ทีแกเซอรอด (Tegaserod)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ทีแกเซอรอดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ทีแกเซอรอดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทีแกเซอรอดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทีแกเซอรอดมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ทีแกเซอรอดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทีแกเซอรอดอย่างไร?
- ทีแกเซอรอดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทีแกเซอรอดอย่างไร?
- ทีแกเซอรอดมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Selective serotonin receptor agonists)
- ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
- ท้องผูก (Constipation)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimen tary system)
บทนำ
ยาทีแกเซอรอด (Tegaserod หรือ Tegaserod maleate) เป็นยาในกลุ่ม Selective serotonin receptor agonists ใช้บรรเทาอาการโรคลำไส้แปรปรวนหรือที่เรียกกันว่า โรคไอบีเอส (IBS/ Irritable Bowel Syndrome) และอาการท้องผูกเรื้อรัง มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ซึ่งสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร เข้าสู่กระแสเลือดได้เพียงประมาณ 10% ยาทีแกเซอรอดในกระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 98% โดยการทำลายโครงสร้างทางเคมีของยานี้จะเกิดที่กระเพาะอาหารและในตับของผู้ป่วย จากกระบวนการดังกล่าว ทำให้ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 11 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
แพทย์จะไม่ใช้ยาทีแกเซอรอดกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ รวมถึงกับผู้ป่วยโรคตับที่มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป ผู้ป่วยที่การทำงานของไตผิดปกติอย่างรุนแรง ผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินอาหารตีบตัน/ลำไส้อุดตัน ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องเสีย ก็อยู่ในกลุ่มห้ามใช้ยานี้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่ม ที่แพทย์ต้องใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะใช้ยาทีแกเซอรอด เช่น สตรีในภาวะให้นมบุตร สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่ร่างกายอยู่ในสภาพเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำเป็นปริมาณมาก เป็นต้น
เพื่อเพิ่มการออกฤทธิ์ของยาทีแกเซอรอด ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้ก่อนอาหาร การรับประทานยานี้หลังอาหารหรือพร้อมอาหาร อาจทำให้การดูดซึมของยานี้ลดลง และประสิทธิผลของการรักษาด้วยยานี้จะเกิดสูงสุดเมื่อผู้ป่วยต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 8–12 สัปดาห์ โดยแพทย์จะสังเกตการตอบสนองของร่างกายเพื่อใช้กำหนดระยะเวลาของการใช้ยานี้
ระหว่างที่ได้รับยาทีแกเซอรอด หากพบอาการเลือดออกจากทวารหนัก ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด มีอาการปวดท้อง เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุจากอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาทีแกเซอรอด ผู้ป่วยจะต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงจากยาทีแกเซอรอด และเป็นเหตุผลให้บางประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เลิกใช้ยาชนิดนี้ คือ ยาทีแกเซอรอดสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือทำให้เกิดหลอดเลือดในสมองอุดตัน/โรคหลอดเลือดสมอง
มีงานวิจัยเรื่องการได้รับยาทีแกเซอรอดเกินขนาด โดยให้อาสาสมัครรับประทานยาทีแกเซอรอดขนาด 116 มิลลิกรัมในครั้งเดียว พบว่าร่างกายมีการตอบสนองในลักษณะ ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดท้องในระดับปานกลาง และเกิดความดันโลหิตต่ำ หากเกิดอาการเหล่านี้กับผู้ป่วยที่ได้รับยาทีแกเซอรอด ให้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ผู้ป่วยอาจได้รับยานี้เกินขนาดและ ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที
ด้วยข้อห้ามและอาการข้างเคียงของยาทีแกเซอรอด ผู้บริโภคไม่ควรไปซื้อหายานี้มารับประทานเอง ควรต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อประเมินความเหมาะสมในการใช้ยานี้เสียก่อน
หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยการใช้ยาทีแกเซอรอดเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้ได้จากแพทย์หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป
ทีแกเซอรอดมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาทีแกเซอรอดมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง
- รักษาอาการลำไส้แปรปรวนที่มีภาวะท้องผูกเป็นอาการเด่น
ทีแกเซอรอดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาทีแกเซอรอด มีกลไกการออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptor)ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมีชื่อ เรียกว่า 5-HT4 receptor(5-Hydroxytryptamine 4 receptor) ส่งผลให้ผนังลำไส้มีการบีบตัวไล่กากอาหารออกมาเป็นอุจจาระได้ตามปกติ
ทีแกเซอรอดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทีแกเซอรอดมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Tegaserod maleate ขนาด 6 มิลลิกรัม/เม็ด
ทีแกเซอรอดมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาทีแกเซอรอดมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 6 มิลลิกรัม ก่อนอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 4–6 สัปดาห์ และแพทย์อาจต้องให้ใช้ยาต่อเนื่องอีก 4–6 สัปดาห์ ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาตามการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้เป็นสำคัญ
- ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี: ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
อนึ่ง: ระหว่างใช้ยานี้ หากพบอาการเลือดออกทางทวารหนัก ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทีแกเซอรอด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทีแกเซอรอดอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทีแกเซอรอด สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ กรณีที่เวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานยาเป็น 2 เท่าให้รับประทานยาในขนาดปกติ
อนึ่ง การใช้ยาทีแกเซอรอดในการรักษาภาวะ ท้องผูก และลำไส้แปรปรวน จำเป็นต้องใช้ยานี้เป็นเวลาหลายสัปดาห์และต่อเนื่อง จึงจะทำให้ร่างกายปรับสภาพการขับถ่ายอุจจาระกลับมาเป็นปกติ ดังนั้นจึงควรรับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตรงเวลา ตามคำสั่งแพทย์ ไม่ควรลืมรับประทานยานี้บ่อยๆ
ทีแกเซอรอดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทีแกเซอรอดสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อไต: เช่น ปวดบริเวณไต/ปวดหลัง มีอัลบูมิน(Albumin)ปนมากับปัสสาวะ/มีโปรตีนในปัสสาวะ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารหรือไม่ก็กินจุ กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดกรดไหลย้อน เกิดริดสีดวงทวาร เกิดการระคายเคืองที่ลำไส้ เกิดนิ่วในท่อน้ำดี เลือดออกบริเวณทวารหนัก อุจจาระเป็นเลือด
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ไมเกรน นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หน้าแดง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจล้มเหลว
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ปริมาตรของเลือดลดลงด้วยมีภาวะท้องเสีย
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ตับอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผมร่วง เหงื่อออกมาก
- ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง ข้ออักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น อยากทำร้ายตัวเอง สูญเสียการครองสติ นอนไม่หลับ มีอาการซึม
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดหอบหืด
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมาก ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- อื่นๆ: ประจำเดือนผิดปกติ และอาจก่อให้เกิด มะเร็งเต้านม
มีข้อควรระวังการใช้ทีแกเซอรอดอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทีแกเซอรอด เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ในระยะรุนแรง ผู้ที่มีสภาพทางเดินอาหารอุดตัน/ลำไส้อุดตัน ผู้ที่อยู่ในภาวะท้องเสีย ผู้ที่มีปัญหาของท่อน้ำดี ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
- ใช้ยานี้ต่อเนื่องและตรงตามคำสั่งแพทย์
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ อาจต้องรับการตรวจหัวใจร่วมด้วยตามแพทย์สั่ง
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทีแกเซอรอดด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ทีแกเซอรอดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทีแกเซอรอดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามรับประทานยาทีแกเซอรอด ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และเกิดอาการวิงเวียน ตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทีแกเซอรอดร่วมกับยา Amiodarone, Atomoxetine, Betaxolol , Bupropion , Celecoxib , Chloroquine, เพราะยาเหล่านี้จะทำให้ ร่างกายทำลายยาทีแกเซอรอดได้ลดน้อยลงจนอาจส่งผลให้ได้รับอาการข้างเคียง ของยาทีแกเซอรอดมากยิ่งขึ้น
- การใช้ยาทีแกเซอรอดร่วมกับยา Amodiaquine อาจทำให้ระดับยา Amodiaquine ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงจากยา Amodiaquine ตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทีแกเซอรอดร่วมกับยา Fesoterodine เพราะอาจทำให้ยาFesoterodine มีปริมาณในร่างกายมากขึ้นจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาทีแกเซอรอดอย่างไร?
ควรเก็บยาทีแกเซอรอดภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ทีแกเซอรอดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทีแกเซอรอด มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ZELMAC (เซลแม็ก) | Novartis |
Zelnorm (เซลนอร์ม) | Novartis |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Tagon, Tegibs, Tegaspa
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2002/21200lbl.pdf[2017,May6]
- http://vardgivarwebb.regionostergotland.se/pages/233476/Zelmac%202004.pdf[2017,May6]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/tegaserod/?type=brief&mtype=generic[2017,May6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tegaserod[2017,May6]
- https://www.drugs.com/sfx/tegaserod-side-effects.html[2017,May6]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB01079[2017,May6]