นานาสาระ ตอน การใช้ยาที่ต้องระวังในผู้สูงอายุ

นานาสาระกับคุณหมอสมศักดิ์-2


นานาสาระ ตอน การใช้ยาที่ต้องระวังในผู้สูงอายุ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วในปัจจุบันว่าประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุนั้นก็จะมีปัญหาสุขภาพมากกว่าวัยหนุ่มสาว ผู้สูงอายุบางส่วนก็มีโรคประจำตัวหลายชนิด ทานยาหลากหลายชนิด รักษากับแพทย์หลายท่าน ดังนั้นการเกิดปัญหาในการรักษา ก็ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากเช่นเดียวกัน วันนี้ผมมาชวนคุยเกี่ยวกับปัญหาการใช้ยาในผู้สูงอายุ ที่เราควรระวังไว้ว่าอย่าให้เกิดในครอบครัวของเราครับ

1. การใช้ยาหลายชนิดด้วยการรักษาจากแพทย์หลายคน โดยที่ไม่ได้บอกแพทย์แต่ละท่านที่ทำการรักษาว่าทานยาอะไรอยู่บ้าง ทำให้เกิดการใช้ยาซ้ำซ้อน หรือยาตีกันได้ง่าย การที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวหลายโรค รักษากับแพทย์หลายท่านก็เป็นความจำเป็น แต่ต้องแจ้งให้แพทย์ทุกท่านทราบว่ารักษาโรคอะไรกับแพทย์ท่านใด และทานยาอะไรอยู่บ้าง

2. ต้องดูแลการทานยาให้ผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด เพราะผู้สูงอายุท่านมีปัญหาด้านสายตา การมองเห็น ความจำ และอาจมีมือสั่น ดังนั้นการทานยาอาจผิดพลาดได้ทั้งชนิด ขนาด เวลา หรือทำยาหล่นตกได้ง่าย อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล หรืออาจเกิดยาเกินขนาดได้

3. การเตรียมยาให้ผู้สูงอายุทานนั้นควรเตรียมเป็นมื้อ ๆ อย่างชัดเจน อย่าเตรียมแบบจัดยาใส่กล่อง โดยเอายาออกจากแผงยา หรือขวดสีเข้มมาใส่กล่องเตรียมให้ยาไว้ เพราะยาอาจเสียสภาพ เนื่องจากความชื้น และอุณหภูมิที่สูงของบ้านเรา รวมทั้งผู้สูงอายุจะหยิบยาทานเองได้ลำบาก เกิดความสับสนได้ง่าย ถ้าดีควรเตรียมยาให้มื้อต่อมื้อ แล้วดูด้วยว่าผู้ป่วยได้ทานยาถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ตกหล่น

4. ไม่ควรปล่อยให้ผู้สูงอายุมาพบแพทย์เพียงลำพัง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หรือเล่าอาการผิดปกติให้แพทย์ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเต็มที่ หรืออาจเข้าใจคำแนะนำของแพทย์ได้ไม่ถูกต้อง

5. กรณีไม่ได้อยู่ด้วยกับผู้สูงอายุ ต้องหมั่นตรวจสอบการทานยาว่าถูกต้องหรือไม่ ควรมีการเตือนให้ทานยาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าดีก็เตือนทุกวัน

6. การทานยานอนหลับต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก อย่าให้ผู้สูงอายุทานยานอนหลับเอง เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะยานอนหลับเกินขนาดได้ง่าย

ที่ผมเล่ามานั้นเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ก็ส่งผลเสียได้มาก และอย่าคิดว่าสิ่งที่ผมพูดมานั้น ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นจริง ผมอยากบอกว่าผมเจอผู้ป่วยสูงอายุทานยากันชักก่อนนอน วันละ 3 ครั้ง เพราะผู้ป่วยนอนวันละ 3 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะยากันชักเกินขนาด ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ตลกเล่นกันในทีวี แต่นี้คือเรื่องจริงครับ