีกว่า เพราะต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะแต่ก่อนฟรี ไม่ต้องจ่าย ไม่ต้องรับผิดชอบ อยากไปโรงพยาบาลก็ไป แต่ถ้ามีการร่วมจ่ายก็จะเกิดความรู้สึกว่าไม่จำเป็น ก็ไม่ไป ไว้จำเป็นจริงค่อยไปโรงพยาบาล ส่วนที่ไม่ไปโรงพยาบาลถึงแม้ว่าจำเป็น กลุ่มนี้ต่างหากที่เราต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร เราอาจต้องดูจากผลการศึกษาว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ไปพบแพทย์ เช่น ไม่มีความสามารถในการร่วมจ่ายได้ หรือเหตุผลอะไรกันแน่ ถ้ามีคำตอบที่แน่ชัดเราก็จะได้แก้ไขให้ตรงประเด็น ผมลองคิดถึงระบบการร่วมจ่ายว่าจะมีแนวทางแบบไหนบ้างที่จะทำให้เกิดผลกระทบกับกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นแล้วไม่สามารถมาได้ ดังนี้
1. การร่วมจ่ายก่อนรับการบริการ เช่น การคิดภาษีสินค้าหรือการบริการที่ทำลายสุขภาพให้สูงขึ้น เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพมากขึ้น
2. การร่วมจ่ายก่อนรับบริการ เช่น การออมเงินของคนที่มีรายได้ทุกคนในระบบ โดยเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก ๆ เช่น ร้อยละ 0.5 - 1 ของรายรับ เช่น แรงงานในระบบขั้นต่ำ 350 บาทต่อวัน ก็หักเป็นเงินออมเข้าระบบสุขภาพ ประมาณ 2 บาทเป็นต้น ผมเชื่อว่าไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอะไรเลย
3. การร่วมจ่ายก่อนรับบริการ เช่น การจัดตั้งกองทุนในชุมชนเองเพื่อใช้ดูแลด้านสุขภาพ ตัวอย่างการร่วมส่งกองทุนสุขภาพบ้านละ 1 บาทต่อวัน
4. การร่วมจ่ายเมื่อรับบริการโดยการร่วมบริจาค เหมือนกับการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศบางแห่งที่ไม่ได้เก็บค่าเข้าชม แต่มีการตั้งตู้บริจาค แล้วมีการเขียนคำชี้แจงไว้ว่า พิพิธภัณฑ์จะอยู่ได้ ถ้าทุกคนร่วมบริจาคเงินจำนวน 1 ปอนด์ เป็นต้น
5. การร่วมจ่าย 30 บาทเมื่อมารับบริการตามที่เคยมีการร่วมจ่ายในอดีตตั้งแต่เริ่มใช้ระบบบัตรทอง
6. การร่วมจ่ายด้วยวิธีอื่น ๆ อีกที่หน่วยงานเห็นว่ามีความเหมาะสม อิงบนพื้นฐานที่ต้องไม่ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องมารับการรักษาเกิดปัญหาขึ้น ผมมั่นใจว่ามีอีกหลายรูปแบบแน่นอน
การร่วมจ่ายต้องไม่ได้ทำให้คนเจ็บป่วยแล้วไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่เป็นการร่วมรับผิดชอบของคนไทยทุกคนต่อระบบสุขภาพครับ