นาทาลิซูแมบ (Natalizumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานาทาลิซูแมบ(Natalizumab) เป็นยาในกลุ่ม โมโนโคลนอล แอนติบอดิ (Monoclonal Antibodies) นักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่ายานี้จะลดบทบาทการทำงานของเซลล์ที่คอยกระตุ้นการอักเสบต่างๆของร่างกาย ทางคลินิกจึงนำมาใช้บำบัดอาการของโรคภูมิคุ้มกันเล่นงานตนเอง(โรคออโตอิมมูน) อย่างเช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(Multiple Sclerosis) และ โรคโครห์น(Crohn’s disease)

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานาทาลิซูแมบเป็นยาชนิดฉีด ตัวยาสามารถอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 7–15 วัน ผู้ป่วยจะต้องได้รับยานี้ทุก 4 สัปดาห์ และอาการป่วยจะต้องดีขึ้นเป็นลำดับภายในระยะเวลาการใช้ยา 12 สัปดาห์ ยานาทาลิซูแมบเคยถูกเพิกถอนทะเบียนเมื่อปี ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547)ด้วยมีข้อมูลเกี่ยวพันการใช้ยาชนิดนี้ร่วมกับยา Interferon beta-1a หรือใช้ร่วมกับยารักษา Multiple sclerosis ตัวอื่นแล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมองหรือที่เรียกกันว่า Progressive multifocal leukoencephalophathy หรือย่อว่า PML อย่างไรก็ตามได้มีการทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัยกันอีกครั้ง ทำให้ยานาทาลิซูแมบถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในปี ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549) โดยการใช้รักษาเป็นไปในลักษณะของยาเดี่ยว ไม่ใช้ร่วมกับยาอื่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงอาการโรค PML ดังกล่าว

อาจสรุปข้อมูลสำคัญๆของยานาทาลิซูแมบที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ยานาทาลิซูแมบในรูปแบบยาแผนปัจจุบัน เป็นยาประเภทกดภูมิต้านทาน(ภูมิคุ้มกัน หรือภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ที่สกัดได้จากโปรตีนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างเช่น หนู (Mouse) ดังนั้น กรณีผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้โปรตีนจากสัตว์ประเภทหนู จึงห้ามใช้ยานี้โดยเด็ดขาด
  • *ผู้ป่วยบางรายจะเริ่มมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานาทาลิซูแมบตั้งแต่เริ่มต้นการให้ยานี้ซึ่งมักแสดงอาการหลังจากได้รับยานี้ไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง โดยสังเกตจากเกิดอาการ วิงเวียน มีไข้ ใบหน้าแดง รู้สึกหนาวสะท้าน ความดันโลหิตต่ำ หายใจขัด/หายใจลำบาก เกิดผื่นคัน ลมพิษ ซึ่งหากพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ทันที
  • กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาชนิดใดอยู่ก่อน ต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาต่อไปนี้ เช่น Mercaptopurine, Adalimumab, Azathioprine, Certolizumab, Cyclosporine, Etanercept, Golimumab, Infliximab, หรือ Methotrexate เพราะการใช้ยานาทาลิซูแมบร่วมกับยาเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดปัญหากับสมองที่เรียกว่า PML
  • กลไกการออกฤทธิ์ของยานาทาลิซูแมบคือการยับยั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เป็นปัจจัยสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันไม่ให้เข้าใกล้อวัยวะที่มีการอักเสบ จากกลไกนี้เป็นเหตุ ให้ภูมิต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอลง ผู้ป่วยจึงอาจติดเชื้อไวรัส (เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ เชื้อเริม) หรือเกิดทอนซิลอักเสบได้ง่าย ดังนั้นระหว่างที่ใช้ยานาทาลิซูแมบ ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัดและที่มีผู้คนมากมาย เพื่อเป็นการป้องกันการติด เชื้อโรคดังกล่าว
  • ขณะได้รับยานาทาลิซูแมบ ห้ามผู้ป่วยฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ นอกจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนจะไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจเกิดภาวะติดเชื้อจากการฉีดวัคซีน ดังกล่าวตามมา
  • ยานี้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับผู้ใหญ่เท่านั้น และถือเป็นข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ด้วยการใช้ยานาทาลิซูแมบกับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายกับทารกได้
  • ศึกษาและเฝ้าสังเกตอาการติดเชื้อกับระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย เสมอระหว่างใช้ยานี้ โดยปรึกษากับ แพทย์ พยาบาล ผู้ที่ให้การดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัสที่สมอง(PML) การติดเชื้อที่ระบบหายใจ (โรคติดเชื้อระบบหายใจ) ที่ระบบ ทางเดินปัสสาวะ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) การติดเชื้อไวรัสที่ตา ทั้งนี้ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของยานาทาลิซูแมบสามารถทำให้ร่างกายอ่อนแอและติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่าปกติ รวมถึงอาการข้างเคียงและภาวะแพ้ยาที่มีโอกาสเกิดกับผู้ที่ได้รับยานี้
  • ระหว่างที่ได้รับยานาทาลิซูแมบภายใน 12 สัปดาห์ อาการป่วยควรต้องดีขึ้นเป็นลำดับ หากพบว่าอาการป่วยยังไม่ทุเลาหรือทรุดหนัก ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • เพื่อประสิทธิผลของการรักษาด้วยยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการผิดนัดกำหนดการให้ยา ผู้ป่วยต้องมารับการฉีดยานี้ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง

ยานาทาลิซูแมบเป็นยาฉีดที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและอาศัยหัตถการทางการแพทย์อย่างถูกต้อง ซึ่งเราจะพบเห็นยาชนิดนี้มีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และในท้องตลาดของยาแผนปัจจุบัน ยานาทาลิซูแมบจะถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Tysabri”

นาทาลิซูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

นาทาลิซูแมบ

ยานาทาลิซูแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ช่วยฟื้นสภาพระบบสมอง และไขสันหลัง จากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • บำบัดและบรรเทาอาการโรคโครห์น

นาทาลิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานาทาลิซูแมบ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของตัวรับ(Receptor)บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ของผนังหลอดเลือดซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Alpha-4 integrin ตัวรับชนิดนี้ นี้มีความสำคัญในกระบวนการนำเซลล์เม็ดเลือดขาวจากหลอดเลือดเข้าสู่อวัยวะต่างๆที่รวมถึง สมอง ไขสันหลัง ผนังลำไส้ อวัยวะเหล่านี้มีความเกี่ยวพันกับ โรคโครห์น และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง กลไกการยับยั้งเม็ดเลือดขาวที่กล่าวมาทำให้กระบวนการอักเสบของโรคเหล่านั้นบรรเทาลงและเป็นที่มาของสรรพคุณ

นาทาลิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

นาทาลิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Natalizumab ขนาด 300 มิลลิกรัม/15 มิลลิลิตร

นาทาลิซูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยานาทาลิซูแมบมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับรักษา Multiple sclerosis และ Crohn’s disease เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เจือจางตัวยา 300 มิลลิกรัม ด้วย 100 มิลลิลิตร 0.9% Sodium chlorideจากนั้นหยดเข้าหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาในการหยดยานาน 1 ชั่วโมงขึ้นไป และทุกๆ 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยต้องได้รับการให้ยา 1 ครั้ง
  • ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้

อนึ่ง:

  • ยานี้ถูกเก็บที่อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) การเตรียมยาเพื่อฉีดให้คนไข้จึงต้องรอให้สารละลายยามีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้องก่อนที่จะหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ
  • ระยะเวลาของการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนจนถึงระยะเวลาเป็นปี
  • ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินผลการรักษาโรคหลังจากได้รับยาครั้งแรกไปแล้ว 3 เดือน และประเมินผลการรักษาต่ออีกทุกๆ 6 เดือนว่าควรรักษาต่อด้วยยานี้หรือไม่
  • ผลข้างเคียงประการหนึ่งของยานาทาลิซูแมบคือทำให้เกิดอันตรายกับตับ/ตับอักเสบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลังจากได้รับยานี้ครั้งแรกไปแล้ว 6 วัน หากพบอาการ ตัวเหลืองตาเหลือง หรือตรวจพบผลเลือดแสดงความผิดปกติของการทำงานของตับ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยานาทาลิซูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคติดเชื้อทางสมอง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานาทาลิซูแมบอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมมารับการให้ยานาทาลิซูแมบ ต้องรีบติดต่อ แพทย์ พยาบาล ที่ตรวจรักษา เพื่อทำการนัดหมายและมารับการฉีดยานี้โดยเร็ว

นาทาลิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)รุนแรงจากการใช้ยานาทาลิซูแมบประการหนึ่งคือการติดเชื้อ JC virus (John Cunningham virus ย่อว่า JCV) ที่สมองหรือที่เรียกกันว่า PML โอกาสเกิดโรค PML นี้มักประกอบไปด้วยปัจจัย 3 ข้อ ดังนี้

1. ผู้ป่วยเคยได้รับยานาทาลิซูแมบเป็นเวลาต่อเนื่องนานกว่า 2 ปีขึ้นไป

2. ก่อนได้รับยานาทาลิซูแมบ ผู้ป่วยเคยได้รับยากดภูมิคุ้มกันบางประเภท เช่น Mitoxantrone, Azathioprine, Methotrexate, Cyclophosphamide, หรือ Mycophenolate mofetil

3. ตรวจพบสารภูมิต้านทานของไวรัส JC virus( Anti-JCV antibodies) ในกระแสเลือด

นอกจากนี้ยานาทาลิซูแมบ ยังสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย อาทิ

  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เช่น อาจทำให้มีการติดเชื้อไวรัส (เช่น ไข้หวัดใหญ่ ติดเชื้อเริม) ทอนซิลอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น เกิดการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ไซนัสอักเสบ คออักเสบ มีอาการไอ
  • ผลต่อระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน สั่น มีภาวะติดเชื้อไวรัสJCVที่สมองหรือที่เรียกว่า Progressive multifocal leukoencephalopathy (PML)
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เบื่ออาหาร
  • ผลต่อหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อผิวหนัง เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ ผิวแห้ง เหงื่อออกกลางคืน
  • ผลต่อตับ เช่น ตับทำงานผิดปกติ/เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น/ตับอักเสบ บิลิรูบินในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบเลือด เช่น เกิดภาวะเลือดจาง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ เกิดตะคริว ข้อบวม
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น น้ำหนักเพิ่มหรือไม่ก็ลดลง มือ-เท้าบวม
  • ผลต่อสภาวะทางจิตใจ เช่น ซึม
  • อื่นๆ เช่น ในผู้ป่วยสตรีอาจเกิด ช่องคลอดอักเสบ ประจำเดือนขาด

มีข้อควรระวังการใช้นาทาลิซูแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานาทาลิซูแมบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคPML
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามีการเจ็บป่วยติดเชื้อ หรือมียาอื่นใดที่ใช้อยู่ก่อน รวมถึงเป็นผู้ที่เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนมาหรือไม่
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจเลือดตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • หากพบอาการป่วยหรือมีการติดเชื้อต่างๆเกิดขึ้น ให้รีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
  • ยานี้ไม่สามารถรักษาโรค Multiple sclerosis และ Crohn’s disease ให้หายขาดได้ เพียงแต่ช่วยบำบัดอาการของโรคให้ดีขึ้น และช่วยป้องกันความพิการจากโรคMultiple sclerosis การรักษาโรคเหล่านี้ยังคงต้องรับการดูแลจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยานาทาลิซูแมบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นาทาลิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานาทาลิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยานาทาลิซูแมบร่วมกับยา Mercaptopurine, Adalimumab, Azathioprine, Certolizumab, Cyclosporine, Etanercept, Golimumab, Infliximab, Methotrexate, เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ JC virus ในสมองที่จะก่อให้เกิดโรคPML ตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานาทาลิซูแมบร่วมกับยา Bedaquiline, Efavirenz หรือNaltrexone ด้วยจะทำให้เกิดผลเสียต่อการทำงานของตับ/ตับอักเสบรุนแรงตามมา

ควรเก็บรักษานาทาลิซูแมบอย่างไร?

ควรเก็บยานาทาลิซูแมบ ในช่วงอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

นาทาลิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานาทาลิซูแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Tysabri (ไทซาบริ)Biogen Idec Inc

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Natalizumab [2017,Oct28]
  2. https://www.drugs.com/cdi/natalizumab.html [2017,Oct28]
  3. https://www.drugs.com/ppa/natalizumab.html [2017,Oct28]
  4. https://www.drugs.com/dosage/natalizumab.html [2017,Oct28]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/natalizumab-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Oct28]
  6. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/125104s0576lbl.pdf [2017,Oct28]