นานาสาระ ตอน ปวดหัวทำอย่างไร ไม่ให้ปวดใจ
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 24 เมษายน 2563
- Tweet
นานาสาระ ตอน ปวดหัวทำอย่างไร ไม่ให้ปวดใจ
อาการปวดหัวเป็นอาการผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดก็ว่าได้ กล่าวคือไม่มีใครไม่เคยปวดหัว ซึ่งอาการปวดหัวนั้นมากกว่าร้อยละ 98 เป็นอาการปวดหัวที่ไม่อันตรายในตอนเริ่มมีอาการ ทางการแพทย์เรียกว่าปวดหัวแบบ primary headache หรือ functional headache ได้แก่ อาการปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะจากความเครียด และปวดศีรษะคลัสเตอร์ ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 2 เป็นปวดศีรษะที่มีสาเหตุชัดเจน เรียกว่า secondary headache หรือ organic headache เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้สมองอักเสบ ฝีในสมอง เนื้องอกสมอง เลือดออกในเนื้อสมอง เป็นต้น
การทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้เหมาะสม พบแพทย์เมื่อควรพบ ถ้าไม่มีปัญหาอะไรสามารถดูแลตนเองได้ ก็น่าจะดีที่สุด ซึ่งการทำให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ดีนั้นต้องมีการให้ความรู้ที่เหมาะสมกับสังคมอย่างต่อเนื่อง ผมมีแนวคิดในการให้ความรู้ต่อสังคม ดังนี้
1. ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับอาการปวดหัวว่าแบ่งเป็นกี่กลุ่ม เช่น กลุ่มปวดหัวแบบ primary headache และ secondary headache ดังข้อความข้างบน (ศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ หมอสมศักดิ์ชวนคุย 1 หรือ เว็บไซต์ หาหมอ.คอม ได้)
2. ต้องให้ความรู้ว่าอาการปวดศีรษะแบบไหนที่ควรรีบพบแพทย์ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดศีรษะรุนแรงร่วมกับมีไข้สูง ซึม ต้นคอแข็งตึง มีอาการแขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะที่เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ปวดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดที่ทาน ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวตับวาย ไตวาย ติดเชื้อเอชไอวี ทานยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น
3. ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้น เช่น การทานยาที่ควรจัดหาเองได้ (ยาพาราเซตามอล) ยาบางชนิดไม่ควรจัดหามาเอง (ยาแก้ปวดอย่างแรง) วิธีการทานยาที่ถูกต้อง เช่น กรณีปวดศีรษะไมเกรนควรเริ่มทานยาแก้ปวดให้เร็วตั้งแต่เริ่มมีอาการเตือน หรือเริ่มมีอาการปวดศีรษะ ไม่ควรรอให้ปวดศีรษะรุนแรงแล้วจึงทานยา เพราะจะไม่ได้ผล
4. ต้องจัดทำช่องทางให้ผู้ป่วยหรือประชาชนทั่วไปสามารถติดต่อสอบถามอาการผิดปกติได้ เช่น เว็บไซต์ Facebook page คอลเซ็นเตอร์ด้านสุขภาพ หรือไลน์ เป็นต้น
อาการปวดศีรษะนั้นเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก แต่ยังขาดการให้ความรู้ที่เหมาะสมกับสังคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนขาดความรู้ด้านนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะอย่างมาก ซึ่งอาการดังกล่าวถึงแม้จะมีโอกาสเป็นสาเหตุรุนแรงไม่มากก็ตาม แต่เนื่องจากมีผู้ป่วยปวดศีรษะจำนวนมาก เมื่อการดูแลตนเองของประชาชนไม่เหมาะสม ก็มีโอกาสทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะรุนแงมากขึ้น และส่งผลต่อการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ ทำให้เรื่องที่ไม่รุนแรงกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงได้ ทำให้การปวดหัว เป็นการปวดใจไปได้นะครับ ดังนั้นเราต้องมาร่วมมือกันทั้งประชาชนและทีมผู้ให้การรักษามีการจัดการด้านความรู้ที่เหมาะสมต่อสังคมไทย