นอร์เจสทิเมท (Norgestimate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานอร์เจสทิเมท(Norgestimate) เป็นอนุพันธ์หนึ่งของโปรเจสเทอโรน(Progesterone) จัดเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่มีความสำคัญต่อการควบคุมการตกไข่และการมีรอบเดือน/ประจำเดือน เราจะไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยานอร์เจสทิเมทในลักษณะของยาฮอร์โมนเดี่ยวๆ แต่จะใช้เป็นยาฮอร์โมนแบบผสม กรณีที่นำนอร์เจสทิเมทไปผสมร่วมกับเอทินิล เอสตราไดออล (Ethinyl estradiol, C20H24O2) จะถูกใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิด และบางกรณีก็ใช้ลดการเกิดสิวในสตรี แต่ถ้านำไปผสมร่วมกับเอสตราไดออล(Estradiol,C18H24O2) จะใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิง(Menopausal hormone therapy หรือ Hormone replacement therapy for menopause)

ทั่วไปยานอร์เจสทิเมทยังไม่สามารถแสดงฤทธิ์ออกมาได้หรือที่เราเรียกกันว่าโปรดรัก(Prodrug) แต่จะถูกเปลี่ยนไปเป็นนอร์เอลเกสโทรมิน(Norelgestromin) และลีโวนอร์เจสเตรล(Levonorgestrel)เสียก่อนจึงจะเป็นสารที่ออกฤทธิ์ได้

สำหรับรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานอร์เจสทิเมทนั้นเป็นยาฮอร์โมนแบบรับประทาน ที่ต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างไรก็ตามยาฮอร์โมนประเภทนี้ยังมีข้อจำกัดการใช้กับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดสมองตีบ
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งเต้านม
  • ห้ามใช้กับสตรีที่มีประจำเดือนผิดปกติโดยยังไม่ทราบสาเหตุ
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะดีซ่าน
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์

ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดทุกชนิดรวมยานอร์เจสทิเมท ยังต้องเฝ้าระวังอีกหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอาการโรคต่างๆที่เป็นผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ เช่น

  • การใช้นอร์เจสทิเมทร่วมกับการสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงกับหัวใจ เช่น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายโดยเฉพาะกับสตรีวัย 35 ปีขึ้นไป ดังนั้นขณะใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดจึงไม่ควรสูบบุหรี่
  • ระวังการเกิด มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ผู้ที่ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดควรได้รับการตรวจร่างกายประจำปี ซึ่งควรมีโปรแกรมการตรวจมะเร็งร่วมด้วยตามคำแนะนำของแพทย์
  • ระวังการเกิดเนื้องอกตับชนิดไม่ใช่มะเร็ง โดยเฉพาะกับผู้ที่ใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดต่อเนื่องเกิน 4 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นเนื้องอกในตับฯสูงมาก ซึ่งทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้หันมาใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆแทนการใช้ยาประเภทฮอร์โมนคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียวหลังใช้ยาคุมกำเนิดไปแล้วนาน 4-5ปี
  • เสี่ยงต่อการมีบาดแผลและมีลิ่มเลือดเกิดในตา ซึ่งขณะใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด แล้วพบอาการ ตาพร่า การเห็นภาพซ้อน ต้องหยุดใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดทันที และรีบมาพบจักษุแพทย์โดยเร็ว
  • การใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด ยังเสี่ยงต่อภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง หรือสตรีที่มี โรคเบาหวานอยู่แล้ว จะเสี่ยงต่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้น
  • สถิติทางคลินิกพบว่า ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดอาจประสบภาวะความดันโลหิตสูง ตลอดจนกระทั่งมีอาการปวดศีรษะไมเกรน กรณีนี้ จะต้องหยุดการใช้ยา คุมกำเนิด แล้วเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง หรือการปวดศีรษะไมเกรนให้กลับมาเป็นปกติ รวมถึงปรึกษาแพทย์ถึงวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม
  • ยานอร์เจสทิเมทยังอาจเป็นเหตุให้ประจำเดือนขาด หรือมีประจำเดือนกระปริบ กระปรอย กรณีนี้ผู้บริโภคสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด
  • ฮอร์โมนคุมกำเนิด อาจทำให้มีภาวะตั้งครรภ์/ท้องนอกมดลูกได้

จากผลกระทบดังที่กล่าวมา ควรจะใช้เป็นข้อเตือนสติว่า การซื้อยาฮอร์โมนเพศรับประทานเองโดยไม่มีการพบแพทย์เลย อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อร่างกายดังที่กล่าวมา ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดชนิดใด ผู้บริโภค ควรมารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อปรึกษาถึงชนิดของยาคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับตนเอง กล่าวคือเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดเหล่านั้น นอกจากสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้แล้ว ยังต้องทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่น้อยที่สุด

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการทราบข้อมูลของฮอร์โมนนอร์เจสทิเมทเพิ่มเติม สามารถสอบถามจากแพทย์ที่ให้คำปรึกษาการใช้ยาคุมกำเนิด หรือจากเภสัชกรที่ประจำตามร้านขายยาได้ทั่วไป

นอร์เจสทิเมทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

นอร์เจสทิเมท

ยานอร์เจสทิเมทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
  • ใช้บำบัดอาการเป็นสิว ในสตรีที่มีอาการเป็นสิวรุนแรงปานกลางลงมา
  • ใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดประจำเดือน

นอร์เจสทิเมทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานอร์เจสทิเมท มีกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้ เช่น

ก. กรณีใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิด: ยาฮอร์โมนนอร์เจสทิเมท(Norgestimate) จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างจากลำไส้เล็กและตับไปเป็นสารออกฤทธิ์อีก 2 ตัวคือ นอร์เอลเจสโทรมิน(Norelgestromin) และนอร์เจสเตรล (Norgestrel) ซึ่งจะทำงานร่วมกับฮอร์โมนเอทินิล เอสตราไดออล(Ethinyl estradiol) ส่งผลยับยั้งการตกไข่ในรอบเดือน/รอบประจำเดือนของสตรีวัยมีประจำเดือน, ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงจนยากต่อการฝังตัวของไข่, รวมถึงทำให้ปากมดลูกมีเมือกข้นจนเป็นอุปสรรคต่อตัวอสุจิที่จะผ่านเข้าในโพรงมดลูกเพื่อทำการปฏิสนธิกับไข่ ด้วยกลไกดังกล่าว จึงเกิดฤทธิ์ของการคุมกำเนิดตามสรรพคุณ

ข. กรณีใช้รักษาสิว: สิวเป็นภาวะผิดปกติของผิวหนังที่มีสาเหตุหลายอย่างรวมถึงจากฮอร์โมนแอนโดรเจน(Androgen)ที่คอยกระตุ้นการผลิตไขมันออกมามากจนเป็นเหตุให้เกิดสิว การได้รับยาฮอร์โมนรวมอย่างยา Norgestimate + Ethinyl estradiol จะทำให้ฮอร์โมนแอนโดรเจนอย่างเช่น Testosterone เข้ารวมตัวกับสารโปรตีนในเลือดจนไม่สามารถออกฤทธิ์ได้อีกต่อไป ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกสารที่รวมตัวกันนี้ว่า “Sex hormone binding globulin หรือเขียนย่อๆว่า SHBG” การเปลี่ยนแปลงของ Testosterone อิสระไปเป็น SHBG นี้เอง จะช่วยลดความรุนแรงของสิวบนใบหน้าในสตรี และเป็นที่มาของสรรพคุณ

นอร์เจสทิเมทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานอร์เจสทิเมทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

ก. ยาเม็ดชนิดรับประทาน ประกอบด้วย นอร์เจสทิเมท 3 ระดับ ใน 1 แผง 21 และ 28 เม็ด

  • เม็ดที่ 1–7: แต่ละเม็ดประกอบด้วย Norgestimate 0.180 มิลลิกรัม + Ethinyl estradiol 0.035 มิลลิกรัม
  • เม็ดที่ 8–14: แต่ละเม็ดประกอบด้วย Norgestimate 0.215 มิลลิกรัม + Ethinyl estradiol 0.035 มิลลิกรัม
  • เม็ดที่ 15–21: แต่ละเม็ดประกอบด้วย Norgestimate 0.250 มิลลิกรัม + Ethinyl estradiol 0.035 มิลลิกรัม
  • เม็ดที่ 22–28: เป็นยาหลอกที่ไม่มีฮอร์โมน แต่ละเม็ดยา เป็นเพียงน้ำตาลแลคโตส(Lactose)เท่านั้น

ข. ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีปริมาณนอร์เจสทิเมทเท่ากันทุกเม็ด เช่น

  • เม็ดที่ 1–21: แต่ละเม็ดประกอบด้วย Norgestimate 0.250 มิลลิกรัม + Ethinyl estradiol 0.035 มิลลิกรัม
  • เม็ดที่ 22–28: เป็นยาหลอกที่ไม่มีฮอร์โมน แต่ละเม็ดเป็นเพียงน้ำตาลแลคโตสเท่านั้น

อนึ่ง: แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องของ ยาเม็ดคุมกำเนิด ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ยาเม็ดคุมกำเนิด”

นอร์เจสทิเมทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยานอร์เจสทิเมทมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ยานอร์เจสทิเมท มีขนาดรับประทานในสตรี วัยมีประจำเดือนที่ต้องการคุมกำเนิดโดยใช้ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีปริมาณนอร์เจสทิเมทเท่ากันทุกเม็ดคือ

  • วันแรก: รับประทานยาเม็ดที่มีฮอร์โมนครั้งละ 1 เม็ดโดยเลือกเม็ดที่ระบุวันตรงกับวันที่รับประทาน เช่น วันนี้เป็นวันอาทิตย์ก็ให้รับประทานยาเม็ดที่อยู่ตรงตำแหน่งที่ระบุเป็นวันอาทิตย์
  • วันที่สอง: ให้รับประทานยาอีก 1 เม็ดในเวลาเดียวกันกับยาเม็ดแรกโดยเลือกยาตรงตำแหน่งวันจันทร์ถัดมาจากยาเม็ดครั้งแรก
  • วันถัดๆไป: ให้รับประทานเช่นเดิมจนครบ 21 เม็ด แล้วรับประทานยาหลอกวันละ1เม็ดจนครบ 7 วัน จากนั้นให้เริ่มรอบรับประทานยาแผงใหม่ต่อเนื่องกันไป คือเริ่มตั้งแต่ดังที่กล่าวในวันแรก

อนึ่ง: เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาเม็ดคุมกำเนิดทุกชนิดรวมถึงยานอร์เจสทิเมท ผู้บริโภคควรปฏิบัติดังนี้

  • ช่วง 7 วันแรกของการเริ่มรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หากมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมในการคุมกำเนิดด้วย
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้ แต่ควรเป็นเวลาเดียวกันในทุกๆวัน เพื่อรักษาและควบคุมระดับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายให้คงที่
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่อง ไม่ควรลืมหรือหยุดการใช้ยานี้แล้วมีเพศสัมพันธ์ ด้วยจะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ตามมา
  • ในช่วงรับประทานยาหลอกจนครบ และประจำเดือนรอบใหม่มาแล้ว สามารถเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ได้ต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ประจำเดือนหมดก่อน

ข. กรณีรักษาสิวในสตรี: ขนาดยาจะขึ้นกับแต่ละผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป โดยจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาซึ่งจะพิจารณาประกอบจาก อายุผู้ป่วย ความรุนแรงของสิว และยาอื่นๆที่ใช้ร่วมด้วยกับการรักษาสิว

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานอร์เจสทิเมท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานอร์เจสทิเมทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยานอร์เจสทิเมทควรทำดังนี้ เช่น

ก. กรณีใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีปริมาณนอร์เจสทิเมทเท่ากันทุกเม็ด:

  • หากลืมรับประทานยา 1 เม็ดในสัปดาห์ที่ 1 หรือที่ 2 หรือที่ 3 สามารถรับประทานยานี้เมื่อนึกขึ้นได้
  • กรณีลืมรับประทานติดต่อกัน 2 วัน (2 เม็ด) ในสัปดาห์ที่ 1 หรือที่ 2 ให้รับประทานยา 2 เม็ดทันทีเมื่อนึกขึ้นได้และรับประทานอีก 2 เม็ดในวันถัดมา แล้วตามด้วยการรับประทานยาวันละ 1 เม็ดเป็นปกติจนครบแผง
  • หากลืมรับประทานยานี้ติดต่อกัน 2 วัน (2 เม็ด) ในสัปดาห์ที่ 3 ให้ทิ้งทำลายยาแผงเดิม ไม่ต้องรับประทานยาที่เหลือ ให้เปลี่ยนมารับประทานยาแผงใหม่วันละเม็ดเหมือนปกติ

ข. กรณีลืมใช้ยานอร์เจสทิเมทที่เม็ดยามีระดับยาต่างกัน: ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา

นอร์เจสทิเมทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานอร์เจสทิเมทสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียนโดยเฉพาะในช่วงแรกที่รับประทานยานี้ เกิดตะคริวที่ท้อง อาจพบเกิดแผลในหลอดอาหาร มีอาการท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดความเสี่ยงต่อเกิดภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงภาวะหัวใจล้มเหลว แน่นหน้าอก หัวใจเต้นช้า
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิตกกังวล ปวดศีรษะ วิงเวียน มีไข้ต่ำๆ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน นอนไม่หลับ ซึมเศร้า
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผื่นคัน เกิดตุ่มแดงตามผิวหนัง เหงื่อออกมาก ผมร่วง เกิดสิว ผิวมัน เกิดฝ้า
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น คันช่องคลอด เจ็บปวดช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกจากช่องคลอด/ประจำเดือนผิดปกติ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล(LDL)มีเพิ่มขึ้น ในขณะที่ไขมันชนิดเอชดีแอล(HDL) ลดลง มีภาวะคัดตึงเต้านมหรือเต้านมโต

*อนึ่ง การกินยาเม็ดคุมกำเนิดเกินขนาดที่รวมถึงยานอร์เจสทิเมท อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ และมีประจำเดือนผิดปกติ กรณีนี้ให้รีบมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ให้การบำบัดรักษาอาการดังกล่าว

มีข้อควรระวังการใช้นอร์เจสทิเมทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานอร์เจสทิเมท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบต่างๆในยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดดำอักเสบด้วยอาจเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ หรือในผู้ที่เป็นหลอดเลือดดำขอด รวมถึงผู้ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจ ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณสมองผิดปกติ ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะทางหลอดเลือดอักเสบร่วมด้วย
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ/ประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ หรือมีภาวะดีซ่าน
  • ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ขณะรับประทานยานี้
  • หากคลำพบก้อนเนื้อที่บริเวณเต้านม/ก้อนในเต้านม หรือมีความดันโลหิตสูงมาก หรือมีภาวะผิดปกติอื่นๆในระหว่างรับประทานยานี้ เช่น เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ควรหยุดใช้ยานี้และรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ระวังการลืมรับประทานยานี้เพราะจะส่งผลเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ตามมา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยานอร์เจสทิเมทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นอร์เจสทิเมทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานอร์เจสทิเมท มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยานอร์เจสทิเมทร่วมกับ ยาAmprenavir อาจทำให้ประสิทธิภาพของยานอร์เจสทิเมทด้อยลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยานอร์เจสทิเมทร่วมกับ Phenobarbital, Fosphenytoin และ Carbamazepine, จะทำให้ระดับและประสิทธิผลของยานอร์เจสทิเมทลดน้อยลงจนอาจส่งผลให้มีประจำเดือนผิดปกติ และเสี่ยงต่อภาวะตั้งครรภ์ตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษานอร์เจสทิเมทอย่างไร?

ควรเก็บยานอร์เจสทิเมท ภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

นอร์เจสทิเมทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานอร์เจสทิเมท มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ORTHO TRI-CYCLEN (ออร์โธ ไตร-ไซคลีน)Janssen Ortho
ORTHO-CYCLEN (ออร์โธ-ไซคลีน)Janssen Ortho
Mononessa (โมโนเนสซา)Watson Pharmaceuticals

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Previfem, Sprintec, Prefest

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00957 [2018,Feb3]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Norgestimate [2018,Feb3]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2005/021690lbl.pdf [2018,Feb3]
  4. https://www.drugs.com/sfx/mononessa-side-effects.html [2018,Feb3]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/ethinyl-estradiol-norgestimate,mononessa-index.html?filter=3&generic_only= [2018,Feb3]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/2031863 [2018,Feb3]