นานาสาระ ตอน ทำไมโรงพยาบาลเตียงจึงเต็ม

นานาสาระกับคุณหมอสมศักดิ์-17


นานาสาระ ตอน ทำไมโรงพยาบาลเตียงจึงเต็ม

ปัญหาเตียงโรงพยาบาลของรัฐเต็มตลอดเวลาเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลาที่ผมเรียนหมอตั้งแต่ปี 2527 ถึงปัจจุบัน ผมยังไม่เห็นว่าปัญหาเตียงเต็มนี้จะได้รับการแก้ไข มีแต่จะมีปัญหามากขึ้นทุกวัน ทั้ง ๆ ที่จำนวนโรงพยาบาล จำนวนเตียงก็เพิ่มมากขึ้น จำนวนแพทย์ก็เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการเจ็บป่วยของคนไทย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมเองมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาเตียงเต็ม ดังนี้

1. พัฒนาระบบการส่งต่อและรับกลับให้มีประสิทธิภาพมากกว่าในปัจจุบันนี้ เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ คือ มีการส่งต่อจากโรงพยาบาลขนาดเล็กหรือมีศักยภาพไม่สูง ส่งต่อมายังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีศักยภาพสูงกว่า แต่การส่งกลับไปดูแลต่อเมื่อหมดภาวะที่จำเป็นในการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ผู้ป่วยมักจะขอรับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่จนหายดี และยังมักขอติดตามการรักษาต่อเนื่องอีก

2. การพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนที่มีผู้ป่วยจำนวนมากให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น โดยมีการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อหาคนในพื้นที่มาปฏิบัติงาน โดยเฉพาะพยาบาลที่มีการขาดแคลนสูงมาก รวมทั้งสนับสนุนคนในพื้นที่ให้มาเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพแบบยั่งยืน

3. พัฒนาระบบยาและการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการให้โรงพยาบาลชุมชนสามารถมียารักษาผู้ป่วยได้ และส่งตรวจเพิ่มเติมได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะด้วยเหตุผลเพียงแค่ไม่มียารักษา หรือต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเท่านั้น

4. พัฒนาแนวทางการส่งต่อที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยเป็นหลัก มีการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดความล่าช้าในการรักษา ดังนั้นต้องทำให้การส่งต่อไม่มีข้อจำกัด ไร้รอยต่อ เพราะในปัจจุบันนั้นมีข้อจำกัดมากมาย และยังมีปัญหาเขตสุขภาพ

5. พัฒนาระบบการปรึกษาให้มีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านบุคคล เช่น ความขัดแย้งหรือความไม่ร่วมมือของแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยการพัฒนาแนวทางการส่งต่อที่ปฏิบัติได้จริง และมีการปรับแก้ไข กรณีมีความจำเป็น เพื่อให้เกิดการส่งต่อที่ดียิ่งขึ้น โดยใช้ระบบเป็นหลัก เพื่อลดปัญหาเฉพาะตัวบุคคล

6. สร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจต่อประชาชนให้มีความเข้าใจระบบการรักษา ระบบการส่งต่อ และเชื่อมั่นว่าโรงพยาบาลใกล้บ้านก็มีศักยภาพที่เหมาะสมในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ และถ้าจำเป็นต้องส่งต่อ ระบบก็จะส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อตามความเหมาะสม และเมื่ออาการดีขึ้นก็จะมีการรับตัวกลับมารักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

7. การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ มีการส่งเสริม ป้องกันมากกว่าในปัจจุบัน เพื่อลดการเจ็บป่วย

8. พัฒนาระบบการร่วมจ่ายล่วงหน้า ไม่ใช่การร่วมจ่ายที่จุดบริการ เพื่อให้มีงบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ลดการสนับสนุนจากภาครัฐลงได้บางส่วน

9. โรงพยาบาลชุมชนร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในการทำงานทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนให้เป็นไปตามที่ชุมชนต้องการ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในโรงพยาบาลชุมชน

การแก้ปัญหาเตียงเต็มนั้นจะไม่สำเร็จ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือกันจากทุกคนในสังคมครับ อย่าปล่อยให้เรื่องสุขภาพเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรือหมอ พยาบาล ทีมสุขภาพเท่านั้น ทุกคนต้องร่วมมือกันครับ เพราะสุขภาพเป็นเรื่องของคนทุกคน