นอร์ซูโดอีเฟดรีน (Norpseudoephedrine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- บทนำ
- นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยานอร์ซูโดอีเฟดรีนควรทำอย่างไร?
- นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้นอร์ซูโดอีเฟดรีนอย่างไร?
- นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานอร์ซูโดอีเฟดรีนอย่างไร?
- นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอมเฟตามีน (Amphetamine)
- วัตถุออกฤทธิ์ (Psychotropic substances)
- ยาลดความอ้วน (Diet pill or Weight loss drug)
- ความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary hypertension)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
- ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)
บทนำ
สาร/ยานอร์ซูโดอีเฟดรีน(Norpseudoephedrine หรือ Norpseudoephedrine hydrochloride หรือ Norpseudoephedrine HCl หรือ D-Norpseudoephedrine หรือ L-Norpseudoephedrine หรือ Cathine หรือ Cathine hydrochloride) หรือจะเรียกในชื่ออื่น อาทิ Norephedrin, Norephedrine, D-Cathine, Katine, D-norephedrine, D-phenylpropanolamine, และ Pseudonorephedrine อดีตที่ผ่านมายาชนิดนี้ถูกนำไปใช้กับนักกีฬาโอลิมปิกในลักษณะยาโดป(Doping agent) ด้วยทำให้รู้สึกมีพละกำลัง ตามกฎหมายของประเทศไทยจัดให้ยาชนิดนี้อยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 และมีโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกับยาแอมเฟตามีน(Amphetamine) เราสามารถพบเห็นสารประกอบ/สารนอร์ซูโดอีเฟดรีนได้ตามธรรมชาติในพืชตระกูล Catha edulis หรือ Khat
ยานอร์ซูโดอีเฟดรีน มีฤทธิ์กระตุ้นสมองทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Norepinephrine (Norepinephrine releasing agent หรือย่อว่า NRA) ออกมามากกว่าปกติ ทางคลินิกจะใช้ยานอร์ซูโดอีเฟดรีนเป็นยาลดน้ำหนัก(ยาลดความอ้วน) โดยผู้ที่จะเข้าโปรแกรมลดน้ำหนักจะต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ว่ามีความเหมาะสม สามารถทนต่อผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยาได้หรือไม่หรือหากตรวจพบว่า ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวบางอย่างก็ทำให้ไม่สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตในปอดสูง/ความดันหลอดเลือดปอดสูง ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดของหัวใจทำงานผิดปกติ/โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เนื้องอกของต่อมหมวกไต(เช่น Pheochromocytoma) ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคต้อหิน และสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ การใช้ยานอร์ซูโดอีเฟดรีนกับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะทำให้มีอาการโรคกำเริบได้อย่างรุนแรง สำหรับผู้ที่ได้รับการสั่งจ่ายยาชนิดนี้แล้ว จะต้องรับประทานยานี้และปฏิบัติตนตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด การปรับขนาดรับประทานเพิ่มเพื่อเร่งการเผาผลาญภายในร่างกายให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างมากเพราะจะทำให้เกิดอาการหลงผิด ประสาทหลอน มีไข้สูง เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจขัด/หายใจลำบาก ระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว การช่วยเหลือผู้ป่วยคือต้องรีบส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน แพทย์จะช่วยเหลือผู้ป่วยตามอาการ (การรักษาประคับประคองตามอาการ) กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจต้องใช้วิธีการล้างท้องเพื่อเร่งกำจัดพิษของยานอร์ซูโดอีเฟดรีนออกจากร่างกายให้มากที่สุด
ในประเทศไทยอาจไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยานอร์ซูโดอีเฟดรีนสักเท่าใดนัก ด้วยมียาและอาหารเสริมที่ช่วยลดน้ำหนักซึ่งถูกใช้เป็นทางเลือกอยู่มากมาย ส่วนในต่างประเทศ สามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานอร์ซูโดอีเฟดรีนเพียงไม่กี่ชื่อการค้า เช่น Eethess เป็นต้น
นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยานอร์ซูโดอีเฟดรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน
นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยานอร์ซูโดอีเฟดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยากระตุ้นศูนย์อิ่มอาหารและกดการทำงานของศูนย์หิวในสมอง ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกอยากอาหาร ร่างกายจึงนำพลังงานส่วนเกิน เช่น จากไขมัน มาเผาผลาญในอัตราที่สูงกว่าปกติ ด้วยกลไกนี้จึงทำให้ร่างกายมีน้ำหนักตัวลดลงได้ตามสรรพคุณ
นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Cathine (Norpseudoephedrine HCl) ขนาด 50 มิลลิกรัม/แคปซูล
นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยานอร์ซูโดอีเฟดรีนมีขนาดรับประทานสำหรับใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 20–50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หลังอาหารเช้า ระยะเวลาการใช้ยาอาจยาวนาน 4 สัปดาห์ หรือใช้ตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กเพราะอาจทำให้การเจริญเติบโตของเด็กช้าผิดปกติ
อนึ่ง:
- การใช้ยาชนิดนี้/ยานี้ต้องมีการควบคุมอาหารควบคู่กันไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยานอร์ซูโดอีเฟดรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หายใจขัด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานอร์ซูโดอีเฟดรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะมียาหลายตัวสามารถผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนมมารดา และเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานนอร์ซูโดอีเฟดรีนควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยานอร์ซูโดอีเฟดรีน สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทายยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยา เป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยานอร์ซูโดอีเฟดรีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ตัวสั่น วิงเวียน เกิดภาวะติดยา
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ปวดบริเวณส่วนหน้าหัวใจ/เจ็บหน้าอก
มีข้อควรระวังการใช้นอร์ซูโดอีเฟดรีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้นอร์ซูโดอีเฟดรีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยานอร์ซูโดอีเฟดรีนโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ แต่ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
- กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มี โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีประวัติติดสุราหรือติดยาเสพติด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต/โรคทางจิตเวช ผู้ป่วยโรคไต
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยจะทำให้การเจริญเติบโตของเด็กช้าลง
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยานอร์ซูโดอีเฟดรีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ฌสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานอร์ซูโดอีเฟดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยานอร์ซูโดอีเฟดรีนร่วมกับ ยาGuanethidine เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของยา Guanethidine ด้อยลงไป
- ห้ามใช้ยานอร์ซูโดอีเฟดรีนร่วมกับ ยาDigitalis เพราะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
- ห้ามใช้ยานอร์ซูโดอีเฟดรีนร่วมกับ ยากลุ่ม MAOI ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยานอร์ซูโดอีเฟดรีนให้หยุดการใช้ยา MAOI อย่างน้อย 14 วัน
ควรเก็บรักษานอร์ซูโดอีเฟดรีนอย่างไร?
ควรเก็บยานอร์ซูโดอีเฟดรีน ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
นอร์ซูโดอีเฟดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานอร์ซูโดอีเฟดรีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Eetless (อีทเลส) | Adcock Ingram |
บรรณานุกรม
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB01486 [2018,Jan13]
- http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/wp-content/uploads/2015/11/table-PHYCHO-list-update-21.12.2015.pdf [2018,Jan13]
- http://www.mims.com/india/drug/info/cathine?type=full&mtype=generic [2018,Jan13]
- https://www.tabletwise.com/southafrica/eetless-capsule [2018,Jan13]