ท่อลม (Trachea)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 27 มกราคม 2557
- Tweet
ท่อลม ความหมายโดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ทางเดินอา กาศ/ทางเดินหายใจส่วนล่างที่อยู่ระหว่างกล่องเสียงกับหลอดลม
ทางการแพทย์ ท่อลมมีความหมายเช่นเดียวกับจากพจนานุกรม โดยเป็นท่อกลมยาวที่อยู่ในช่วงลำคอ ยาวลงไปจนถึงในช่องอก ระหว่างปอดทั้ง 2 ข้าง โดยจะแยกเป็น หลอดลมประธาน (Main bronchus) 2 ด้าน (คือ ด้านซ้ายและด้านขวา) ที่ระดับประมาณกระดูกอกข้อที่ 4-5 โดยเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อลมจะประมาณ 25 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10-16 เซนติ เมตร ทั้งนี้ ผนังของท่อลมจะประกอบด้วยกระดูกอ่อนรูปตัว C เป็นปล้องๆ ทั้งหมดประมาณ 15-20 ปล้อง ซึ่งยึดกันไว้ด้วยกล้ามเนื้อลาย ทั้งกระดูกอ่อนและกล้ามเนื้อจะเป็นตัวช่วยการบีบตัวของท่อลม เพื่อเป็นแรงส่งให้อากาศไหลเคลื่อนที่จากกล่องเสียงเข้าสู่หลอดลมประธาน และภายในท่อลมจะบุด้วยเนื้อเยื่อเมือกที่มีเซลล์สร้างเมือก เพื่อให้ความชุ่มชื้นกับท่อลม เป็นตัวดักจับเชื้อโรค และเป็นตัวช่วยปรับอุณหภูมิอากาศให้พอเหมาะกับอุณหภูมิของหลอดลมและเนื้อ เยื่อปอด ซึ่งเมื่อเกิดการอักเสบของท่อลม เซลล์เหล่านี้จะสร้างเมือกมากขึ้น เกิดเป็นสารคัดหลั่งที่เราเรียกว่า เสมหะหรือเสลด
โรคของท่อลมที่พบได้บ่อย คือ ท่อลมอักเสบติดเชื้อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ นอกจากนั้น คือ อุบัติเหตุต่อท่อลม เช่น ถูกของมีคม ส่วนเนื้องอกและโรคมะเร็งของท่อลมเป็นโรคที่พบได้ แต่น้อยมากๆ
บรรณานุกรม
- Trachea http://en.wikipedia.org/wiki/Trachea [2014,Jan18].
- Vertebrate trachea http://education.yahoo.com/reference/gray/subjects/subject/236 [2014,Jan18].