นานาสาระ ตอน การสื่อสารกับผู้สูงอายุ

นานาสาระกับคุณหมอสมศักดิ์-4


นานาสาระ ตอน การสื่อสารกับผู้สูงอายุ

ปัจจุบันผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้ป่วยที่ผมให้การรักษานั้นเป็นผู้สูงอายุจำนวนมาก การดูแลผู้ป่วยสูงอายุนั้นมีปัญหาที่พบบ่อย ๆ ได้แก่

1. ผู้สูงอายุมีสมรรถภาพด้านความจำ หรือการทำกิจวัตรประจำวันลดลง ส่งผลให้การดูแลรักษาเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการทานยา เช่น การลืมทานยา การทานยาไม่ตรงเวลา การทานยาไม่ได้ตามขนาดที่แพทย์สั่งการรักษา

2. ผู้สูงอายุอาจมีอาการผิดปกติที่ไม่ชัดเจนแบบผู้ป่วยวัยอื่น ๆ เช่น การมีไข้ ผู้ป่วยก็อาจไม่มีไข้สูงแต่อาจเป็นอุณหภูมิของร่างกายที่ต่ำกว่าปกติ ร่วมกับมีอาการซึมลง ไม่ค่อยพูด เอาแต่นอน เป็นต้น ทำให้ผู้ดูแลไม่สามารถรับรู้ถึงอาการผิดปกติไป ส่งผลให้การรักษาล่าช้า และทำให้มีอาการที่รุนแรงได้

3. ผู้สงอายุอาจไม่ได้ยิน หรือได้ยินข้อความที่แพทย์ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพไม่ชัดเจน ส่งผลให้การดูแลตนเองผิดพลาดไปได้

4. ผู้สูงอายุอาจไม่สามารถเข้าถึงสื่อการให้ความรู้ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การให้ความรู้ผ่านเว็บไซต์ หรือ Facebook, line เป็นต้น รวมทั้งการใช้แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ดังนั้นแพทย์ต้องคิดวางแผนการให้ความรู้ที่เหมาะสมด้วย

5. ผู้สูงอายุมีปัญหาด้านสายตา มองเห็นไม่ชัดเจน ดังนั้นฉลากยา คำแนะนำต่าง ๆ ต้องมีขนาดตัวหนังสือใหญ่ เพื่อให้ผู้สูงอายุมองเห็น และอ่านได้ชัดเจน

6. การนัดหมายเพื่อตรวจรักษาต่อเนื่อง ผู้สูงอายุอาจจำวันนัดไม่ได้ หรือจำได้ แต่ไม่สามารถมาเองได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องมีผู้พามาด้วย จึงทำให้เกิดการผิดนัดได้บ่อย ดังนั้นการนัดหมายต้องถามผู้พามาด้วยว่าสะดวกหรือไม่

7. การเลือกการใช้ยาต่าง ๆ ต้องระมัดระวังยาที่อาจเกิดการตีกันของยา เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวหลายชนิด ทานยาหลากหลายชนิด มีโอกาสเกิดการตีกันของยาสูง หรือยาที่มีผลข้างเคียงง่วงนอน มึนศีรษะ เซ สั่น ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และยาที่ส่งผลต่อความจำที่ลดลงก็ไม่ควรใช้

ดังนั้นการรักษาผู้สูงอายุนั้นต้องมีความละเอียด รอบคอบ และมองให้ครบทุกปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้