นานาสาระ ตอน เมื่อแพทย์รักษาไม่หาย ทำไมแพทย์ถึงต้องผิดด้วย ?

นานาสาระกับหมอสมศักดิ์-13


      

      ปัจจุบันทุกคนคงได้เห็นข่าวบ่อย ๆ เกี่ยวกับการฟ้องหมอ ฟ้องโรงพยาบาลเกี่ยวกับการบริการรักษาพยาบาลจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการรักษานั้นไม่ได้ผลดีตามที่ผู้ป่วยและญาติคาดหวังไว้ ผมเองก็เป็นหมอที่เคยถูกร้องเรียนว่าทำไมรักษาคนไข้ไม่หาย ยิ่งรักษายิ่งทรุดลงและเสียชีวิตในที่สุด ผมเองก็เสียใจทุกครั้งที่รักษาผู้ป่วยไม่หาย ไม่เป็นไปตามที่เราหวังไว้ ผมเองรู้สึกเป็นทุกข์ใจที่เห็นข่าวการร้องเรียน ฟ้องร้องหมอทุกครั้ง แล้วก็พยายามทำความเข้าใจผู้ป่วยและญาติ ซึ่งผมพอจะได้ทราบเหตุของการฟ้องร้อง ร้องเรียน ดังนี้

      1. ความไม่เข้าใจกันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ญาติ เนื่องจากมีการพูดคุยกันน้อย ไม่ละเอียดเพียงพอ มีช่องว่างระหว่างการพูดคุยกัน ไม่ได้พูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง

      2. ผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่ผู้ป่วย ญาติคาดหวังไว้ เพราะหวังว่าจะหายดี แต่ไม่หายตามที่คาดหวัง หรืออาจเกิดผลการรักษาที่ไม่คาดคิด เช่น มาคลอดบุตร แต่เกิดปัญหาภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดที่ไม่คาดคิดไว้ ก็ทำให้เกิดปัญหาในการฟ้องร้อง ร้องเรียนได้

      3. การเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เปลี่ยนไปจากในอดีตที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ได้แก่ การรักษาภาวะเจ็บป่วยหายดี ผู้ให้การรักษาได้รับการขอบคุณ ชื่นชม ยกย่องว่าเป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ รักษาไม่หายก็ไม่เป็นไหร ยอมรับผลการรักษาที่ไม่ดีได้ แต่ปัจจุบันนั้น ถ้ารักษาหายถือว่าเป็นหน้าที่ของทีมรักษาอยู่แล้ว ผู้ป่วย ญาติไม่ได้มีความรู้สึกขอบคุณ ชื่นชม ยกย่อง หรือผูกผันใด ๆ กับทีมรักษา แต่ถ้าไม่หายตามที่คาดหวังหรือคาดไว้ ก็จะเป็นเรื่องฟ้องร้องได้ ตรงนี้เป็นปัญหาหลักเลยครับ

      4. ความไม่เข้าใจกันระหว่างทีมผู้ให้การรักษากับผู้ป่วย ญาติในประเด็นระบบการรักษา เนื่องมาจากสังคมยังมีความเข้าใจว่าผลการรักษาที่ไม่ดีนั้นเป็นเพราะสิทธิการรักษาหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิการรักษาประกันสังคม เป็นต้น

      5. การประสานงานที่ไม่ราบรื่นระหว่างการส่งตัวเพื่อการรักษาต่อในโรงพยาบาลจังหวัด เช่น การส่งตัวที่ล่าช้า ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ส่งมาแล้วไม่ได้รับการรักษาตามที่ประสานไว้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการประสานงานไม่ละเอียดเพียงพอ และอาจเกิดจากเหตุสุดวิสัย เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดได้

      6. การเปลี่ยนแปลงของสังคมอีกประการหนึ่ง คือ การรักษาพยาบาล หรือการบริบาล ถูกเข้าใจว่าเป็นการบริการอย่างหนึ่ง ประเด็นนี้ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าตนเป็นผู้รับบริการ แพทย์ พยาบาลและทีมเป็นผู้ให้บริการ ดังนั้นถ้าการให้การรักษาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็จะร้องเรียนได้ว่าการบริการไม่ดีพอ ต้องปรับปรุงแก้ไข เป็นต้น

      7. การเข้าถึงข้อมูลด้านการรักษาโรคต่าง ๆ ทำได้ง่ายจากการสืบค้น ทำให้ผู้ป่วย ญาติสืบค้นข้อมูลด้านตัวโรค การรักษา และถ้าพบว่าการรักษาที่ได้รับนั้นไม่ตรงกับที่ค้นมา ก็จะมีความคิดว่าการรักษาไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ก็คิดที่จะร้องเรียน หรือฟ้องร้องได้

      8. พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ที่รออะไรไม่ค่อยได้ แต่การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐมักต้องรอนาน เมื่อรอนานก็เริ่มที่จะมีประเด็นในการร้องเรียนมากขึ้น

      9. การเปิดบริการของโรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับการบริการของภาครัฐ ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการร้องเรียน รวมทั้งการที่โรงพยาบาลเอกชนมีค่ารักษาพยาบาลสูง ทำให้ผู้ป่วย ญาติเกิดความคาดหวังว่าการรักษานั้นจะต้องดี เลิศหรู เมื่อไม่ได้รับตามที่คาดไว้ ก็เกิดการร้องเรียน

       เมื่อแพทย์ได้รับการร้องเรียน หรือฟ้องร้องกันแล้วสิ่งที่เกิดขึ้น คือ การเสียขวัญ เสียกำลังใจ มีความทุกข์ใจ และเสียเวลาของแพทย์ พยาบาลรวมทั้งการไม่มีความสุขของผู้ป่วย ญาติด้วย ดังนั้นผมว่าทุกฝ่าย คือ ผู้ป่วย ญาติ แพทย์ และทีมสุขภาพควรหันหน้ามาพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย การร้องเรียน การฟ้องร้องไม่ช่วยทำให้สังคมเราดีขึ้นหรอกครับ