นานาสาระ ตอน เมื่อหมอถูกฟ้อง

นานาสาระกับหมอสมศักดิ์-14


      

      ปัจจุบันการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น ทั้งในส่วนที่โรคเองก็มีปัญหาซับซ้อนมากขึ้น ต้องใช้เทคโนโลยี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น แต่การเข้าถึงของคนไทยยังไม่สามารถทำได้ดีทั้งหมด หรือทำไม่ได้ทุกโรงพยาบาล ระบบการส่งต่อเองยังมีข้อจำกัดบ้างในการรักษา เนื่องจากกองทุนแต่ละกองทุนก็มีแนวทางปฏิบัติเฉพาะ อันอาจส่งผลต่อการรักษาของแพทย์บ้างในบางกรณี แต่ความต้องการของสังคมเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก ทั้งวิธีคิด ความต้องการ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้การรักษากับผู้ป่วย และญาติเปลี่ยนไปจากอดีต เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องหมอมากขึ้น ผมมานั่งทบทวนตนเองว่าเคยถูกฟ้องร้องหรือไม่ พบว่าเคยถูกร้องเรียนถึงอธิการบดี และเคยเกือบเป็นคดีความ 1 ครั้ง ได้ออกโทรทัศน์รายการที่โด่งดังในอดีตด้วย ผมมานั่งคิดวิเคราะห์อย่างละเอียดว่า เราผิดตรงไหน พบว่าเราผิดที่ไม่สามารถรักษาให้ผู้ป่วยหายได้ แล้วเราก็ไม่รู้จริง ๆ ว่าเป็นโรคอะไร ถามว่าเราสมควรผิดหรือไม่ ผมไม่กล้าตัดสินหรอกครับว่าผิดหรือไม่ รู้แต่ว่าเราก็ปรึกษาผู้รู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าเราไปทั่วทั้งประเทศแล้ว ก็ไม่มีแพทย์ท่านไหนบอกเราได้ว่าเป็นอะไร แล้วสุดท้ายก็เสียชีวิต ประเด็นที่สำคัญ คือผู้ป่วยมาด้วยอาการที่ไม่รุนแรง แต่อาการค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเสียชีวิต ผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลนานประมาณ 3 ปีเศษ ค่ารักษาพยาบาลประมาณ 5 ล้านบาท สามารถใช้สิทธิการรักษาบัตรทองได้หมด ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวผมไม่มีความสุขเหมือนปกติ สมองได้แต่คิดว่าชีวิตเราเป็นอย่างไร ถ้าถูกฟ้อง แล้วศาลตัดสินให้เราแพ้คดี ผมไม่กล้าเดินทางไปต่างประเทศที่ต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะไม่รู้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการทรุดลงเมื่อไหร่ แล้วถ้าเราไม่อยู่ในขณะนั้น กลัวว่ายิ่งจะสร้างความไม่พอใจให้ญาติผู้ป่วย พอผู้ป่วยเสียชีวิต ผมก็ต้องไปงานศพ คณะก็ต้องเป็นเจ้าภาพงานศพด้วย ผมมานั่งทบทวนกรณีศึกษาของผม แล้วผมก็มีความเห็นว่า กรณีที่หมอถูกฟ้องแล้วมีข้อดีต่อแนวทางการรักษาผู้ป่วยในอนาคตหรือไม่ อย่างไร

      1. การดูแลผู้ป่วยของแพทย์ก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้น มีแนวทางการป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้ผิดพลาดมากขึ้น คือต้องมีการส่งตรวจต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ปรึกษาหมอผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งก็ดูเหมือนจะดีต่อผู้ป่วยครับ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง คือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมากมาย การดูแลที่อาจล่าช้ามากขึ้น เนื่องจากต้องรอปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เกิดการส่งต่อมารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากขึ้น ทำให้เกิดการแออัดในโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาที่ล่าช้า เช่น การรักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดที่ต้องมารอคิวผ่าตัดในรงพยาบาลขนาดใหญ่แทนที่จะผ่าตัดได้ในโรงพยาบาลชุมชนเหมือนในอดีต

      2. ผู้ป่วยและญาติต้องได้รับผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทั้งค่ารักษาที่เป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ค่าตรวจรักษาที่อยู่นอกสิทธิการรักษา ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเสียเวลาต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่การรักษานั้นก็สามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน แต่แพทย์อาจไม่สะดวกในการรักษา ด้วยเหตุผลที่ไม่ชำนาญในการรักษาโรคนั้น ๆ

      3. ประเทศต้องสูญเสียค่ารักษาพยาบาลในหมวดการตรวจเพิ่มเติมที่มากขึ้น เพราะแพทย์จะต้องส่งตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ มากมายกว่าในอดีต ทั้งในส่วนที่จำเป็นจริง ๆ และเป็นการตรวจเพื่อให้ครบเกณฑ์การวินิจฉัย เพราะเกรงว่าจะถูกฟ้องร้องภายหลังถ้าเกิดผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่ผู้ป่วย และญาติคาดหวังไว้

      4. แพทย์และทีมรักษาพยาบาลจะเกิดความไม่สบายใจในการทำงานตลอดเวลา กังวลใจตลอดว่าผู้ป่วยรายนี้จะฟ้องเราหรือไม่ ทำให้การรักษาต่าง ๆ มีขั้นตอนมากขึ้น ต้องมีทีมบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งก็ทำให้เวลาที่แพทย์ พยาบาล ทีมที่เกี่ยวข้องจะใช้เวลากับการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ต้องมาจัดการงานเอกสารต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด ป้องกันการถูกร้องเรียน หรือฟ้องร้อง

      5. ผู้ป่วยและญาติอาจมีความทุกข์มากขึ้นเมื่อมีการฟ้องร้องหมอ เพราะต้องเป็นคดีความ อาจถูกคนรอบข้างสอบถามว่าทำไมต้องฟ้องหมอ หมอก็รักษาสุดความสามารถแล้ว ไม่กล้าพบหน้าหมอเมื่อเจ็บป่วยในครั้งต่อ ๆ ไป

      ที่ผมพูดมานี้ไม่ใช่ต้องการให้ไม่ให้มีการฟ้องร้องหมอนะครับ แต่อยากให้พูดคุยกันมากขึ้น พยายามทำความเข้าใจกันมากขึ้น อย่าคาดหวังอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ผมว่าต้องเคารพกฎธรรมชาติ คือ การรักษาพยาบาลนั้นก็มีทั้งหาย ไม่หาย และทรุดลงเป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละโรค ทีมผู้ให้การรักษาก็มีความตั้งใจดีในการรักษาให้ผู้ป่วยทุกคนอย่างดี แต่บางครั้งก็เป็นเหตุสุดวิสัย เกินความสามารถของแพทย์ พยาบาล ก็อยากให้เข้าใจกัน ผมเห็นว่าการฟ้องร้องกันนั้นไม่มีใครชนะหรอกครับ แต่ทุกคนแพ้หมดครับ