นาตามัยซิน (Natamycin) หรือ ไพมาริซิน (Pimaricin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- นาตามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- นาตามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นาตามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นาตามัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?
- นาตามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้นาตามัยซินอย่างไร?
- นาตามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานาตามัยซินอย่างไร?
- นาตามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- เยื่อตาอักเสบ (Conjunctivitis)
- เปลือกตาอักเสบ หรือหนังตาอักเสบ (Blepharitis)
- กระจกตาอักเสบ (Keratitis) กระจกตาเป็นแผล (Corneal ulcer)
บทนำ: คือยาอะไร?
นาตามัยซิน (Natamycin หรือ Natacyn หรือ ไพมาริซิน/ Pimaricin) คือ ยาต้านเชื้อรา ที่ทางการแพทย์นำมาใช้ในรูปแบบยาหยอดตา และทางคลินิกนำมาบำบัดรักษาอาการโรคตาที่เกิดจากโรคเชื้อรา เช่น เยื่อตาอักเสบ, เปลือกตาอักเสบ, กระจกตาอักเสบ
นาตามัยซิน เป็นสารประกอบที่ผลิตจากกระบวนการหมักโดยเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ‘Streptomyces natalensis’ ประโยชน์ที่มนุษย์นำมาใช้คือ ในด้านอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้ยานาตามัยซินช่วยป้องกันการเกิดเชื้อราในผลิตภัณฑ์นมและอาหาร
แต่ทางคลินิก ยานี้ถูกนำมาใช้เป็นยาต้านเชื้อราชนิดต่างๆ อย่างเช่น เชื้อราชนิด Candida, Aspergillus, Cephalosporium, Fusarium, และ Penicillium, โดยยานาตามัยซินที่นำมาใช้ทางคลินิกจะมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็น ยาหยอดตา ยาทาผิวหนัง รวมไปถึงยาลูกอม, แต่ *ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีที่ใช้เป็น 'ยาหยอดตา' เท่านั้น
ธรรมชาติของยานาตามัยซินจะถูกดูดซึมได้ต่ำมากจากระบบทางเดินอาหาร (ประมาณ 2%) จึงเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถใช้ยานาตามัยซินเป็นยารับประทานในการรักษาการติดเชื้อรากับอวัยวะต่างๆของร่างกาย, การศึกษาภายในห้องทดลอง ยังพบอีกว่า ยานาตามัยซินไม่ก่อใหเกิดพิษเฉียบพลันต่อร่างกาย, และการใช้เป็นสารถนอมอาหารหรือรูปแบบยาลูกอม ก็ไม่มีผลกระทบต่อแบคทีเรียตามธรรมชาติ (Normal intestinal flora, เชื้อประจำถิ่น) ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารแต่อย่างใด
จากการศึกษาวิจัยกับมนุษย์ที่บริโภคยานาตามัยซินขนาด 500 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันเป็นเวลาหลายวันต่อเนื่อง อาจทำให้มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อย่าง เช่น คลื่นไส้อาเจียน และท้องเสียตามมา
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ยานาตามัยซินที่พบเห็นในประเทศไทย จะเป็นยาหยอดตาเพื่อรักษาและป้องกันการอักเสบหรือการติดเชื้อราในตา, โดยต้องหยอดยาบ่อยครั้งในช่วงเริ่มต้น จากนั้นจึงค่อยเว้นระยะห่างของการหยอดยาได้ยาวนานขึ้น, ระยะเวลาของการรักษา/การใช้ยานี้ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์, อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
อนึ่ง: *ห้ามผู้ป่วยใช้ยาหยอดตาชนิดอื่นร่วมกับยาหยอดตานาตามัยซินโดยมิได้ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน, และห้ามการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก), ผู้ป่วยอาจรู้สึกระคายเคืองตาเล็กน้อยขณะที่ใช้ยานี้, หรืออาจไม่พบเห็นอาการข้างเคียงเลยก็ได้
ยานาตามัยซิน เป็นยาหยอดตาที่ใช้กับการอักเสบของตาที่มีสาเหตุจากโรคเชื้อราเท่านั้น ไม่สามารถใช้รักษาภาวะตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือโรคติดเชื้อไวรัส, การใช้ยาหยอดตาชนิดนี้ จะต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์/เภสัชกร เช่น เขย่าขวดยาทุกครั้งก่อนหยอดตาทั้งนี้ ด้วยเป็นยาหยอดตาประเภทยาน้ำแขวนตะกอนนั่นเอง, จากนั้นจึงปฏิบัติตามขั้นตอนของการหยอดตา เช่น
- ล้างมือก่อน และหลังหยอดตา
- เมื่อจะหยอดยา ให้หงาย/เงยศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย, แล้วใช้ปลายนิ้วดึง หนังตาล่างลงเบาๆ
- จากนั้นหยอดตาตามคำสั่งแพทย์ เช่น 1 หยด, โดยห้ามมิให้ปลายหลอดยาสัมผัสกับตา
- หลังหยอดตา, ให้หลับตา แล้วใช้นิ้วกดคลึงที่มุมตาเพียงเบาๆ เพื่อให้ตัวยากระจายทั่วทั้งตา, และทิ้งเวลารอประมาณ 1 นาทีจึงลืมตา ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ยาไหลย้อนออกจากตา
- กรณีหยอดยา 2 หยด, ให้หยอดยาหยดที่ 2 ตามขั้นตอนที่กล่าวมา แต่เว้นระยะห่างจากหยดแรกประมาณ 5 นาทีเป็นอย่างต่ำ, เพื่อป้องกันปริมาณยาไหลออกจากตามากเกินไป
นอกจากนี้ ก่อนการใช้ยาหยอดตานาตามัยซิน ควรสังเกตว่า หากตัวผลิตภัณฑ์มีสีที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือมีสิ่งแปลกปลอมเจือปน ให้หยุดการใช้ยาหยอดตาขวดนั้น, และ*เมื่อใช้ยาหยอดตานี้ไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง ตามที่แพทย์แนะนำ แล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้นเลย หรืออาการกลับแย่ลง, *ควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
ประการสุดท้าย หากผู้ป่วยมีการใช้ ยาฯนาตามัยซิน เกินขนาด ให้ล้างตาเพื่อล้างยานี้ออกด้วยน้ำสะอาดทันที
ยาหยอดตา นาตามัยซิน มีจำหน่ายตามร้านขายยาตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไป และหากผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลยานี้เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จาก แพทย์ หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป
นาตามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาหยอดตา นาตามัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เพื่อบำบัดรักษาการอักเสบของเนื้อเยื่อตาที่เกิดจากโรคเชื้อรา เช่น
- บำบัดอาการเยื่อตาอักเสบ
- บำบัดอาการเปลือกตาอักเสบ/หนังตาอักเสบ
- บำบัดอาการกระจกตาอักเสบ
นาตามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาหยอดตานาตามัยซิน สามารถต่อต้านเชื้อราชนิดต่างๆ อาทิ Yeast, Candida, Aspergillus, Cephalosporium, Fusarium, โดยตัวยาฯจะเข้าจับเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อราที่มีชื่อเรียกว่า ‘เออร์โกสเตอรอล (Ergosterol)’ ส่งผลให้เยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อราอ่อนแอ และเกิดการสูญเสียเกลือที่มีประจุไฟฟ้าอย่างโพแทสเซียม และโซเดียม การเสียสมดุลของเกลือดังกล่าว ทำให้เป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิตของเชื้อราจึงเป็นเหตุให้เชื้อราตายในที่สุด
นาตามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาหยอดตานาตามัยซิน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เป็น
- ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 5%
นาตามัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาหยอดตา นาตามัยซิน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นหยอดตา 1 หยด ทุก 1 – 2 ชั่วโมง, หลังจากนั้นอีก 3 – 4 วัน
ให้หยอดตา 1 หยด ทุก 3 – 4 ชั่วโมง, หรือ 6 – 8 ครั้ง/วัน, หรือตามคำสั่งแพทย์, และ
ระยะเวลาของการใช้ยาอยู่ที่ 2 – 3 สัปดาห์ หรือตามคำสั่งแพทย์เช่นกัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- หยอดยานี้อย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ไม่หยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น และห้ามปรับขนาดการหยอดตา หรือปรับระยะเวลาของการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาหยอดตาชนิดอื่นร่วมกับยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้รักษา
- ห้ามหยอดตาขณะที่สวมใส่คอนแทคเลนส์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานาตามัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก/ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคภูมิแพ้ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่อย่างเช่น ยาสเตียอยด์ เพราะยานาตามัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยาหยอดตานาตามัยซิน สามารถหยอดตาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการหยอดตาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
นาตามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยานาตามัยซินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อหัวใจ: เช่น เจ็บหน้าอก
- ผลต่อตา: เช่น ระคายเคืองตา ตาพร่า น้ำตาไหล เกิดภาวะเลือดคั่ง/เลือดออกในลูกตา กระจกตาขุ่น ตาบวม
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
อนึ่ง: อาการข้างเคียงดังกล่าว อาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วยแต่ละบุคคลที่จะแตกต่างกัน
มีข้อควรระวังการใช้นาตามัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานาตามัยซิน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการหยอดตาโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามใช้หยอดตาที่อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือจากโรคติดเชื้อไวรัส
- ห้ามรับประทานยานี้ และห้ามนำยานี้ไปใช้เป็น ยาหยอดหู หรือ ยาหยอดจมูก
- ห้ามใช้ยานี้ที่มีสิ่งปนเปื้อน หรือยาที่มีสภาพสีสันแตกต่างไปจากเดิม
- ห้ามมิให้ปลายหลอดยาสัมผัส เปลือกตา/หนังตา ลูกตา นิ้วมือ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ยามีการปนเปื้อนสิ่งสกปรก
- ผู้ที่สวมใส่คอนแทคเลนส์ขณะที่มีการใช้ยานี้ ต้องหยุดใช้คอนแทคเลนส์จนกว่าจะเสร็จสิ้นคอร์ส(Course)ของการรักษา หรือตามคำสั่งแพทย์
- *หลังใช้ยานี้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 – 10 วัน หรือตามที่แพทย์แนะนำ หรือมีอาการแย่ลง,ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
- ต้องหยอดตาให้ครบเวลาตามคำสั่งแพทย์ ถึงแม้อาการของตาจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
- *หยุดการใช้ยานี้ทันที เมื่อพบอาการแพ้ยานี้ เช่น ปวดกระบอกตามาก ตาบวม ตาแดง คันตามาก น้ำตาไหลตลอดเวลา อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก, *แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- เมื่อใช้ยานี้ครบคอร์ส และอาการหายดีเป็นปกติ, ไม่ควรเก็บยาไว้ใช้ในคราวต่อไป ถึงแม้ยายังไม่หมดอายุก็ตาม เพราะตัวยาอาจปนเปื้อนสิ่งสกปรก
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานาตามัยซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
นาตามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานาตามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- ห้ามใช้ยาหยอดตา นาตามัยซิน ร่วมกับยาหยอดตาอื่นที่มีส่วนผสมของยา Corticosteroid ด้วยจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อราภายในตา/ลูกตามากขึ้น
ควรเก็บรักษานาตามัยซินอย่างไร?
ควรเก็บยานาตามัยซิน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 2 – 24 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด/แสงสว่าง ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
นาตามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานาตามัยซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Neosporin Eye Drops (นีโอสปอริน อาย ดรอป) | Glaxo Smithkline Pharmaceuticals Ltd. |
อนึ่ง: ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Myconat eye, Nata aid, Natam, Natoptic, Pimafusin, Natamet, Natacin, Nata drop, Zonat, N-Mycin, Nicin