นานาสาระตอน ทำไมผู้ป่วยจึงล้นในโรงพยาบาลจังหวัด
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 8 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
ผมเห็นภาพความแออัดของผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ ๆ ในขณะที่โรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กมีผู้ป่วยไม่มากนัก ทำให้ผมมานั่งทบทวนว่าเหตุใดจึงทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมรักษาในโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน พบสาเหตุดังต่อไปนี้
1. โรงพยาบาลใกล้บ้านรักษาไม่หาย เนื่องจากไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง ทำให้ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาต่อในโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์
2. โรงพยาบาลใกล้บ้านไม่มียาที่ใช้รักษา เพราะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
3. คนในพื้นที่ขาดความมั่นใจในโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะเห็นว่าเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
4. การเดินทางในปัจจุบันสะดวกมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยและญาติเลือกในการเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่มากขึ้น
5. แพทย์มีการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดมากขึ้น ด้วยระบบการรักษาในปัจจุบัน เช่น การผ่าตัด การคลอด รวมทั้งการส่งตัวไปเพื่อการตรวจวินิจฉัยมากขึ้น
6. ความต้องการของผู้ป่วยและญาติที่ต้องการให้มีการส่งตัวไปรับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากขึ้น
จริง ๆ แล้วมีความจำเป็นหรือไม่ในการเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ผมเห็นว่าบางส่วนก็มีความจำเป็นจริง ๆ แต่บางส่วนก็ไม่จำเป็น ที่จำเป็น ได้แก่
1. กรณีเกินศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนทั้งในด้านการวินิจฉัย การตรวจเพิ่มเติม การรักษา แบบนี้ก็มีความเหมาะสมในการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่
2. กรณีเริ่มรักษาในโรงพยาบาลชุมชนแล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่เป็นไปตามแผนการรักษา กรณีแบบนี้ก็จำเป็นจริง ๆ
3. กรณีไม่มียาที่จำเป็น ผมว่าถ้าเราสามารถจัดระบบการจัดหายาได้อย่างเหมาะสมก็จะลดการส่งต่อกรณีได้
บางกรณีก็ไม่น่าจะเหมาะสมในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น การไม่ไว้วางใจโรงพยาบาลชุมชน การไม่พอใจในระบบบริการของโรงพยาบาล การที่อยากรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่โดยไม่มีเหตุผล ดังนั้นผมมีความเห็นว่าผู้ป่วยและญาติ หรือแม้กระทั่งผู้บริหารชุมชน ควรมีการพูดคุยกับทางโรงพยาบาลว่า สิ่งที่ชุมชนต้องการให้โรงพยาบาลปรับปรุง พัฒนาโรงพยาบาลให้ตรงตามที่ชุมชนมีความต้องการคืออะไร และทางโรงพยาบาลต้องการให้ชุมชนร่วมมืออย่างไรบ้าง ถ้าเราประสานกันเป็นอย่างดี ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายครับ