นานาสาระ ตอน เมื่อโรคนั้นรักษาไม่หาย

นานาสาระกับคุณหมอสมศักดิ์-34


นานาสาระ ตอน เมื่อโรคนั้นรักษาไม่หาย

“คุณเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้” ผมเชื่อว่าถ้าใครได้ยินประโยคนี้ก็ต้องทรุด ใจสลายแน่นอน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย หรือแม้ระยะแรก ๆ ก็พยายามหาที่พึ่งทางใจ และยังแอบหวังว่าถ้าโชคดี มะเร็งก็อาจหายได้ หรือไม่ก็ชะลออาการของโรคให้รุนแรงน้อยลง ดังนั้นจิตใจที่ดี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีความทุกข์น้อยลง และมีความหวัง มีความสุขในช่วงเวลาที่เหลืออยู่มากขึ้น ดังคำที่ว่า “เราควรเจ็บป่วยทางกายเท่านั้น ต้องไม่ให้เจ็บป่วยทางใจเพิ่มมากขึ้น”

การรักษาอาการเจ็บป่วยใด ๆ ก็ตาม ต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. วิธีการรักษาที่ดี 2. สุขภาพร่างกายของผู้ป่วย และ 3.สุขภาพจิตที่ดี ซึ่งในการรักษาแต่ละโรค แต่ละระยะนั้นอาจมีน้ำหนัก หรือความสำคัญของแต่ละปัจจัยแตกต่างกัน สำหรับมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่าจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ทำไมผู้ป่วยเกือบทุกโรคที่ร้ายแรง รุนแรง รักษาไม่หาย ผู้ป่วยถึงนิยมหาสิ่งต่าง ๆ ที่มาช่วยทำให้จิตใจดีขึ้น มีความหวังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเข้าวัด พึ่งศาสนา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน รวมทั้งการรักษาทางเลือกต่าง ๆ ซึ่งเราจะเห็นในสังคมไทยปัจจุบัน ดังที่เราเห็นข่าวดังในปัจจุบัน

ถึงแม้ผลการศึกษาทางการแพทย์จะยืนยันว่าสมุนไพรที่คนเป็นมะเร็งได้รับแจกจากเจ้าของสูตรฟรีนั้นไม่มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่ผู้ป่วยก็ยังศรัทธา มีความหวังว่าสมุนไพรนั้นยังมีประโยชน์ ก็เพราะว่าผู้ป่วยนั้นหมดหวังจาการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน จึงต้องไปพึ่งสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เช่น การบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งการสรรหา สืบเสาะหาสมุนไพรที่มีคนบอกว่าได้ผล ก็จะนำมาใช้

ผมเป็นหมอผู้รักษาโรคระบบประสาท ไม่ว่าจะเป็นโรคอัมพาต โรคลมชัก โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งโรคที่ไม่มียาแผนปัจจุบันรักษาให้หายได้ ผมก็พบว่าผู้ป่วยของผมจำนวนมากทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร รวมทั้งการบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การรักษากับพระด้วยวิธีที่ไม่น่าจะได้ประโยชน์ แต่ผู้ป่วยเหล่านั้นกลับมีอาการดีขึ้นบางส่วน ผมก็แปลกใจเหมือนกัน

การรักษาโรคที่เรื้อรัง รุนแรง หรือไม่มีการรักษานั้นตั้งแต่อดีตก่อนการแพทย์แผนปัจจุบันจะพัฒนาอย่างดีในปัจจุบัน ผู้ป่วยก็รักษาด้วยการอยู่กับธรรมชาติ และความเชื่อต่าง หรืออาจเรียกว่าภูมิปัญญาของคนในอดีตได้หรือไม่ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้บางส่วนก็มีการสืบทอด และพัฒนามาถึงปัจจุบัน

แล้วถ้าเรามองเฉพาะแพทย์แผนปัจจุบันที่มีการใช้รักษากันอยู่ในปัจจุบันนั้น ยาหรือวิธีการรักษาที่ใช้นั้นพบว่ามีประโยชน์ หรือได้ผลในสัตว์ทดลอง แต่เมื่อนำมาศึกษาต่อทางคลินิระยะที่ 3 ในมนุษย์เมื่อเทียบกับการรักษาที่เป็นมาตรฐานก็ไม่พบประโยชน์ชัดเจน แต่ก็ยังมีการใช้รักษาผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยบางส่วนก็บอกว่าได้ประโยชน์ แพทย์ก็ไม่สามารถหยุดยาหรือการรักษานั้น ๆ ได้ เพราะผู้ป่วยยืนยันว่าได้ประโยชน์ ซึ่งอาจเป็นการตอบสนองเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกับการศึกษาขนาดใหญ่ในผู้ป่วยจำนวนมาก

แล้วเราจะทำอย่างไรดีกับกรณีที่การรักษานั้น ๆ แพทย์แผนปัจจุบันหรือนักวิทยาศาสตร์ศึกษาอย่างเป็นระบบแล้วพบว่าไม่ได้ประโยชน์ หรือแม้ไม่ได้ศึกษาเลย แต่ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งก็ยังใช้ แล้วแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเราจะทำอย่างไร

โดยส่วนตัวผมจะแนะนำผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยว่าสิ่งนั้น ๆ ต้องไม่มีข้อเสียกับร่างกาย ต้องไม่มีผลกระทบต่อการรักษาที่กำลังได้รับจากแพทย์แผนปัจจุบัน และมีค่าใช้จ่ายไม่มาก ไม่ส่งผลต่อฐานะทางการเงินของผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งการรักษานั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการรักษาด้วยวิธีของแพทย์แผนปัจจุบัน

ผมเองมีความเห็นว่าการรักษาโรคนั้นต้องมี 3 ปัจจัยข้างต้นไปพร้อม ๆ กัน คือ ได้แก่ 1. วิธีการรักษาที่ดี 2. สุขภาพร่างกายของผู้ป่วยที่พร้อมในการรักษา และ 3. สุขภาพจิตที่ดี ซึ่งในแต่ละบุคคล หรือแต่ละโรคนั้น แต่ละปัจจัยนั้นอาจมีน้ำหนัก ความสำคัญแตกต่างกัน แต่มั่นใจว่าทั้ง 3 ส่วนนั้นมีความสำคัญ ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้

กำลังใจ และความหวังเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้