นานาสาระ ตอน สื่อออนไลน์กับการแพทย์ไทย

นานาสาระกับหมอสมศักดิ์-19


      

      สื่อออนไลน์มีความนิยมอย่างมากในประเทศไทย คนไทยติดอันดับต้น ๆ ของโลกในการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งคนไทยใช้ในทุกโอกาสจริง ๆ ครับ รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งผมเองมีความเห็นว่าน่าจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เพราะอาจเป็นการสร้างความเข้าใจผิด และล่วงละเมิดสิทธิผู้ป่วยด้วย ผมมีข้อสังเกตดังนี้

      1. การใส่รูปผู้ป่วย ผลการตรวจต่าง ๆ หรือภาพเอกซเรย์ที่มีการระบุว่าเป็นใคร มีการเห็นหน้าตาชัดเจน หรือสามารถสืบค้นไปได้ว่าเป็นใคร ต้องระวังในการเผยแพร่ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย อาจเกิดผลเสียหายต่อผู้ป่วยและผู้เผยแพร่

      2. การเล่าเรื่องราวการเจ็บป่วยของผู้ป่วยเพื่อให้ผู้คนที่เห็นในสื่อออนไลน์เกิดความเข้าใจว่าผู้ป่วยมีความเดือดร้อน จึงส่งเงินไปช่วย ซึ่งก็ไม่มั่นใจว่าเป็นจริงหรือไม่ ในกรณีแบบนี้ผมแนะนำว่าควรมีการตรวจสอบให้ดีก่อนโอนเงินไปช่วยครับ

      3. การเล่าเรื่องราวของผู้ป่วยว่าได้รับการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่เหมาะสม ผิดพลาดทำให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสมทำให้มีคนเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น ทำให้แพทย์ผู้ให้การรักษา หรือโรงพยาบาลได้รับความเสียหาย ผมว่าในกรณีแบบนี้ก็เช่นเดียวกัน ผู้อ่านอย่ารีบด่วนเข้าไปให้ความเห็น หรือแชร์ต่อ เพราะท่านอาจได้รับผลกระทบได้ หรือมีความผิดเกิดขึ้นได้

      4. กรณีที่แพทย์นำข้อมูลของผู้ป่วยมาเผยแพร่ไม่ว่าด้วยวัตถุประสงค์อะไร ผมเห็นว่าต้องขออนุญาตผู้ป่วย หรือญาติก่อนเสมอ ถึงแม้จะนำมาเผยแพร่ความรู้ก็ตาม และต้องไม่ให้มีข้อมูลที่สามารถสืบค้นไปได้ว่าคือผู้ป่วยรายใด

      5. ผู้ป่วย หรือญาติอาจเห็นแพทย์ พยาบาลใส่สื่อออนไลน์ขณะปฏิบัติงานนั้น อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าหมอและทีมใช้สื่อไม่เหมาะสม ไม่ถูกเวลา เพราะแพทย์ พยาบาลและทีมสุขภาพกำลังใส่สื่อออนไลน์นั้นในการทำงานรักษาคนไข้ ติดต่อประสานงานตลอดเวลา

      6. การสืบค้นข้อมูลด้านสุขภาพในสื่อออนไลน์นั้น ผมแนะนำว่าต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลดังกล่าว ต้องดูแหล่งของข้อมูล ใครเป็นผูให้ข้อมูล ถึงอย่างไรก็ตามอย่านำข้อมูลนั้นมาใช้วินิจฉัยโรคตนเอง

      การใช้สื่อออนไลน์นั้นมีประโยชน์อย่างมาก ถ้าใช้ได้ถูกต้องครับ