นานาสาระ ตอน ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 3 มีนาคม 2563
- Tweet
นานาสาระ ตอน ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน
“คุณหมอครับช่วยผมหน่อยครับ ตอนนี้แม่ผมนอนรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ผมและที่บ้านไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีกแล้ว ขอความกรุณาช่วยย้ายแม่ผมมารักษาในโรงพยาบาลรัฐด้วยครับ” เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันเหตุการณ์แบบนี้ก็ยังมี แต่ไปเกิดที่โรงพยาบาลเอกชนแทน เพราะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนนั้นสูงมาก
ค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมทั้งด้านห้องพัก ความสะดวกสบาย ความรวดเร็วด้านการตรวจรักษา บางคนให้นิยามของโรงพยาบาลเอกชน คือ โรงแรมที่พร้อมดูแลด้านการเจ็บป่วย หรือโรงแรมที่มีหมอไว้ดูแลรักษาผู้เข้าพัก ดังนั้นค่าใช้จ่ายก็เริ่มตั้งแต่ค่าห้องพักที่เข้ารักษา ซึ่งอาจสูงกว่าค่าห้องพักของโรงแรม ต่อมาก็เป็นค่าตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของโรค ซึ่งแพทย์ก็จะส่งตรวจอย่างครอบคลุมในทุกโรคที่เป็นไปได้ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจว่า ได้รับการรักษาที่ดี ไม่มีความผิดพลาดในการวินิจฉัยและรักษา จึงส่งผลให้ค่าการตรวจเพิ่มเติมดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง ต่อมาก็เป็นค่ายา ซึ่งต้องบอกว่าราคาสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐแน่นอน ราคาอาจสูงประมาณ 2-3 เท่าก็เป็นไปได้ ต่อมาคือค่าแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วย การเยี่ยมผู้ป่วยแต่ละครั้งก็จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์ก็จะเข้าเยี่ยมผู้ป่วยวันละ 2 ครั้ง คือในตอนเช้า และตอนเย็น กรณีผู้ป่วยมีหลายปัญหาต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละปัญหาร่วมดูแล ก็จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น ในประเด็นเรื่องการดูแลของแพทย์เฉพาะทางหลาย ๆ ท่านนั้น ผมมีความเห็นว่าขึ้นกับนโยบายของแต่ละโรงพยาบาลที่จะมีระบบการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างไร และก็ขึ้นกับความต้องการของผู้ป่วยและญาติด้วยว่ามีความต้องการอย่างไร ซึ่งก็ต้องทราบด้วยว่าจะต้องมีผลด้านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้แน่นอน
ปัญหาของผู้ป่วยโดยส่วนหนึ่งแล้วสามารถให้การดูแลโดยแพทย์เจ้าของไข้ได้ แต่ด้วยเพราะระบบของโรงพยาบาลและความคาดหวังของผู้ป่วย ญาติที่ต้องการให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละปัญหามาร่วมให้ความคิดเห็น และบางครั้งเองแพทย์เจ้าของไข้ก็กงัวลใจว่าถ้าดูแลได้ไม่ดี แล้วเกิดปัญหาด้านการรักษาเกิดขึ้น ก็จะถูกร้องเรียน หรือฟ้องร้องขึ้นได้ ก็เลยเป็นเหมือนค่านิยมในปัจจุบันที่ผู้ป่วยจะมีแพทย์ผู้ร่วมดูแลหลาย ๆ สาขา เพื่อมุ่งหวังให้การรักษานั้นดีที่สุด เมื่อมีแพทย์หลายท่านร่วมดูแล ก็จะส่งผลให้ค่ารักษาในส่วนของค่าแพทย์นั้นสูงขึ้นอีก
ค่าใช้จ่ายในการเข้าเยี่ยมผู้ป่วยในแต่ละครั้งนั้น ในแต่ละโรงพยาบาลก็มีแนวทางการกำหนดค่าเยี่ยมผู้ป่วยของแพทย์ไว้แตกต่างกัน ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับขนาดโรงพยาบาล ความเชี่ยวชาญของแพทย์ ประสบการณ์ของแพทย์ หรือความยากง่ายของปัญหา ความหนักเบาของผู้ป่วย ตรงนี้เองเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าพิจารณาคือว่า การเข้าเยี่ยมของแพทย์นั้นควรเป็นวันละกี่ครั้ง ซึ่งผมว่าไม่น่าจะกำหนดได้ น่าจะเป็นดุลยพินิจของแพทย์แต่ละท่านที่ดูในแต่ละปัญหาว่า ต้องมีความจำเป็นในการเข้าเยี่ยมติดตามอาการผู้ป่วยด้วยความถี่บ่อยเพียงใด จึงจะทำให้ผู้ป่วยมีผลการรักษาที่ดี ปลอดภัย และมีความเหมาะสมมากที่สุด (ค่าใช้จ่ายที่คุ้มกับผลการรักษา)
ด้วยเหตุนี้เองในบางโรงพยาบาลจึงได้มีการกำหนดว่าแพทย์ควรเข้าเยี่ยมผู้ป่วยเพียงวันละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย ซึ่งผมใความเห็นว่ามีความเสี่ยงพอสมควรที่การเข้าเยี่ยมผู้ป่วยเพียงวันละ 1 ครั้ง เพราะผู้ป่วยอาจมีการเปลี่ยนแปลงของอาการหรือมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นในระหว่างเข้ารับการรักษาได้ จึงน่าจะให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาพิจารณาตามความเหมาะสม และความจำเป็นในผู้ป่วยแต่ละราย หรือให้มีการกำหนดเพดานค่าเยี่ยมของแพทย์ในแต่ละวัน แทนการกำหนดว่าเข้าเยี่ยมได้วันละครั้ง เป็นต้น
การรักษาพยาบาลถ้ามองเป็นธุรกิจว่าต้องมีผลกำไร และมีการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์แบบในปัจจุบัน ก็ย่อมก่อให้เกิดปัญหาด้านการแสวงหาผลกำไรเกิดขึ้นอย่างหนีไม่พ้น แต่ถ้าการรักษาพยาบาลเป็นธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไร เป็นในรูปแบบมูลนิธิ หรือองค์กรที่มีการนำผลกำไรไปคืนประโยชน์สู่สังคม วิธีคิดในการบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชนก็จะเป็นในรูปแบบที่ทำให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรนั้น ผมอยากฝากให้สังคมไทยคิดเรื่องนี้ด้วยครับ