นานาสาระ ตอน แพ้ยา ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 8 พฤษภาคม 2563
- Tweet
นานาสาระ ตอน แพ้ยา ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ
การรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยส่วนใหญ่แล้วก็ต้องใช้ยารักษาเกือบทั้งหมด ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่แล้วก็ได้ผลดี คือ หายเป็นปกติ แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่พอได้รับการรักษาด้วยยาแล้วมีผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ เช่น อาการมึนงง ปวดท้อง วิงเวียนศีรษะ ง่วงนอน เป็นต้น แต่ในบางครั้งก็มีโอกาสเกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง เช่น ผื่นลอกทั้งตัวเหมือนถูกไฟไหม้ เป็นทั้งที่ผิวหนัง เยื่อบุในช่องปาก และเยื่อบุตา ก่อให้เกิดอาการอย่างรุนแรง หรือบางรายเกิดอาการตับอักเสบอย่างรุนแรง ก็เป็นไปได้ ซึ่งโอกาสการแพ้ยาแบบรุนแรงนี้ พบได้น้อยมาก อาจประมาณได้ประมาณ 1 ใน 20,000 คนที่มีโอกาสแพ้ยาแบบนี้ แต่ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับใครก็เป็นการเจ็บป่วยที่รุนแรงมาก มีโอกาสเกิดการเสียชีวิตได้ หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้มาก ดังตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นโรคลมชักแบบพฤติกรรมผิดปกติ จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยากันชัก ชื่อ คาร์บามาซีปีน (carbamazepine) แพทย์ก็ได้ให้ยาดังกล่าวกับผู้ป่วยทาน หลังทานได้ประมาณ 2 สัปดาห์ก็เริ่มมีอาการไข้ต่ำ ๆ ผื่นแดง และเป็นปื้นขนาดใหญ่ ต่อมามีการลอกของผิวหนัง เยื่อบุช่องปาก ดวงตา และถ่ายเหลว ไข้สูง ต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งต่อมาผู้ป่วยก็มีผลแทรกซ้อน คือ ตาบอด ผิวหนังติดเชื้อ ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลนานเกือบ 4 เดือน สิ่งที่เกิดปัญหาในการดูแลผู้ป่วยรายนี้ต่อ คือ ใครคือผู้รับผิดชอบต่อการเกิดอาการแพ้ยาดังกล่าวนี้
การแพ้ยานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้ ดังนั้นแพทย์จะสอบถามประวัติการแพ้ยาก่อนเสมอ แต่กรณีเป็นยาที่ไม่เคยได้ใช้มาก่อนนั้น ก็จะไม่มีใครทราบได้ว่าแพ้ยาหรือไม่ ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการตรวจยีนแพ้ยา เพื่อมองหาโอกาสการแพ้ยาล่วงหน้าก่อนก็ตาม แต่การตรวจยีนทำนานการแพ้ยานั้นก็ไม่ได้มีความแม่นยำ 100 % แล้วก็ไม่สามารถตรวจได้ในทุกโรงพยาบาล ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงและต้องใช้เวลารอผลการตรวจดังกล่าว แล้วเราจะทำอย่างไรดี ผมมีข้อเสนอแนะดังนี้
1. ก่อนมีการใช้ยาทุกชนิด หรือทุกการเจ็บป่วย ผู้ป่วยควรมีการบอกพยาบาล เจ้าหน้าที่ หรือระบุในแบบประเมินด้านสุขภาพเกี่ยวกับการแพ้ยา และแพทย์ทุกท่านก็ต้องสอบถามประวัติการแพ้ยาผู้ป่วยทุกครั้งก่อนการให้ยารักษา
2. กรณีที่ผู้ป่วยเคยมีประวัติการแพ้ยา ต้องพยายามหาชื่อยาให้ได้ เช่น ได้รับยาจากคลินิก แล้วเกิดอาการแพ้ยา ก็ควรกลับไปสอบถามชื่อยาที่แพ้จากคลินิก แล้วมีการบันทึกไว้ให้ชัดเจน โดยการทำบัตรผู้แพ้ยาติดตัวไว้ตลอด เพราะการเจ็บป่วยบางครั้งเราอาจไม่มีสติหรือสามารถบอกผู้ให้การรักษาได้
3. การรักษาด้วยยาที่มีโอกาสการแพ้สูง ต้องแนะนำผู้ป่วยและญาติอย่างดี เพื่อสังเกตว่ามีอาการอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีอาการอะไรที่น่าสงสัยว่าจะแพ้ยาก็รีบหยุดยานั้นทันที แล้วรีบติดต่อสถานพยาบาล เพื่อให้การแก้ไขทันที
4. กรณียาชนิดนั้นมีการตรวจยีนเพื่อทำนายว่ามีโอกาสแพ้ยานั้นหรือไม่ เราก็ควรอธิบายให้ผู้ป่วย ละญาติทราบว่ายาดังกล่าวมีการตรวจยีนทำนายล่วงหน้า แต่มีข้อจำกัดอะไรบ้างในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่กำลังรักษาในขณะนี้ ถ้าจำเป็นต้องเริ่มให้การรักษาเลยก่อนผลการตรวจจะได้นั้น จะมีความเสี่ยงอย่างไร เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่ผู้ป่วยและญาติจะได้รับรู้ข้อมูลก่อนเริ่มการรักษา แต่ถ้าผู้ป่วยหรือญาติไม่ประสงค์จะรับความเสี่ยงนั้น ๆ ก็ต้องส่งตรวจยีนการแพ้ยา ซึ่งผู้ป่วยก็ต้องยอมรับข้อจำกัดดังกล่าว เรื่องค่าใช้จ่าย ระยะเวลารอคอยผลการตรวจ หรือการรักษาที่เริ่มล่าช้าไป
5. ถ้าเกิดการแพ้ยาขึ้น ก็ต้องรีบให้การรักษาเร็วที่สุด อธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและญาติให้รับรู้ข้อมูลตลอดเวลา และต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
6. ถามว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ ผมอยากบอกว่าก็ต้องทุกคนที่เกี่ยวข้องควรรับผิดชอบร่วมกันหมด แต่คงไม่ได้เป็นความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง ทีมผู้ให้การรักษาก็ต้องให้การรักษาผู้ป่วยแพ้ยาอย่างเต็มที่สุดความสามารถ ส่วนผู้ป่วยและญาติก็ควรเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจริง ๆ ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น แล้วก็ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้น แต่มันเป็นเรื่องของการรักษาที่เกิดผลแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน
การแพ้ยานั้นผมยังเชื่อว่ามันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลจริง ๆ ที่มีโอกาสเกิดการแพ้ยามากน้อยต่างกัน ไม่มีใครอยากให้เกิดครับ เรามาร่วมมือในการรักษาและป้องกันการเกิดการแพ้ยาแบบรุนแรง ด้วยการทำหน้าที่ของทุกคนที่เกี่ยวข้องให้ดีที่สุด แล้วก็ร่วมรับผิดชอบร่วมกันถ้าเกิดเหตุการณ์การแพ้ยาเกิดขึ้น อย่าพยายามโทษใคร หรือหาคนผิดครับ เพราะมันไม่ได้ช่วยทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นเลย มีแต่ทำให้เกิดข้อบาดหมางกันมากขึ้น เกิดการเสียขวัญกำลังใจมากขึ้น ทุกคนควรหันหน้ามาร่วมมือกันเพื่อให้ผู้ป่วยดีขึ้นเร็วที่สุด