ท่อน้ำดีอักเสบ (Cholangitis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 25 เมษายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- ท่อน้ำดีอักเสบมีกี่ชนิด?
- ท่อน้ำดีอักเสบมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- ท่อน้ำดีอักเสบมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยท่อน้ำดีอักเสบได้อย่างไร?
- รักษาท่อน้ำดีอักเสบอย่างไร?
- ท่อน้ำดีอักเสบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ท่อน้ำดีอักเสบรุนแรงไหม?อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต?
- ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันท่อน้ำดีอักเสบได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- กายวิภาคตับและระบบทางเดินน้ำดี (Hepatobiliary system)
- โรคตับ (Liver disease)
- นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดี (Gallstone)
- นิ่วท่อน้ำดี นิ่วทางเดินน้ำดี (Biliary tract stone) นิ่วในตับ (Hepatolithiasis)
- โรคตับแข็ง (Liver cirrhosis)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
บทนำ
ท่อน้ำดีอักเสบ(Cholangitis) คือ การอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียของท่อน้ำดี/ ระบบทางเดินน้ำดี / ท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งจัดเป็นการอักเสบติดเชื้อที่รุนแรงจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้สูง โดยเฉพาะในคนที่มาพบแพทย์/มาโรงพยาลาลล่าช้า
ท่อน้ำดีอักเสบ พบไม่บ่อยนัก พบทุกเชื้อชาติ พบทุกเพศใกล้เคียงกัน พบทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบบ่อยกว่าในผู้ใหญ่ในช่วงอายุ 50-60 ปี
ท่อน้ำดีอักเสบมีกี่ชนิด?
ท่อน้ำดีอักเสบมีหลายชนิด ทั่วไปแบ่งเป็น 3 ชนิด/กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ท่อน้ำดีอักเสบตีบแข็ง, ท่อน้ำดีอักเสบปฐมภูมิ, และ ท่อน้ำดีอักเสบจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ(Immune cholangitis)
ก. ท่อน้ำดีอักเสบตีบแข็ง(Sclerosing cholangitis ย่อว่า SC): คือ โรคที่เกิดจาก การตีบแข็งของท่อทางเดินน้ำดี/ท่อในระบบทางเดินน้ำดี ร่วมกับมีการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียของท่อน้ำดีเหล่านั้น ซึ่งท่อน้ำดีอักเสบชนิดนี้จะนำไปสู่
- โรคตับแข็ง
- ภาวะตับวาย,
- และสามารถเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้
ท่อน้ำดีอักเสบตีบแข็ง เป็นโรคพบทุกอายุ ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โรคกลุ่มนี้แบ่งย่อยเป็น 2ชนิด ได้แก่
- ชนิดไม่ทราบสาเหตุเกิด หรือเรียกว่า ‘ท่อน้ำดีอักเสบตีบแข็งปฐมภูมิ(Primary sclerosing cholangitis ย่อว่า PSC)’: พบได้ประมาณ 10%ของผู้ป่วยในกลุ่มใหญ่นี้ และ
- ชนิดทราบสาเหตุเกิด หรือเรียกว่า ‘ท่อน้ำดีอักเสบตีบแข็งทุติยภูมิ(Secondary sclerosing cholangitis หรือ Acquired sclerosing cholangitis)’: พบเป็นประมาณ 90%ของผู้ป่วยในกลุ่มใหญ่ ซึ่งสาเหตุ เช่น
- มีความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่นในผู้ป่วยโรคเอดส์
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ฉีดเข้าหลอดเลือดแดง เช่น ยา Floxuridine
- ผลข้างเคียงจากการบาดเจ็บของท่อน้ำดี เช่น จากอุบัติเหตุต่างๆต่อตับ/ระบบทางเดินน้ำดี, จากการตรวจโรคด้วยการสอดท่อตรวจระบบทางเดินน้ำดี
- การเกิดนิ่วในระบบน้ำดี
- ท่อน้ำดีตีบตั้งแต่กำเนิด
- มะเร็งท่อน้ำดี
- จากมีพยาธิจากระบบทางเดินอาหาร เช่น พยาธิไส้เดือนไชเข้าไปอยู่ในระบบทางเดินน้ำดี
ข. ท่อน้ำดีอักเสบทุติยภูมิ(Secondary cholangitis): เป็นการอักเสบติดเชื้อของท่อน้ำดีที่ทราบสาเหตุ และไม่มีการตีบแข็งของท่อน้ำดี เป็นการอักเสบติดเชื้อที่มักเกิดอย่างเฉียบบพลัน ชื่ออื่นๆของกลุ่มนี้คือ ‘Ascending cholangitis ย่อว่า AC หรือAcute cholangitis หรือ Suppurative cholangitis(กรณีมีการอักเสบจนเกิดหนอง) หรือ Simply cholangitis’
สาเหตุของการอักเสบของท่อน้ำดีในกลุ่มนี้คือ เกิดการอุดตันของระบบทางเดินน้ำดี ซึ่งมักมีสาเหตุจาก
- นิ่วในท่อน้ำดี และนิ่วถุงน้ำดีซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด
- สาเหตุอื่นที่พบได้น้อย เช่น
- จากมะเร็งท่อน้ำดี
- จากมีพยาธิระบบทางเดินอาหาร(เช่น พยาธิไส้เดือน)ไชผ่านขึ้นมาอุดตันท่อน้ำดี
- ตับอ่อนอักเสบ
- ผลข้างเคียงจากผ่าตัดถุงน้ำดี
- การเกิดอุบัติเหตุบริเวณท่อนำดี
ค. ท่อน้ำดีอักเสบจะระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ(Immune cholangitis): เกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันฯผิดปกติต่อระบบทางเดินน้ำดี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม โรคออโตอิมมูน ส่งผลเกิดเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดเป็นเซลล์การอักเสบที่เรียกว่า Lymphocyte จำนวนมากมายเข้ามาจับในผนังท่อน้ำดี จนส่งผลให้ท่อน้ำดีบวม อุดตัน จนเกิดเป็นการอักเสบติดเชื้อฯขึ้น โรคกลุ่มนี้พบทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักพบในผู้สูงอายุ
ท่อน้ำดีอักเสบมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
ปัจจัยเสี่ยงเกิดท่อน้ำดีอักเสบ ได้แก่
- มีประวัติ หรือ เป็นโรคนิ่วถุงน้ำดี
- มีประวัติระบบทางเดินน้ำดีเคยได้รับบาดเจ็บ เช่น การทำหัตการทาการแพทย์ที่ระบบทางเดินน้ำดี เช่น การส่องกล้อง หรือการใช้สายสวนตรวจท่อน้ำดี หรือเคยได้รับอุบัติเหตุรุนแรงที่ตับและระบบทางเดินน้ำดี
- มีโรคของระบบทางเดินน้ำดีตีบตันตั้งแต่เกิด
- มีโรคออโตอิมมูน หรือ โรคที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น โรคเอดส์
- มีประวัติมีพยาธิในระบบทางเดินอาหาร หรือเคยเดินทางท่องเที่ยวหรืออยู่อาศัยในถิ่นที่มีพยาธิระบบทางเดินอาหาร เช่น พยาธิไส้เดือน
ท่อน้ำดีอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการสำคัญที่ช่วยแพทย์ให้คิดถึงโรคท่อน้ำดีอักเสบ คือ 3 อาการหลักร่วมกัน ที่อาการค่อนข้างรุนแรงถึงรุนแรงมาก เรียกว่า “Charcot’s triad” ได้แก่
- มีไข้ ร่วมกับ
- ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณด้านขวาตอนบน(ตำแหน่งของถุงน้ำดี) ซึ่งอาการปวดมักปวดต่อเนื่อง โดยปวดเป็นพักๆ และอาจปวดร้าวไปด้านหลังคล้ายปวดหลัง ร่วมกับ
- ตาเหลือง ตัวเหลือง
อนึ่ง ในกรณี ท่อน้ำดีอักเสบรุนแรง จะประกอบด้วยอาการหลัก 5 อาการร่วมกัน เรียกว่า ‘Reynolds’ pentad’ คือ อาการของ Charcot’s triad (3อาการดังกล่าวในต้นหัวข้อนี้) ร่วมกับอีก 2 อาการคือ
- อาการ สับสน และ
- อาการช็อก
นอกจากนี้ อาการอื่นที่อาจพบได้ เช่น
- หนาวสั่น
- ปัสสาวะสีเหลืองเข็มมาก
- อุจจาระสีซีด
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อ่อนเพลียมาก
- ถ้าอาการมากขึ้นจะมี
- ความดันโลหิตต่ำ
- ซึม
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯ ควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอดูแลตนเอง เพราะโรคจะรุนแรงและพัฒนารวดเร็ว ซึ่ง อัตราเสียชีวิตขึ้นกับการมาโรงพยาบาลเร็วหรือช้า
แพทย์วินิจฉัยท่อน้ำดีอักเสบได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยท่อน้ำดีอักเสบได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ซึ่งที่สำคัญคือ อาการหลักทั้ง 3 อาการดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ร่วมกับ
- การตรวจร่างกาย การตรวจคลำช่องท้อง การตรวจวัดสัญญาณชีพ
- การตรวจเลือด เพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย เช่น
- การตรวจเลือดซีบีซี/CBC ดูภาวะติดเชื้อ
- การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับโดยเฉพาะค่า บิลิรูบิน
- การตรวจเพาะเชื้อจากเลือด
- การตรวจภาพตับและระบบทางเดินน้ำดีด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
- การตรวจภาพโดยการฉีดสีเข้าระบบทางเดินน้ำดี/ท่อน้ำดีด้วยเทคนิคเฉพาะต่างๆ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- เอกซเรย์ฉีดสีเข้าท่อน้ำดี/ระบบทางเดินน้ำดีโดยสอดเข้าผ่านผิวหนัง ที่เรียกว่า Percutaneous transhepatic cholangiography ย่อว่า PTC
- การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินน้ำดีผ่านเข้ารูเปิดของท่อน้ำดีที่เข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนต้นที่เรียกว่า Endoscopic retrograde cholangiopancreatography ย่อว่า ERCP ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยรักษาไปพร้อมกัน เช่น การกำจัดนิ่วในท่อน้ำดี และ/หรือ การขยายท่อน้ำดี
- Endoscopic ultrasound ย่อว่า EUS คือการส่องกล้องร่วมกับการใช้อัลตราซาวด์ ซึ่งสามารถตรวจภาพระบบทางเดินน้ำดี ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาท่อน้ำดีอักเสบอย่างไร?
การรักษาท่อน้ำดีอักเสบ ซึ่งในระยะแรกจะเป็นการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยแนวทางการรักษา ได้แก่
ก. การให้ยาปฏิชีวนะ: มักเป็นการให้ยาฯทางหลอดเลือดดำ ซึ่งชนิดยาปฏิชีวนะจะเป็นยาในกลุ่มที่ครอบคลุมการติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิดพร้อมกันที่เรียกว่า Broad-spectrum antibiotics นำไปก่อน หลังจากนั้นเมื่อผลการตรวจระบุชนิดเชื้อแบคทีเรียสาเหตุได้แล้ว แพทย์จึงพิจารณาปรับเปลี่ยนชนิดยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ข. การรักษาแก้ไขการอุดตันของท่อน้ำดี: ซึ่งจะเลือกใช้วิธีการใดจะขึ้นกับ สภาพร่างกายผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การส่องกล้องตรวจ/รักษาระบบทางเดินน้ำดีด้วยเทคนิค ERCP ซึ่งอาจมีการใส่ท่อขยายทางเดินน้ำดี
- การระบายน้ำดีที่คั่งอยู่ออกจากท่อน้ำดีผ่านทางหน้าท้อง
- การสลายนิ่วท่อน้ำดีด้วยคลื่นเสียง Acoustic shock waves
- การผ่าตัดถุงน้ำดี/ท่อน้ำดีที่มีนิ่ว/มีการอักเสบ ซึ่งจะใช้ในกรณีที่การรักษาล้มเหลวจากการให้ยาปฏิชีวนะและจากการรักษาด้วย ERCP
ค. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น
- การให้สารน้ำ สารอาหารทางหลอดเลือดดำ กรณีผู้ป่วยทางอาหาร ดื่มน้ำได้น้อย
- การให้ยาลดไข้
- การให้ยาแก้ปวด
- การให้ยาแก้คัน กรณีมีอาการคันเหตุจากภาวะตาเหลือง ตัวเหลือง
- การให้ออกซิเจนเมื่อมีปัญหาทางการหายใจ
ท่อน้ำดีอักเสบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากท่อน้ำดีอักเสบที่พบบ่อย คือ
- ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต /ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ
- เกิดตับหรือท่อน้ำดีเป็นหนอง ฝีตับ
- ไตวายเฉียบพลัน
- เมื่อรักษาหายแล้ว ตับอาจพัฒนาไปเป็น โรคตับแข็ง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยท่อน้ำดีอักเสบตีบแข็ง
- เกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำหลังรักษาหายแล้ว
- และในโรคกลุ่มท่อน้ำดีอักเสบตีบแข็งเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งท่อน้ำดีได้
ท่อน้ำดีอักเสบรุนแรงไหม?อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต?
ท่อน้ำดีอักเสบ เป็นโรคที่มีความรุนแรงค่อนข้างสูง/ การพยากรณ์โรคไม่ดี อัตราเสียชีวิตค่อนข้างสูง ถึงแม้ผู้ป่วยจะพบแพทย์ได้รวดเร็ว/เริ่มการรักษาได้รวดเร็ว อัตราเสียชีวิตก็จะประมาณ 5-10% ส่วนผู้ป่วยที่พบแพทย์ล่าช้าหรือไม่มาพบแพทย์ อัตราเสียชีวิตประมาณ 80-90%
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่ออัตราเสียชีวิตค่อนข้างสูงได้แก่
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงตั้งแต่แรก
- ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลล่าช้า
- ผู้ป่วยที่ต้องทำหัตถการ/ผ่าตัดอย่างฉุกเฉินเพื่อระบายน้ำดีที่คั่ง หรือหนอง ออกจากท่อน้ำดีที่อุดตัน
- มีปัญหาทางการทำงานของไต โดยเฉพาะภาวะเกิดไตวายเฉียบพลัน
- มีโรคประจำตัวเป็น โรคตับแข็ง
- ผู้ป่วยที่สาเหตุการอุดตันท่อน้ำดีเกิดจากมะเร็ง
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ป่วยที่เป็นหญิง
ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองในผู้ป่วยท่อน้ำดีอักเสบหลังการรักษา และแพทย์แนะนำให้กลับมาดูแลตนเองต่อที่บ้าน ที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- พักผ่อนให้เต็มที่
- กินอาหาร ออกกำลังกาย ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
- รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ และเพื่อให้สุขภาพกาย และสุขภาพจิตแข็งแรง
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการที่มีอยู่แล้วเลวลง หรือ กลับมาเป็นใหม่อีก เช่น กลับมามีไข้อีก ตัวเหลือง ตาเหลืองเพิ่มขึ้น ท่อระบายหนองหรือน้ำดีหลุด
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้น ผื่น คลื่นไส้มาก วิงเวียนศีรษะมาก ท้องเสียเรื้อรัง
- กังวลในอาการ
ป้องกันท่อน้ำดีอักเสบได้อย่างไร?
การป้องกันท่อน้ำดีอักเสบ คือ การป้องกันสาเหตุที่ป้องกันได้(ดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ’) ที่สำคัญคือ การป้องกันการเกิดนิ่วถุงน้ำดี (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่รวมถึงการป้องกันได้จาก เว็บ haamor.com บทความเรื่อง นิ่วถุงน้ำดี)
บรรณานุกรม
- Alizadeh, A H M. J Clin Transl Hepatol 2017; 5(4): 404-413
- https://emedicine.medscape.com/article/184043-overview#showall [2019,April6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ascending_cholangitis [2019,April6]
- https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=85&ContentID=P00660[2019,April6]
- http://ddc.musc.edu/public/diseases/pancreas-biliary-system/cholangitis.html [2019,April6]
- https://www.merckmanuals.com/professional/hepatic-and-biliary-disorders/gallbladder-and-bile-duct-disorders/sclerosing-cholangitis[2019,April6]