นอร์อีแทนโดรโลน (Norethandrolone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- นอร์อีแทนโดรโลนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- นอร์อีแทนโดรโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นอร์อีแทนโดรโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นอร์อีแทนโดรโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- นอร์อีแทนโดรโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้นอร์อีแทนโดรโลนอย่างไร?
- นอร์อีแทนโดรโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานอร์อีแทนโดรโลนอย่างไร?
- นอร์อีแทนโดรโลนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Anabolic steroid
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
บทนำ
ยานอร์อีแทนโดรโลน(Norethandrolone) หรือ ยาเอทิลแนนโดรโลน (Ethylnandrolone) หรือ ยาเอทิลนอร์เทสโทสเตอโรน (Ethylnortestosterone) หรือ 17 alpha -ethyl-19-nortestosterone หรือ 17 alpha -ethyl-19-norandrost-4-en-17β-ol-3-one เป็นตัวยาสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกับฮอร์โมนเพศของมนุษย์โดยอยู่ในประเภท Anabolic steroid (Anabolic-androgenic steroids) ประโยชน์ของยานี้ที่ทางคลินิกนำมาใช้ได้แก่ เป็นยาช่วยกระตุ้นให้เกิดการสังเคราะห์และสะสมโปรตีนเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ
ยานอร์อีแทนโดรโลนถูกนำมาใช้และเป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) สมัยนั้นตัวยามีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำรวมถึงเป็นยาฉีด
ยานอร์อิแทนโดรโลน ยังถูกใช้เพื่อฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยหลังจากการผ่าตัด, ใช้กับผู้ที่อยู่ในสภาวะเจ็บป่วยเป็นเวลานานๆ, ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ได้สัดส่วนจนเกิดผลเสียต่อร่างกาย, ผู้ป่วยแผลไหม้ระยะรุนแรง, ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน, กระดูกหัก, ผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินอาหาร, ผู้ที่มีสุขภาพไม่ดีเพราะทานอาหารไม่ถูกต้อง, และสามารถใช้ยายี้ได้ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็ก
การใช้ยากลุ่ม Anabolic steroidที่รวมยานอร์อีแทนโดรโลน อาจทำให้ผู้ที่ใช้ยาผิดขนาด ผิดวิธี ได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)อย่างรุนแรงได้ กล่าวคือ ยานอร์อีแทนโดรโลนมีการแสดงฤทธิ์/ออกฤทธิ์เป็น 2 ลักษณะ คือ ทำหน้าที่ของฮอร์โมนเพศชาย โดยช่วยสะสมสารโปรตีนในเซลล์กล้ามเนื้อ ทำให้ขนดก ผิวมัน ผมร่วง ในขณะเดียวกัน ก็แสดงฤทธิ์ของความเป็นฮอร์โมนเพศหญิงด้วย คือทำให้หน้าอก/เต้านมโต นอกจากนี้การใช้ยานี้ต่อเนื่องนานๆ และผิดวิธีจากที่แพทย์แนะนำ สามารถก่อให้เกิดอันตรายโดยทำให้เกิดพิษกับตับ(ตับอักเสบ) ทำให้ระดับไขมันไม่ดีชนิดแอลดีแอล (LDL)ในเลือดเพิ่มขึ้นและทำให้ปริมาณไขมันดีอย่างเฮชดีแอล (HDL) ลดลง ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง และเกิดการสะสมไขมันตามผนังหลอดเลือดจนเป็นเหตุสนับสนุนให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมา นอกจากนี้ ยังทำให้หัวใจห้องล่างด้านซ้ายโตได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นขณะที่ใช้ยานอร์อีแทนโดรโลน แพทย์จะแนะนำให้ผู้บริโภค/ผู้ป่วย ออกกำลังกาย, และลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว (Saturated fat)ให้น้อยลง บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานน้ำมันปลาเป็นอาหารเสริมร่วมกับการใช้ยานอร์อิแทนโดรโลน โดยพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ยานอร์อีแทนโดรโลน ยังแสดงฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนธรรมชาติที่มีชื่อว่า Testosterone โดยทั่วไป หลังหยุดการใช้ยานอร์อีแทนโดรโลน ร่างกายจะค่อยๆปรับตัวและกลับมาสร้างฮอร์โมน Testosterone ให้มีระดับเป็นปกติได้เองภายในเวลา 1–4 เดือนหลังหยุดยานี้
ปัจจุบัน มีผู้บริโภคกลุ่มนักกีฬาที่ให้ความสนใจต่อยาในกลุ่ม Anabolic steroid รวมถึงยานอร์อีแทนโดรโลน เพื่อใช้สร้างกล้ามเนื้อร่างกาย ขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมในเพศชายและหญิงมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของฮอร์โมน และสรีระของหญิง-ชายที่มีความต่างกันตามธรรมชาติอยู่แล้ว
อาจสรุปข้อแตกต่างระหว่างการใช้ยานอร์อีแทนโดรโลนในชาย-หญิงโดยย่อๆได้ดังนี้ เช่น
ก. การใช้ยานอร์อีแทนโดรโลนในบุรุษเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ: ใช้ขนาดรับประทานวันละ 20–30 มิลลิกรัม ระยะเวลาของการใช้ยาไม่เกิน 12 สัปดาห์ และต้องหยุดการใช้ยาเป็นเวลา 1 เดือน ก่อนจะใช้ยาในรอบถัดไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดผลข้างเคียงต่างๆจากยา ไม่ว่าจะเป็นที่ ตับ หัวใจ หลอดเลือด หรือแม้แต่ผลกระทบต่อการสร้าง Testosterone ตามธรรมชาติ ในทางปฏิบัติแพทย์อาจให้ผู้บริโภคใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 6–8 สัปดาห์ และหยุดการใช้ยา 6–8 สัปดาห์ โดยเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
ข.การใช้ยาในสตรีเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ: ใช้ขนาดรับประทานน้อยกว่าผู้ชาย คือ รับประทานยาได้เพียง 5–10 มิลลิกรัม/วัน การรับประทานยานี้ในปริมาณมากกว่านี้จะทำให้ผู้หญิงมีลักษณะออกมาเหมือนเพศชาย สิ่งสำคัญ คือ มีโอกาสได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ได้มากขึ้น การใช้ยานี้ในสตรีไม่ควรเกิน 4 สัปดาห์ต่อเนื่อง
*อาจกล่าวได้ว่า ยานอร์อีแทนโดรโลน จัดเป็นยาประเภทออกฤทธิ์แรง การใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ห้ามผู้บริโภคไปซื้อยานี้มารับประทานเอง และห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินคำสั่งแพทย์ เพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่ออวัยวะสำคัญๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว เช่น ตับ หัวใจ
ปัจจุบันยานอร์อีแทนโดรโลน ได้ถูกยกเลิกการใช้ในประเทศอเมริกา ด้วยผลข้างเคียงที่ทำให้มีภาวะดีซ่านประเภท Cholestatic jaundice แต่ก็สามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ในแถบ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์
หากต้องการข้อมูลของยานอร์อีแทนโดรโลน เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ที่เป็นผู้ดูแล หรือจากสอบถามจากเภสัชกรได้ทั่วไป
นอร์อีแทนโดรโลนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยานอร์อีแทนโดรโลนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เสริมสร้างเซลล์กล้ามเนื้อของร่างกาย โดยตัวยาจะเร่งการสังเคราะห์สารโปรตีน จนเกิดการสะสมสารโปรตีนในเซลล์กล้ามเนื้อ
- ใช้ฟื้นฟูเซลล์กล้ามเนื้อหลังผ่าตัด, ฟื้นฟูเซลล์กล้ามเนื้อจากภาวะแผลไหม้
- ใช้ฟื้นฟูสภาพร่างกายที่มีสาเหตุจากการรับประทานอาหารไม่ถูกสัดส่วน
นอร์อีแทนโดรโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยานอร์อีแทนโดรโลนเป็นยาประเภท Anabolic-androgenic steroids (AAS) โดยมีกลไกการออกฤทธิ์จากตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ของร่างกายที่มีชื่อว่า Androgen receptor ซึ่งอยู่ในของเหลวภายในเซลล์(Cytoplasm)ของร่างกาย จากนั้นจะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ ให้เกิดกระบวนการเร่งสร้างสารโปรตีน และทำให้ลดระยะเวลาของการซ่อมแซมเซลล์ร่างกายที่มีความเสียหาย อีกทั้งช่วยลดสภาวะการทำลายตัวของเซลล์กล้ามเนื้อลงอีกด้วย จากกลไกเหล่านี้เอง ทำให้เป็นที่มาของข้อบ่งใช้/ สรรพคุณของยานี้
นอร์อีแทนโดรโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยานอร์อีแทนโดรโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายในประเทศไทย เป็น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยยา Norethandrolone 5, 10, และ25 มิลลิกรัม/เม็ด
นอร์อีแทนโดรโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยานอร์อีแทนโดรโลนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่ (บุรุษ): รับประทานยา 20–30 มิลลิกรัม/วัน โดยมีระยะเวลาการใช้ยา ตามคำสั่งแพทย์
- ผู้ใหญ่ (สตรี): รับประทานยา 5–10 มิลลิกรัม/วัน โดยมีระยะเวลาการใช้ยา ตามคำสั่งแพทย์
อนึ่ง:
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- รับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้ แต่เพื่อประสิทธิผลของยา ควรรับประทานเวลาเดียวกันในแต่ละวัน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานอร์อีแทนโดรโลน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคมะเร็ง โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานอร์อีแทนโดรโลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยานอร์อีแทนโดรโลน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ
นอร์อีแทนโดรโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยานอร์อีแทนโดรโลนตรงตามคำสั่งแพทย์ สามารถลดโอกาสที่จะได้รับผลกระทบ(ผลไม่พึงประสงค์จากยา/ ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)กับร่างกายลงได่ การใช้ยานี้ในปริมาณมาก หรือใช้ต่อเนื่องในระยะเวลานานเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผิวมัน เป็นสิว ผมร่วง ขนที่ใบหน้าและตามร่างกายดกขึ้น
- ผลต่อลักษณะทางเพศ: เช่น การใช้ยานี้กับสตรี สามารถทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าบุรุษภาพในหญิงโดยนอกจากจะเพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้เหมือนบุรุษ อาจมีเสียงเปลี่ยนไป ประจำเดือนผิดปกติ ใบหน้ามีขนดกหรือเกิดเป็นหนวดเครา
- ผลต่อตับ: เช่น ทำให้เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น มีภาวะตับแข็ง ดีซ่าน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น อาจทำให้เกิดภาวะไขมันสะสมในหลอดเลือดและเป็นเหตุให้เกิดโรคหัวใจวาย หรือเกิดภาวะหัวใจห้องล่างด้านซ้ายโต
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น กดการผลิตฮอร์โมนชนิด Testosterone ของร่างกาย
มีข้อควรระวังการใช้นอร์อีแทนโดรโลนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานอร์อีแทนโดรโลน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย มะเร็งเต้านม โรคหัวใจ มะเร็งต่อมลูกหมาก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งผลให้ได้รับผลข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ ผู้ที่มีภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
- หยุดการใช้ยานี้ทันที เมื่อพบอาการ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวเหลือง และต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร การพักผ่อน และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานอร์อีแทนโดรโลนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
นอร์อีแทนโดรโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานอร์อีแทนโดรโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานอร์อีแทนโดรโลนร่วมกับยา Tegaserod (ยารักษาอาการในโรคลำไส้แปรปรวน) ด้วยจะทำให้ระดับยานอร์อีแทนโดรโลนในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลต่อประสิทธิผลของการรักษา
ควรเก็บรักษานอร์อีแทนโดรโลนอย่างไร?
ควรเก็บยานอร์อีแทนโดรโลนภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
นอร์อีแทนโดรโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานอร์อีแทนโดรโลน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Nilevar (นิเลวาร์) | HUMAN LABS |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Pronabol
บรรณานุกรม
- https://anabolic.org/nilevar-norethandrolone/[2017,April15]
- http://survival-training.info/Library/Health/Health%20-%20Chemical%20Muscle%20Enhancement%20-%20Author%20Rea.pdf[2017,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Norethandrolone[2017,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Anabolic_steroid[2017,April15]
- http://www.druginfosys.com/drug.aspx?drugcode=2013&type=1#ContraIn[2017,April15]