นานาสาระ ตอน แพทย์กับการรักษาผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 1 พฤษภาคม 2563
- Tweet
นานาสาระ ตอน แพทย์กับการรักษาผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล
ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาและนอนในโรงพยาบาล เรียกสั้น ๆ ว่าผู้ป่วยในนั้น จำเป็นที่จะต้องมีแพทย์ผู้ให้การรักษาหลักเป็นเจ้าของไข้ เพื่อทำการตรวจรักษาให้อาการเจ็บป่วยนั้นดีขึ้น ในผู้ป่วยบางรายมีอาการผิดปกติหลายอาการ หลายปัญหา หลายระบบของร่างกาย ซึ่งต้องการการดูแลจากแพทย์หลายท่าน หลายแผนก ซึ่งแพทย์ที่เข้ามาร่วมให้การรักษากรณีที่ได้รับการปรึกษาจากแพทย์เจ้าของคนไข้ เรียกว่าแพทย์ผู้ให้คำปรึกษา หรือแพทย์ร่วมให้การรักษา ซึ่งแนวทางการรักษาในตาละโรงพยาบาลก็จะไม่เหมือนกัน ซึ่งขึ้นกับความเหมาะสมของระบบในแต่ละโรงพยาบาล โรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน ขนาดของโรงพยาบาลเล็กหรือใหญ่ จำวนแพทย์ในแต่ละแผนก เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยในจะได้รับการดูแลจากแพทย์ในช่วงเช้า และช่วงบ่ายแก่ ๆ
การดูแลรักษาผู้ป่วยในช่วงเช้าก็เพื่อประเมินอาการเจ็บป่วยว่ามีประเด็นอะไรบ้าง ดูแลผู้ป่วยรายใหม่ และวางแผนในการตรวจเพิ่มเติม เช่น ต้องเจาะเลือดส่งตรวจต่าง ๆ การส่งเอกซเรย์ การตรวจเสมหะ ปัสสาวะ อุจจาระเป็นต้น ร่วมกับการสั่งการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น หลังจากนั้นแพทย์ก็จะไปออกตรวจผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก หรือเข้าห้องผ่าตัด ประชุม บริหารงานโรงพยาบาล ก็ขึ้นกับหน้าที่ของแพทย์แต่ละคน ผู้ป่วยที่นอนรักษาในโรงพยาบาลก็จะได้รับการดูแลจากพยาบาลตามแผนการรักษาที่แพทย์มีคำสั่งไว้ เช่น เจาะตรวจเลือด ฉีดยา เอกซเรย์ เป็นต้น พอตกตอนบ่ายแก่ ๆ ประมาณ 15.00- 16.00 น. แพทย์ก็จะมาดูแลรักษาผู้ป่วยอีกครั้ง เพื่อเป็นการติดตามผลการรักษา ดูอาการผู้ป่วยว่าดีขึ้น หรือมีปัญหาใหม่อะไรหรือไม่ รวมทั้งการติดตามดูผลตรวจเพิ่มเติมที่มีคำสั่งไว้ในตอนเช้า เพื่อนำมาแปรผลและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งการดูผู้ป่วยรายใหม่ และรายเก่าที่มีอาการน่าเป็นห่วง ต้องมีการรักษาที่ต้องรีบให้การรักษาตอนกลางคืน แพทย์เจ้าของไข้ก็จะมีการส่งข้อมูลต่าง ๆ ให้แพทย์ที่อยู่เวรดูแลต่อ พอตอนเช้าวันใหม่ก็ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่ในวันหยุดราชการส่วนใหญ่ก็มีการดูแลผู้ป่วยตอนเช้าเป็นหลัก และถ้าผู้ป่วยรายไหนมีปัญหาใหม่เพิ่มเติม หรืออาการไม่ดีขึ้น ยังน่าเป็นห่วง แพทย์ที่ดูผู้ป่วยตอนเช้าก็จะส่งข้อมูลของผู้ป่วยรายนั้นกับแพทย์ที่อยู่เวร เรียกว่าการส่งเวร เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างต่อเนื่องทั้งช่วงเช้า และบ่ายแก่ ๆ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยหนักในห้องไอซียูนั้น ก็จะมีการดูแลอย่างใกล้ชิดมากกว่านี้ บางโรงพยาบาลก็จะมีแพทย์ประจำตลอดเวลาเลย
ผู้ป่วยก็จะมีความสุข หรือไม่ต้องกังวลใจในการดูแล แต่ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้นในแต่ละจังหวัด การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชนนั้นก็จะมีระบบคล้ายกับที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้น แต่ที่ไม่เหมือนคือการดูแลผู้ป่วยในแต่ละครั้งก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยต้องเสียให้กับทางโรงพยาบาล ที่เรียกกันว่า ค่าดีเอฟ (DF: doctor fee) คือค่าบริการทางการแพทย์ หรือค่าที่แพทย์มาให้การดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งในแต่ละโรงพยาบาลก็มีค่ารักษาพยาบาลตรงนี้ไม่เหมือนกัน แต่ก็มีการควบคุมเพื่อให้เกิดความเหมาะสม และไม่เป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายที่มากนักของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากความต้องการของผู้ป่วย และสังคมที่มีความมุ่งหวัง ความคาดหวังว่าผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาที่ดีจากแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน แพทย์จึงต้องให้การรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง และมีแพทย์หลายท่านร่วมดูแลตามปัญหาของผู้ป่วย ดังนั้นในแต่ละวัน จึงอาจมีแพทย์มาดูแลรักษาผู้ป่วยหลายครั้ง อาจ 3-4 ครั้งก็เป็นไปได้ แต่ส่วนนี้ก็ไม่มากนัก เมื่อมีการคิดค่ารักษาพยาบาลจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยก็จะรู้ว่าหมวดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ คือ ค่าดีเอฟ ของแพทย์นั้นเป็นมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งบางครั้งก็เป็นมูลค่าสูงพอสมควร เนื่องจากมีแพทย์หลายท่านร่วมดูแล จึงอาจเกิดข้อร้องเรียนว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้ทางผู้บริหารโรงพยาบาลบางแห่งมีแนวทางปฏิบัติให้แพทย์เข้าดูแลรักษาผู้ป่วยเพียงวันละ 1 ครั้ง จะได้ลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กับผู้ป่วย
ผมในฐานะอาจารย์แพทย์ที่สอนนักศึกษาแพทย์ และสอนแพทย์ที่มาเรียนต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมในโรงเรียนแพทย์ที่มีมาตรฐานในการรักษาพยาบาล และต้องเป็นแบบอย่างที่ดีต่อนักศึกษาแพทย์ แพทย์ และทีมสุขภาพนั้น มีความเห็นต่อแนวทางของโรงพยาบาลเอกชนนั้นว่า เป็นแนวทางที่มีความน่ากังวลใจต่อมาตรฐานในการรักษาพยาบาล เพราะด้วยเหตุผลทางการแพทย์ที่ผมเล่ามาข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าการดูแลรักษาที่มีความเหมาะสมน่าจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ในตอนเช้า และเย็น คือวันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าการดูแลวันละครั้ง เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่มีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าควรคิดให้รอบคอบทั้งผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน และผู้ป่วย รวมทั้งแพทยสภา หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ประโยชน์สูงสุดตกกับผู้ป่วย
นอกจากนี้ในฐานะของอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่ง ผมรู้สึกเป็นห่วงแพทย์ที่กำลังถูกสังคมมองว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชนนั้นเป็นการหารายได้ของแพทย์เป็นหลัก และเป็นการสูบเลือดสูบเนื้อประชาชนยามเจ็บป่วย มากกว่าคำว่า การให้การรักษาพยาบาลที่ดี แพทย์เราต้องกลับมามองตนเองว่าเราทำอย่างนั้นหรือไม่ ผมมั่นใจว่าการที่แพทย์ไปดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชนวันละ 2 ครั้งหรือมากกว่านั้น เกิดจากความจำเป็นทางการแพทย์ ไม่ใช่เพราะอยากได้ค่าดีเอฟ อย่าให้ใครมาดูถูกวิชาชีพแพทย์ของเราครับ
รศ.นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น